xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: อิสราเอลลุยถล่ม ‘ภาคใต้’ กาซา เตรียมปล่อยน้ำท่วมอุโมงค์ไล่ต้อน ‘ฮามาส’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มควันจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา ภาพถ่ายจากบริเวณพรมแดนตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.
กองทัพอิสราเอลขยายปฏิบัติการทำลายล้างกลุ่มฮามาสลงสู่ตอนใต้ของฉนวนกาซาในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางเสียงเตือนจากสหรัฐฯ ที่ย้ำให้อิสราเอลต้องมีมาตรการลดความสูญเสียต่อพลเรือน ในขณะที่สื่ออเมริกันออกมาเผยแผนของกองทัพยิวที่เตรียมปล่อยน้ำทะเลเข้าท่วมเครือข่ายอุโมงค์ของพวกนักรบฮามาส

อิสราเอลประกาศสงครามเต็มขั้นกับฮามาส หลังกลุ่มติดอาวุธซึ่งปกครองฉนวนกาซาได้บุกเข้าโจมตีเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และสังหารผู้คนไปถึง 1,200 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน อีกทั้งยังจับชาวอิสราเอลและต่างชาติไปเป็นตัวประกันอีกราวๆ 240 คน

ข้อตกลงพักรบที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ได้นำมาสู่การปลดปล่อยตัวประกันผู้หญิงและเด็กอิสราเอลเพื่อแลกเปลี่ยนกับนักโทษปาเลสไตน์หลายร้อยคน ทว่าสุดท้ายอิสราเอลและฮามาสก็กลับมาเปิดฉากสู้รบกันอีกในวันที่ 1 ธ.ค. เนื่องจากไม่สามารถตกลงเงื่อนไขเพื่อขยายเวลาหยุดยิงต่อไปได้

ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลเบนเข็มมาสู่เมืองหลักทางตอนใต้ของกาซาในวันพุธ (6) หลังจากที่ได้ทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่ตอนเหนือจนเมืองต่างๆ พังราบเหลือเพียงซากปรักหักพังตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กองกำลังรถถังและยานเกราะของอิสราเอลได้บุกทะลวงเข้าสู่เมืองข่านยูนิส (Khan Younis) เมืองใหญ่อันดับ 2 ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ซึ่งทำให้พลเรือนปาเลสไตน์ที่หนีภัยสงครามมาจากตอนเหนือต้องอพยพกันอีกครั้ง

กองทัพอิสราเอลระบุในการแถลงข่าวเมื่อเช้าวันพุธ (6) ว่าได้โจมตีเป้าหมายในกาซาไปถึง 250 จุดในรอบ 24 ชั่วโมง และทหารยังคงเดินหน้า “ค้นหาคลังอาวุธ อุโมงค์ใต้ดิน ระเบิด และโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของฮามาสอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม จำนวนพลเรือนปาเลสไตน์ที่บาดเจ็บล้มตายไปหลายหมื่นคนจากปฏิบัติการล้างแค้นของอิสราเอลก็ทำให้นานาชาติออกมาส่งเสียงเตือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออิสราเอลยังคงใช้มาตรการปิดล้อมจนชาวกาซาขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำดื่ม เชื้อเพลิง และยารักษาโรค

สำนักงานสื่อมวลชนของฮามาสอัปเดตตัวเลขผู้เสียชีวิตในฝั่งกาซาเพิ่มเป็นอย่างน้อย 16,248 คนในวันพุธ (6) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

สภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์ (Norwegian Refugee Council) ซึ่งเป็นองค์กรบรรเทาทุกข์ ระบุว่าสงครามกาซาครั้งนี้ “ถือเป็นหนึ่งในการโจมตีต่อพลเรือนที่เลวร้ายที่สุดในยุคสมัยของเรา” พร้อมเตือนว่าวิกฤตสาธารณสุขในกาซาอาจร้ายแรงยิ่งขึ้นเมื่อฤดูหนาวมาถึง

ก่อนหน้านี้ กองทัพอิสราเอลมีคำสั่งให้ชาวปาเลสไตน์ทางตอนเหนือของกาซาอพยพลงใต้ ซึ่งทำให้พลเรือนจำนวนมากตัดสินใจหนีลงมาที่เมืองข่านยูนิส เพราะเชื่อว่าที่นี่จะปลอดภัยกว่า

ทว่าเมื่อสงครามขยายวงกว้างออกไป อิสราเอลก็ยิ่งบีบคั้นให้พลเรือนเหล่านี้อพยพลงใต้ไกลออกไปอีก

ฟิลิปป์ ลาซซารินี หัวหน้าสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ชี้ว่า ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ให้ไปแออัดกันอยู่ในพื้นที่ไม่ถึง 1 ใน 3 ของกาซา ซึ่งการกระทำของอิสราเอลทำให้คนเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ “ท่ามกลางความหวาดผวาและความกลัว”

องค์กรบรรเทาทุกข์นานาชาติออกมาประณามคำสั่งอพยพผู้คนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งอย่างไม่รู้จบ โดยชี้ว่าพลเรือนกาซา “แทบไม่เหลือที่ไปแล้ว”

“ไม่มีสถานที่ปลอดภัยเหลืออยู่ในกาซา” มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการฝ่ายกิจการมนุษยธรรม และผู้ประสานงานด้านการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินขององค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าว “โรงพยาบาล ศูนย์พักพิง ค่ายผู้ลี้ภัย ล้วนแต่ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น”

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล
หลังมีกระแสเรียกร้องให้เปิดพื้นที่เซฟโซนสำหรับพลเรือนในกาซา กองทัพอิสราเอลก็ได้เผยแพร่แผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งอ้างว่าจะช่วยให้พลเรือนกาซา “สามารถอพยพออกจากสถานที่ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อไปยังจุดปลอดภัยได้ หากมีความจำเป็น”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยูเอ็นวิจารณ์แผนที่ดังกล่าวว่าใช้ไม่ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ

“สิ่งที่ถูกเรียกว่าเซฟโซนไม่ได้เป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่สมเหตุสมผล และเป็นไปไม่ได้ด้วย ผมเชื่อว่าทางการอิสราเอลก็ทราบดี” เจมส์ เอลเดอร์ โฆษกกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุ

ปัจจุบันมีพลเรือนปาเลสไตน์ที่พลัดถิ่นฐานในกาซามากถึง 1.9 ล้านคน หรือราวๆ 80% ของประชากรทั้งหมด ตามสถิติของยูเอ็น

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) ออกมาตีแผ่ข้อมูลเมื่อวันจันทร์ (4) ว่า กองทัพอิสราเอลเตรียมติดตั้งระบบปั๊มน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะใช้สูบน้ำทะเลเข้าท่วมเครือข่ายอุโมงค์ของพวกฮามาสในฉนวนกาซา เพื่อบีบให้พวกนักรบที่ยังซ่อนตัวอยู่ต้องหนีออกมา

รายงานของ WSJ อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า กองทัพอิสราเอลได้ติดตั้งปั๊มน้ำอย่างน้อย 5 ตัวห่างจากค่ายผู้ลี้ภัย อัล-ชาตี (Al-Shati) ไปทางเหนือประมาณ 1 ไมล์ ซึ่งปั๊มเหล่านี้มีกำลังสูบน้ำได้หลายพันลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และจะทำให้เครือข่ายอุโมงค์ของฮามาสถูกน้ำท่วมภายในไม่กี่สัปดาห์

ล่าสุดยังไม่มีคำยืนยันว่า รัฐบาลอิสราเอลจะตัดสินใจใช้งานปั๊มเหล่านี้ ก่อนที่ตัวประกันทั้งหมดจะถูกปล่อยออกมาหรือไม่

ฮามาสเคยประกาศว่าได้นำตัวประกันไปคุมขังไว้ตาม “สถานที่ที่ปลอดภัย และอุโมงค์หลายแห่ง” ซึ่งเวลานี้คาดว่ายังคงมีตัวประกันติดอยู่ในฉนวนกาซาอีก 138 คน

อิสราเอลได้แจ้งแผนการนี้ให้สหรัฐฯ รับทราบตั้งแต่เดือน พ.ย. แต่พวกเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่านายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู จะตัดสินใจลงมือเมื่อไหร่ และขณะนี้รัฐบาลเทลอาวีฟก็ยังไม่ได้ตกลงปลงใจว่าจะใช้วิธีนี้หรือว่าตัดมันออกไป

ผลพวงจากสงครามในกาซายังทำให้เหตุกระทบกระทั่งระหว่างชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ทวีความรุนแรงขึ้น

สำนักข่าว Wafa ซึ่งเป็นสื่อปาเลสไตน์รายงานว่า กองทัพอิสราเอลได้บุกตรวจค้นค่ายผู้ลี้ภัยฟารา (Faraa) ทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์ในเช้าวันพุธ (6) จนนำไปสู่เหตุปะทะที่มีผู้เสียชีวิต 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุเพียง 16 ปี

แม้สหรัฐฯ จะสงวนท่าทีไม่วิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา แต่ก็เริ่มออกมาส่งเสียงเตือนเรื่องพฤติกรรมรุนแรงของพวกผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเวสต์แบงก์ รวมถึงตำหนิรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหานี้

ชาวปาเลสไตน์ที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลอาศัยอยู่รวมกันที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองราฟาห์
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้มาตรการ “แบนวีซ่า” ห้ามผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวที่มีส่วนพัวพันกับการโจมตีพลเรือนปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์เดินทางเข้าอเมริกา

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า มาตรการนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคาร (5) หลังจากที่สหรัฐฯ ได้เตือนอิสราเอลไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะกำหนดบทลงโทษต่อการโจมตีชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คำสั่งแบนนี้จะครอบคลุมผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว “หลายสิบคน” และครอบครัวของพวกเขา และสหรัฐฯ อาจขยายบทลงโทษออกไปอีกหากชาวยิวเหล่านี้ยังไม่หยุดใช้ความรุนแรง

เดือนที่แล้วสหรัฐฯ เพิ่งจะรับอิสราเอลเข้าร่วมโปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่า (US Visa Waiver Program) ซึ่งจะเปิดทางให้พลเมืองอิสราเอลสามารถเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ทว่ากลุ่มบุคคลที่ติดโทษแบนตามคำสั่งล่าสุดจะหมดสิทธิ์เข้าโครงการนี้ และหากเป็นผู้ที่ถือวีซ่าสหรัฐฯ อยู่ก็จะถูกเพิกถอนทันที

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุเมื่อวันจันทร์ (4) ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. มีชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ถูกผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวสังหารไปแล้วอย่างน้อย 8 คน และ OCHA ยังได้รับแจ้งว่ามีเหตุโจมตีที่กระทำโดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว ซึ่งส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บล้มตาย สูญเสียทรัพย์สิน หรือทั้ง 2 อย่าง เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 314 กรณี

OCHA พบว่า เหตุโจมตีราว 1 ใน 3 มีการใช้อาวุธปืนข่มขู่หรือการยิงร่วมด้วย และเกือบครึ่งของการโจมตีโดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวมักได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอิสราเอล

บลิงเคน ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะมีบทลงโทษต่อผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวที่ใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ รวมถึงติดตามเอาผิดในกรณีที่ชาวปาเลสไตน์เป็นฝ่ายโจมตีคนยิว ทั้งในเวสต์แบงก์และในอิสราเอล

ภาพถ่ายบรรดาตัวประกันที่ยังติดอยู่ในฉนวนกาซา หลังถูกพวกมือปืนฮามาสลักพาตัวเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ก็ได้เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันประณาม "ความรุนแรงทางเพศอันน่าสยดสยอง" จากฝีมือของพวกฮามาส หลังมีนักเคลื่อนไหวและสำนักข่าวBBC ของอังกฤษออกมาแฉว่านักรบกลุ่มนี้กระทำพฤติกรรมชั่วช้ากับเหยื่อผู้หญิง ระหว่างที่บุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

ไบเดน อ้างถึงรายงานที่ระบุว่า พวกฮามาส “ใช้วิธีข่มขืนเพื่อสร้างความกลัวต่อพวกผู้หญิงและเด็กสาว”

"ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้รอดชีวิตและผู้ที่เห็นเหตุการณ์ต่างออกมาแชร์เรื่องราวความโหดร้ายป่าเถื่อนที่ไม่อาจจินตนาการได้ ในนั้นรวมถึงการข่มขืน ตัดอวัยวะ และดูหมิ่นศพ" ผู้นำสหรัฐฯ ระบุ

"ผู้ก่อการร้ายฮามาสพยายามสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานให้แก่ผู้หญิงและเด็กมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากนั้นก็ฆาตกรรมพวกเขา มันเป็นเรื่องที่น่าสยดสยอง"

โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาแสดงความกังวลในวันพุธ (6) เกี่ยวกับข้อครหาที่ว่าพวกนักรบฮามาสก่อความรุนแรงทางเพศ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลเปิดทางให้ยูเอ็นส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบหาความจริงเรื่องนี้

“นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง และจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลอย่างถูกต้อง” เติร์ก ระบุในงานแถลงข่าว พร้อมย้ำว่า “เหยื่อทุกรายจะต้องได้รับความเป็นธรรม”

องค์การสหประชาชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีมาตรการตอบสนองเท่าที่ควรต่อข้อครหาเรื่องการข่มขืนและการกระทำความรุนแรงทางเพศโดยพวกนักรบฮามาส ทั้งๆ ที่ปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายและคลิปวิดีโอซึ่งถูกแชร์หรือไลฟ์สดในระหว่างที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล
กำลังโหลดความคิดเห็น