xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘อิสราเอล-ฮามาส’ แลกตัวประกัน-นักโทษภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง UN หนุนใช้ ‘แนวทาง 2 รัฐ’ ยุติความขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อิสราเอลและฮามาสบรรลุข้อตกลงในนาทีสุดท้ายขยายเวลาหยุดยิงต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ในวันพฤหัสบดี (30 พ.ย.) ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเจรจาต่อรองเงื่อนไขหยุดยิงเฟสใหม่ที่จะทำให้ฮามาสยอมปลดปล่อยตัวประกันชายอิสราเอลบางส่วน นอกเหนือไปจากกลุ่มผู้หญิงและเด็กที่ได้รับอิสรภาพไปแล้วก่อนหน้านี้

จากข้อมูลในวันพุธ (29) ฮามาสได้ปล่อยตัวประกันผู้หญิงและเด็กอิสราเอลแล้วรวมทั้งสิ้น 60 คน ซึ่งหลายคนเป็นพลเมืองสองสัญชาติ ขณะที่รัฐบาลยิวก็ยอมปล่อยตัวนักโทษหญิงและวัยรุ่นชายปาเลสไตน์ออกจากเรือนจำ 180 คน หรือในสัดส่วน 1 ต่อ 3

นอกจากนี้ ฮามาสยังได้ปล่อยตัวประกันต่างชาติอีกกว่า 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทย โดยเป็นการปล่อยตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขข้อตกลงหยุดยิง และไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอล

ข้อตกลงพักรบเบื้องต้นที่มีกาตาร์ อียิปต์ และสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกำหนดให้ทั้ง 2 ฝ่ายยุติการสู้รบ 4 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พ.ย. จนถึงวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. และต่อมาได้มีการขยายเวลาหยุดยิงเพิ่มมาอีก 2 วัน

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนอิสราเอลอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (30) เพื่อร่วมผลักดันให้ข้อตกลงหยุดยิงถูกต่ออายุออกไปอีก และในช่วงไม่กี่นาทีสุดท้ายก่อนที่ข้อตกลงหยุดยิงจะสิ้นสุดลง กองทัพอิสราเอลได้ประกาศขยายเวลาหยุดยิงออกไป “เพื่อให้คณะผู้เจรจาได้มีเวลาทำงานต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือตัวประกันในกาซา”

ด้านกลุ่มฮามาสก็ออกมาแถลงพร้อมกันว่า ทางกลุ่มยินยอมที่จะพักรบกับอิสราเอลต่อเนื่องเป็นวันที่ 7

เจ้าหน้าที่อิสราเอลซึ่งมีส่วนในกระบวนการเจรจาเผยเมื่อวันพุธ (29) ว่า ทางการอิสราเอลเชื่อว่าฮามาสยังมีตัวประกันผู้หญิงและเด็กอยู่ในมือมากพอที่จะขยายเวลาหยุดยิงต่อไปได้อีก 2-3 วัน

“เราได้ข้อมูลมาว่า ฮามาสยังมีตัวประกันอยู่ในมือเพียงพอสำหรับการหยุดยิงไปอีกอย่างน้อย 2 วัน หรืออาจจะ 3 วันหากดูจากรายชื่อของผู้หญิงและเด็ก” เจ้าหน้าที่ยิวผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว “ข้อตกลงหลังจากนี้จะตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการปล่อยผู้หญิงและเด็กทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยมาเจรจาเรื่องอื่นๆ กันต่อไป”

ฮามาสได้จับชาวอิสราเอลและต่างชาติไปเป็นตัวประกันราว 240 คนระหว่างที่บุกโจมตีภาคใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

จากการคำนวณโดยสำนักข่าวเอเอฟพีคาดว่าฮามาสน่าจะยังมีตัวประกันอยู่ในมืออีกราว 130 คน โดยเป็นผู้หญิงและเด็กไม่ต่ำกว่า 36 คน

กระนั้นก็ตาม ชะตากรรมของตัวประกันเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด และบางคนอาจเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ในวันที่ 7 ต.ค. หรือในช่วงเวลาหลังจากนั้น

กลุ่มฮามาสอ้างว่า ปฏิบัติการทิ้งระเบิดถล่มฉนวนกาซาของกองทัพอิสราเอลตลอด 7 สัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้มีตัวประกันเสียชีวิตไปถึง 60 คน ซึ่งการส่งคืนร่างของผู้เสียชีวิตเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นเจรจาด้วย

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งข้อตกลงหยุดยิงถูกขยายเวลาออกไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้ฮามาสมีเวลารวบรวมกำลังพลและสรรพอาวุธกลับมาต่อสู้กับอิสราเอลมากขึ้นเท่านั้น

“ข้อตกลงหยุดยิงแม้จะเป็นไปเพื่อสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ก็ให้ผลในเชิงยุทธวิธีด้วย” โฆษกกลุ่ม Islamic Jihad ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่จับคนไปเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เช่นเดียวกับฮามาส ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อวันพุธ (29)

นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวยังส่งผลดีต่อฮามาสในแง่ของการโฆษณาชวนเชื่อ และหากพวกเขาสามารถรั้งอำนาจปกครองกาซาต่อไปได้ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ก็จะถือว่าได้ “ชัยชนะ” ในสงครามครั้งนี้

การช่วยปลดปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ออกจากเรือนจำอิสราเอลยังช่วยให้ฮามาสได้คะแนนนิยมจากชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส จากกลุ่มฟาตาห์ (Fatah)


ในส่วนของอิสราเอล นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู เผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากคนในประเทศให้ต้องช่วยเหลือตัวประกันทั้งหมดกลับมาให้ได้ ซึ่งหากอิสราเอลขยายข้อตกลงหยุดยิงออกไปนานเท่าใด ก็จะมีโอกาสพาตัวประกันกลับบ้านได้มากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยิ่งพักรบนานวันเข้า “โมเมนตัม” ในการกลับไปใช้ปฏิบัติการทางทหารบดขยี้ฮามาสก็ดูจะยิ่งอ่อนแรงลง ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากนานาชาติที่รับไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือนปาเลสไตน์ และไม่ต้องการเห็นอิสราเอลกลับไปยิงถล่มกาซาซ้ำอีก

ข้อตกลงหยุดยิงที่ผ่านมาครอบคลุมเฉพาะตัวประกันผู้หญิงและเด็กๆ ซึ่งฮามาสยอมปล่อยตัวเพื่อแลกกับนักโทษหญิงและเด็กหนุ่มปาเลสไตน์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีในเรือนจำอิสราเอล แต่เนื่องจากตัวประกันกลุ่มนี้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าฮามาสอาจยอมปล่อยตัวชายอิสราเอลสูงวัยเป็นกลุ่มถัดไป หรือไม่ก็คืนร่างของพลเมืองอิสราเอลที่เสียชีวิต

กลุ่มตัวประกันที่คาดว่าฮามาสจะยอมปล่อยตัวยากที่สุดก็คือทหารอิสราเอลและชายที่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหาร โดยกฎหมายอิสราเอลนั้นระบุให้พลเมืองชายที่ผ่านการเกณฑ์ทหารถือเป็นกำลังพลสำรอง และอาจถูกเรียกตัวมารับใช้ชาติได้จนถึงอายุ 40 ปี

จากการคำนวณของเอเอฟพีเชื่อว่ามีทหารอิสราเอลอย่างน้อย 11 นาย ประกอบด้วยชาย 7 คน และหญิง 4 คน ถูกจับไปเป็นตัวประกันของฮามาส และยังมีชายฉกรรจ์ที่อยู่ในวัยกำลังพลสำรองอีกราวๆ 40 คน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ฮามาสจะเก็บตัวประกันกลุ่มนี้ไว้แลกเปลี่ยนกับสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด และทำให้ยากจะประเมินได้ว่าการเจรจาจะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน

ข้อตกลงหยุดยิงระยะยาวคาดว่าจะเอื้อให้อิสราเอลสามารถผลักดันแผนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติกับรัฐอาหรับต่างๆ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย แลกกับการที่ต้องทนเผชิญภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ต่อไป แต่หากอิสราเอลและฮามาสกลับมาสู้รบกันต่อก็อาจกระตุ้นให้ผู้เล่นรายอื่นๆ กระโจนเข้าสู่สงครามครั้งนี้ด้วย เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และ “อิหร่าน” ซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อยู่หลายกลุ่ม


องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเรียกร้องในวันพุธ (29 พ.ย.)ให้ประชาคมโลกร่วมกันผลักดันแนวทาง 2 รัฐ (two-state solution) เพื่อให้ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน พร้อมเสนอให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของทั้ง 2 รัฐ

ทาเทียนา วาโลวายา ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานสหประชาชาติประจำนครเจนีวา ได้อ่านถ้อยแถลงจาก อันโตนีโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็นซึ่งกล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนแนวทาง 2 รัฐควบคู่อย่างเด็ดเดี่ยวและไม่อาจเปลี่ยนแปลงย้อนกลับได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของมติสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ”

เธอย้ำว่า นั่นหมายถึงอิสราเอลและปาเลสไตน์จะต้องดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติและปลอดภัย โดยมีนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของทั้ง 2 รัฐ

แนวทาง 2 รัฐควบคู่นั้นหมายถึงการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาให้ดำรงอยู่ควบคู่กันกับอิสราเอล ขณะที่รัฐบาลเทลอาวีฟก็ตั้งเงื่อนไขไว้ว่ารัฐปาเลสไตน์จะต้องปลอดทหาร (demilitarized) และไม่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐยิว

ชาวปาเลสไตน์ต้องการที่จะตั้งเมืองหลวงของตนเองในเยรูซาเลมฝั่งตะวันออก ซึ่งรวมถึงเขตเมืองเก่าที่มีศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิม ยิว และคริสต์ตั้งอยู่ ในขณะอิสราเอลประกาศกร้าวว่านครเยรูซาเลมทั้งหมดคือ “เมืองหลวงตลอดกาลของชาวยิวอันจะแบ่งแยกมิได้”

อิบราฮิม ไครชี ทูตปาเลสไตน์ประจำสำนักงานยูเอ็นที่นครเจนีวา ชี้ว่าสงครามครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนไปยังนานาชาติว่าจะต้องช่วยกันสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐอย่างจริงจังเสียที

“ทางออก 2 รัฐอาจเป็นเรื่องยากหลังจากที่อิสราเอลมีการขยายถิ่นฐานชาวยิวและแย่งชิงพื้นที่ของปาเลสไตน์ไปมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังพอเป็นไปได้ หากทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริง” เขากล่าว

“นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด และเป็นการดีสำหรับอิสราเอลด้วย แต่หากพวกเขาไม่ยอมรับแนวคิดนี้มันก็จะสายเกินไป --- สำหรับพวกเขา ไม่ใช่สำหรับเรา”


ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเรียกร้องในวันพุธ (29) ให้นานาชาติช่วยกันปกป้องโครงสร้างระบบสาธารณสุขของกาซาไว้ เนื่องจากผลของสงครามทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคระบาดขึ้น ขณะที่การเฝ้าติดตามพวกโรคติดเชื้อต่างๆ ก็ยังทำได้ยากลำบาก

แม้ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวจะช่วยให้ WHO และองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ สามารถส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังกาซาได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความจำเป็นของพลเรือนปาเลสไตน์ราว 2.3 ล้านคนที่นี่

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ระบุว่า เวลานี้มีโรงพยาบาลในกาซาเพียง 15 แห่งจากทั้งหมด 36 แห่งที่ยังสามารถเปิดทำการได้ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาจนล้นโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อต่างๆ เนื่องจากการพลัดถิ่นฐานของพลเรือนนับล้านทำให้ศูนย์พักพิงและค่ายผู้ลี้ภัยแออัดไปด้วยผู้คน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกาซาพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันราว 110,000 เคส โรคผื่นผิวหนัง 24,000 เคส และโรคหิดอีก 12,000 เคส นับตั้งแต่การสู้รบเริ่มต้นขึ้น

มาร์กาเรต แฮร์ริส โฆษก WHO ออกมาแถลงเตือนเมื่อวันอังคาร (28) ว่า ท้ายที่สุดแล้วโลกอาจจะได้เห็นพลเรือนในกาซาเสียชีวิตจากโรคระบาดมากกว่าการทิ้งระเบิดของอิสราเอลเสียอีก หากยังไม่เร่งฟื้นฟูระบบสาธารณสุขในดินแดนแห่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น