xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ โผล่ประชุมออนไลน์ G20 ชวนผู้นำโลกหาทางหยุด ‘โศกนาฏกรรม’ จากสงครามในยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวกับบรรดาผู้นำกลุ่ม G20 วานนี้ (22 พ.ย.) ว่าจำเป็นที่ทั่วโลกจะต้องร่วมกันคิดหาวิธีหยุด “โศกนาฏกรรม” ที่เกิดขึ้นจากสงครามในยูเครน ซึ่งถือเป็นคำพูดจากปากผู้นำรัสเซียที่สื่อถึงการประนีประนอมมากที่สุดนับตั้งแต่มอสโกเริ่มส่งทหารบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว

การที่ ปูติน ตัดสินใจส่งกองทัพรุกรานยูเครนส่งผลให้ภูมิภาคยุโรปต้องเผชิญกับการสู้รบครั้งรุนแรงที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นชนวนนำมาสู่การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างมอสโกกับโลกตะวันตกในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา

ในการเข้าร่วมประชุมทางไกลกับ G20 หนแรกนับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น ปูติน ได้อ้างถึงสุนทรพจน์ของผู้นำบางประเทศที่กล่าวว่ารู้สึก “ช็อก” ที่รัสเซียยังคงเดินหน้าปฏิบัติการรุกรานยูเครน

“แน่นอน ปฏิบัติการทางทหารล้วนแต่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมเสมอ” ปูติน บอกกับที่ประชุม G20 ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตามคำขอของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย

“และแน่นอนว่า เราควรจะคิดหาวิธีหยุดโศกนาฏกรรมครั้งนี้” ปูติน กล่าว พร้อมกับย้ำว่า “รัสเซียไม่เคยปฏิเสธการเจรจาสันติภาพกับยูเครน”

คำพูดของ ปูติน แม้เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของรัสเซียในสายตานานาชาติ แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณรอมชอมมากที่สุดของผู้นำหมีขาวในรอบหลายเดือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปูติน ยอมเรียกความขัดแย้งนี้ว่าเป็น “สงคราม” (war) แทนที่จะอ้างว่าเป็นเพียง “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (special military operation) อย่างที่ทำมาตลอดก่อนหน้านี้

“ผมเข้าใจว่าสงครามครั้งนี้และการบาดล้มตายของผู้คนย่อมทำให้รู้สึกช็อกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ปูติน กล่าว ก่อนจะอ้างเหตุผลในการทำสงครามว่าเป็นเพราะรัฐบาลยูเครนกดขี่ข่มเหงพลเรือนในยูเครนตะวันออก

ความขัดแย้งในยูเครนตะวันออกเริ่มเกิดขึ้นในปี 2014 หลังจากประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครนซึ่งเป็นผู้นำสายโปรรัสเซียถูกประชาชนลุกฮือโค่นล้มในการปฏิวัติไมดัน (Maidan Revolution) และรัสเซียได้ทำการผนวกคาบสมุทรไครเมีย นอกจากนี้รัสเซียยังให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกที่ทำสงครามกับกองทัพเคียฟด้วย


ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ความขัดแย้งนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปราว 14,000 คนระหว่างปี 2014 จนถึงสิ้นปี 2021 โดยในจำนวนนี้เป็นพลเรือนอย่างน้อย 3,106 คน

ผู้นำรัสเซียยังตั้งคำถามกับนานาชาติด้วยว่า “แล้วการเข่นฆ่าชีวิตพลเรือนในปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซาทุกวันนี้ไม่น่าช็อกหรอกหรือ?”

ปูติน กล่าวว่ามันเป็นเรื่องน่าช็อกสำหรับเขาที่แพทย์ในกาซาต้องผ่าตัดช่วยชีวิตเด็กๆ โดยไม่มีแม้กระทั่งยาสลบ

ยูเครนและชาติตะวันตกประกาศย้ำหลายครั้งว่าจะทำให้รัสเซียพ่ายแพ้สงคราม และขับไล่ทหารหมีขาวออกไปให้พ้นดินแดนยูเครน ทว่าความล้มเหลวของปฏิบัติการโจมตีโต้กลับ (counteroffensive) ของยูเครนในปีนี้ก็ทำให้ตะวันตกเริ่มกังวลว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่ได้ผลจริงหรือไม่

ข้อมูลจากศูนย์เบลเฟอร์ (Belfer Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานของวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี (Harvard Kennedy School) สถาบันระดับบัณฑิตศึกษา 1 ใน 12 แห่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า ปัจจุบันรัสเซียยังคงควบคุมดินแดนยูเครนอยู่ราว 17.5% ไม่นับรวมแหลมไครเมียที่ผนวกไปตั้งแต่ปี 2014

ปูติน ประกาศชัดเจนว่าดินแดนเหล่านี้ “เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย” แล้ว

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น