xs
xsm
sm
md
lg

หมดประโยชน์! ชี้ 'เซเลนสกี' อาจโดนเขี่ยทิ้ง เปิดทางเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เสี่ยงถูกขับพ้นจากตำแหน่ง จากท่าทีที่ไม่มีความตั้งใจพิจารณาเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้การเจรจาดังกล่าวนั้นมีความเป็นไปได้ จากความเห็นของ โอเลก ซอสกิน ที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันเสาร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา

ด้วยที่ เซเลนสกี ยังคงยืนกรานว่าชัยชนะควรบรรลุเป้าหมายในสมรภูมิรบเท่านั้น นั่นหมายความว่าเขาจะไม่เข้าสู่การเจรจาสันติภาพใดๆ กับรัสเซีย ซึ่งในเรื่องนี้ ซอสกิน แสดงความเห็นผ่านช่องยูทูบของตนเอง ชี้ว่าท่าทีดังกล่าวของ เซเลนสกี กำลังผลักให้รัสเซียและบรรดาชาติตะวันตกบางส่วนที่ให้การสนับสนุนยูเครน คิดทบทวนว่าพวกเขาอาจต้องการใครบางคนเข้ามาเป็นตัวแทนของยูเครน ผู้ซึ่งสามารถเห็นพ้องแม้กระทั่งข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็จำเป็นต้องเขี่ยทิ้งผู้นำยูเครนในปัจจุบัน

ซอสกิน กล่าวว่า แนวคิดเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับตะวันตกกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่ในรัสเซีย แต่รวมถึงในโลกตะวันตกเช่นกัน พร้อมชี้ว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี เพิ่งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดลักษณะนี้เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

มาครง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีในสัปดาห์ที่แล้วว่า แม้ ฝรั่งเศส มีหน้าที่สนับสนุนเคียฟ แต่อาจถึงเวลาแล้วสำหรับการพูดคุยที่ดีและเจรจาอย่างยุติธรรมกับรัสเซีย ส่วน เมโลนี เผลอหลุดปากกับ 2 คู่หูนักอำชาวรัสเซีย Vovan และ Lexus ว่าพบเห็นความเหนื่อยล้ามากมายในอียู ในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน "เราใกล้ถึงช่วงเวลาที่ทุกคนเข้าใจดีว่า เราจำเป็นต้องหาทางออก" เธอกล่าวในตอนนั้น

สำหรับ ซอสกิน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เคยดำรงตำแหน่งรองประธานสถาบันเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของยูเครน ในช่วงทศวรรษ 1990 และเขาบอกว่าในส่วนของอียูเองไม่มีศักยภาพพอที่จะตอบสนองความต้องการต่างๆ ของยูเครน ทั้งในด้านยุทโธปกรณ์และกระสุน โดยเฉพาะหากว่ากองทัพสหรัฐฯ ปรับลดความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ซอสกิน ยังเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาระดับอาวุโสของ ลีโอนิด คราฟชุก ประธานาธิบดีคนแรกของยูเครน ภายหลังประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 ก่อนต่อมาจะทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้แก่ ลีโอนิด กุชมา ผู้นำคนที่ 2 ของประเทศ ระหว่างปี 1998 ถึง 2000

เคียฟปฏิเสธซ้ำๆ ต่อการเจรจาใดๆ กับรัสเซีย และเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากดินแดนทั้งหมดที่ยูเครนอ้างกล่าวโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ เซเลนสกี เน้นย้ำระหว่างให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในสัปดาห์ที่แล้ว ว่าถ้าจำเป็น เคียฟจะเดินหน้าสู้รบแม้ปราศจากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ก็ตาม

นอกจากนี้ เซเลนสกียังปฏิเสธรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่ระบุว่าบรรดาผู้สนับสนุนตะวันตกของยูเครน เร่งเร้ากระตุ้นให้เขาเข้าร่วมเจรจาสันติภาพกับมอสโก "เรื่องแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น" เขากล่าว

รัสเซีย ส่งสัญญาบ่อยครั้งว่าพวกเขาพร้อมเจรจาสันติภาพกับเคียฟ แต่ยืนกรานว่าการเจรจาดังกล่าวควรให้ความใส่ใจกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัสเซียและข้อเท็จจริงในภาคสนาม หลังจากในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 ทางรัสเซีย ได้ทำการผนวก 4 แคว้นของยูเครน ในนั้นรวมถึง 2 แคว้นในภูมิภาคดอนบาส เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอย่างเป็นทางการ ผ่านการทำประชามติหลายรอบ

ยูเครนประณามการลงประชามติดังกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าอดสู และกำลังหาทางทวงคืนการควบคุมเหนือทั้ง 4 แคว้น เช่นเดียวกับแคว้นไครเมีย ที่ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014 ผ่านการลงประชามติเช่นกัน

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น