xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีต่างประเทศ ‘จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ เห็นพ้องฟื้นความร่วมมือ-ปูทางจัดประชุมสุดยอดไตรภาคี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เห็นชอบในวันอาทิตย์ (26 พ.ย.) ที่จะฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างกัน และเตรียมจัดการประชุมสุดยอดผู้นำไตรภาคีอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่าง 3 ชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก

แม้จีน และสหรัฐฯ จะมีความพยายามแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ และยังผลักดันการประชุมซัมมิตทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จนสำเร็จในเดือนนี้ แต่นั่นไม่ได้ทำให้จีนคลายกังวลในเรื่องที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังกระชับความเป็นหุ้นส่วน 3 ฝ่ายแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ปักกิ่ง โซล และโตเกียว เคยมีข้อตกลงว่าจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ 3 ฝ่ายเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการทูตและเศรษฐกิจ ทว่าปมขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงการอุบัติขึ้นของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ทำให้แผนการนี้ต้องหยุดชะงักไป โดยผู้นำสูงสุดของทั้ง 3 ชาติได้จัดประชุมกันครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2019

ล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจากทั้ง 3 ชาติได้มีการพบปะหารือที่เมืองปูซานของเกาหลีใต้เมื่อวันอาทิตย์ (26) ซึ่งถือเป็นการพูดคุยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 และมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายได้ตกลงเห็นพ้องกันเมื่อเดือน ก.ย. ที่จะจัดการประชุมซิมมิตไตรภาคีขึ้นอีกครั้ง “โดยเร็วที่สุด ในวันเวลาที่ทุกฝ่ายสะดวก”

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีทั้งสามยังไม่ได้ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนว่าการประชุมซัมมิตนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด

โช แทยอง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Yonhap news TV ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น และประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล แห่งเกาหลีใต้ น่าจะยังไม่ได้พบกันภายในปีนี้ แต่คาดว่าการประชุมซัมมิตจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงว่า รัฐมนตรีทั้ง 3 ชาติได้มีมติเห็นพ้องในการประชุมซึ่งใช้เวลา 100 นาทีว่าจะส่งเสริมความร่วมมือกันใน 6 ด้าน ซึ่งรวมถึงความมั่นคง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี และจะสนับสนุนให้มีการหารืออย่างจริงจังเพื่อปูทางสู่การจัดประชุมซัมมิต


พัค จิน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ซึ่งยังกังวลเรื่องภัยคุกคามเกาหลีเหนือ ได้กล่าวกับรัฐมนตรีของญี่ปุ่นและจีนว่า “การทำให้ความร่วมมือ 3 ฝ่ายถูกยกระดับสู่การเป็นสถาบัน (institutionalize) นั้นมีความสำคัญ เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่ระบบที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน” ตามถ้อยแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้

ทางด้านของ หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน เรียกร้องให้ทั้ง 3 ชาติร่วมกัน “ต่อต้านการแบ่งแยกทางค่านิยม (ideological demarcation) และคัดค้านการแบ่งความร่วมมือในภูมิภาคเป็นกลุ่มขั้วต่างๆ” ซึ่งดูเหมือนจะมีเจตนาวิจารณ์การจับกลุ่มพันธมิตรระหว่างโซล โตเกียว และวอชิงตัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า หวัง ยังเรียกร้องให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โยโกะ คามิคาวะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ย้ำว่าการเพิ่มความร่วมมือของทั้ง 3 ชาติจะมีส่วนช่วยส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค ท่ามกลางบริบทความมั่นคงนานาชาติที่ “รุนแรงและซับซ้อนยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา”

ระหว่างการหารือ 2 ฝ่าย พัค และ คามิคาวะ ได้ประณามการส่งดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และตกลงที่จะร่วมมือกันกำหนดมาตรการตอบโต้ข้อตกลงด้านอาวุธระหว่างเปียงยางกับมอสโก

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นก็ได้แสดงความ “ผิดหวังอย่างยิ่ง” ที่ศาลอุทธรณ์ของเกาหลีใต้มีคำสั่งให้ญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินชดเชยแก่อดีตสตรีเพื่อการผ่อนคลาย และขอให้โซลเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเหมาะสม

พัค ยังได้ประชุมร่วมกับ หวัง อี้ และเอ่ยปากเชื้อเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนให้ไปเยือนกรุงโซล โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมการสื่อสารในเชิงยุทธศาสตร์ และ พัค ได้ขอร้องให้จีนแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในการโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือหยุดพฤติกรรมยั่วยุและก้าวไปสู่เส้นทางแห่งการปลดอาวุธนิวเคลียร์

หวัง อี้ ได้เอ่ยเตือนรัฐมนตรีเกาหลีใต้ว่าไม่ควรนำเอาประเด็นด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมาเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศตึงเครียดระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ และข้อพิพาทการค้าอื่นๆ

คามิคาวะ กล่าวขณะประชุมกับ หวัง อี้ เมื่อวันเสาร์ (25) ว่า เธอคาดหวังว่าการเจรจาด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและจีน “จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้” ขณะที่ หวัง ก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จีนและญี่ปุ่นจะต้องหาวิธีสร้างความเชื่อมั่นว่าทั้ง 2 ฝ่าย “จะไม่เป็นภัยคุกคามต่อกัน” และให้เคารพในข้อกังวลอันชอบธรรมของกันและกัน

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น