xs
xsm
sm
md
lg

ชมคลิป : คนยุโรปหลายแสนชุมนุมหนุนปาเลสไตน์ ขณะผู้นำอาหรับ-มุสลิมแถลงประณามอิสราเอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนจำนวนมากเดินขบวนผ่านสะพานวอกซ์ฮอลล์ ในกรุงลอนดอน, สหราชอาณาจักร ระหว่างการประท้วงเพื่อแสดงความสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เมื่อวันเสาร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา
ผู้คนในกรุงลอนดอนอย่างน้อย 300,000 คน และอีกหลายเมืองในยุโรป ออกมาชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์และเรียกร้องให้การหยุดยิงในกาซาเมื่อวันเสาร์ (11พ.ย.) ท่ามกลางการต่อต้านขัดขวางของกลุ่มขวาจัดตลอดจนนักการเมืองฝ่ายขวา ขณะที่พวกผู้นำชาติอาหรับและมุสลิมประชุมกันมีมติประณามกองทัพยิวกระทำการป่าเถื่อนในกาซา ทว่าไม่สามารถตกลงกันได้ในการออกมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและการเมืองกับอิสราเอล






ตำรวจลอนดอนระบุว่า ในวันเสาร์มีผู้เข้าร่วมชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์มากกว่า 300,000 คน แต่ฝ่ายผู้จัดให้ตัวเลขเอาไว้ที่ 800,000 คน

ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากโบกธงปาเลสไตน์สีดำ, แดง, ขาว, และเขียว บางคนร้องตะโกนว่า “จากแม่น้ำจนถึงทะเล ปาเลสไตน์จะต้องเป็นอิสระ” ซึ่งเป็นคำขวัญปลุกใจที่ชาวยิวจำนวนมากมองว่าเป็นการต่อต้านยิวและเรียกร้องให้กำจัดลบทิ้งอิสราเอล
ส่วนคนอื่นๆ ชูป้ายเขียนข้อความว่า "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" “อิสราเอลเป็นรัฐก่อการร้าย” และ "หยุดสังหารหมู่" รวมไปถึง "หยุดทิ้งบอมบ์ถล่มกาซา"

นับตั้งแต่พวกฮามาสบุกจู่โจมทางภาคใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ได้เรียกเสียงสนับสนุนและความเห็นอกเห็นใจอย่างคับคั่งต่ออิสราเอล จากบรรดารัฐบาลตะวันตก ซึ่งก็รวมถึงสหราชอาณาจักรและพลเมืองจำนวนมาก แต่เมื่ออิสราเอลดำเนินการตอบโต้ทางทหารด้วยการถล่มโจมตีกาซา รวมทั้งใช้มาตรการปิดล้อมและสั่งอพยพผู้คนเรือนล้าน ก็โหมกระพือความเดือดดาล โดยมีการชุมนุมในลอนดอนแทบทุกสัปดาห์ เรียกร้องให้มีการหยุดยิง

สำหรับการชุมนุมเดินขบวนในวันเสาร์ แม้ดำเนินไปอย่างสงบเป็นส่วนใหญ่ แต่ตำรวจก็รายงานว่าเข้าจับกุมผู้คนไปกว่า 120 คน ขณะพยายามหาทางหยุดยั้งพวกผู้ประท้วงขวาจัดที่ต่อต้านการชุมนุมครั้งนี้ ไม่ให้ซุ่มโจมตีขบวนใหญ่

มีรายงานว่าเกิดการปะทะกันประปรายระหว่างตำรวจกับพวกกลุ่มขวาจัดซึ่งรวมตัวกันเพื่อประท้วงคัดค้านการเดินขบวนหนุนปาเลสไตน์ ที่เกิดขึ้นมาใน “วันสงบศึก” 11 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันครบรอบปีการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 และสหราชอาณาจักรใช้เป็นวันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากสงคราม

นอกจากนั้น ยังเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ โดยตำรวจเขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ว่าพวกผู้ชุมนุมบางส่วนสวมหน้ากากและยิงพลุไฟ ดังนั้นจึงถูกควบคุมตัวและทำการค้นตัว

ขณะที่ ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ออกคำแถลงประณามการใช้ความรุนแรงของกลุ่มขวาจัดที่พยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจ ณ บริเวณ อนุสาวรีย์เซโนทาฟ ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ในใจกลางกรุงลอนดอนเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในสงคราม รวมทั้งโยนขวดใส่ตำรวจไม่หยุดยั้ง ขณะเดียวกันเขาก็ประณามพวกเข้าข้างกลุ่มฮามาส ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ ที่มีการตะโกนร้องเพลงต่อต้านยิว และชูป้ายข้อความและสวมเสื้อสกรีนสนับสนุนฮามาส ที่สหราชอาณาจักรถือเป็นองค์การก่อการร้าย

อันที่จริง ความตึงเครียดได้พุ่งสูงตั้งแต่ก่อนหน้าการชุมนุมเดินขบวนเริ่มขึ้นในวันเสาร์ ซึ่งกลายเป็นการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์และเรียกร้องหยุดยิงในฉนวนกาซาครั้งใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรเท่าที่เคยมีมา สืบเนื่องจาก ซูเอลลา บราเวอร์แมน รัฐมนตรีมหาดไทย ประณามการชุมนุมนี้ว่าจะเป็นเดินขบวนของฝูงม็อบที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง

อย่างไรก็ตาม ตำรวจนครบาลลอนดอน ปฏิเสธคำขอของคณะรัฐมนตรีที่เรียกร้องให้สั่งระงับกิจกรรมครั้งนี้ โดยบอกว่าไม่พบสิ่งบ่งชี้ใดๆ ที่จะเกิดความรุนแรงร้ายแรง จุดยืนเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลอยู่ในภาวะตึงเครียด และซูแน็ก เรียกร้องอีกครั้งให้ใช้แนวทางที่แข็งกร้าวกว่าเดิมในการรับมือการชุมนุม

"ทุกความผิดทางอาญาต้องเผชิญกับการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเต็มที่และรวดเร็ว" เขาระบุในคำแถลงที่เผยแพร่ในวันเสาร์ (11) "นั่นคือสิ่งที่ผมบอกกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไปเมื่อวันพุธ มันคือความรับผิดชอบของพวกเขาและมันคือสิ่งที่ผมคาดหวัง"

ขณะที่ ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีลอนดอน และฮัมซา ยูซาฟ นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ กล่าวตำหนิ บราเวอร์แมน ว่าโหมกระพือความตึงเครียด และปลุกใจพวกขวาจัด ด้วยการกล่าวหาตำรวจเลือกข้างม็อบฝักใฝ่ปาเลสไตน์ ตั้งแต่ก่อนหน้าการเดินขบวน

ในวันเสาร์ (11) นอกจากในลอนดอนแล้ว ยังมีการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ ในหลายเมืองของยุโรป โดยที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีผู้เข้าร่วมราว 21,000 คน ส่วนในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส พวก ส.ส.ฝ่ายซ้าย เป็นส่วนหนึ่งในผู้ชุมนุม 16,000 คน ที่เดินขบวนโดยถือป้ายและธงสนับสนุนปาเลสไตน์ เรียกร้องข้อตกลงหยุดยิง

ในอีกด้านหนึ่ง ผลการประชุมสุดยอดร่วมกันระหว่างสันนิบาตอาหรับและองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่กรุงริยาด ของซาอุดีอาระเบียในวันเสาร์ ก็สะท้อนถึงความแตกแยกในหมู่ชาติอาหรับและชาติมุสลิม เกี่ยวกับวิธีตอบโต้กับสงครามในกาซา แม้มีความกังวลมากขึ้นว่า สถานการณ์อาจบานปลายก็ตาม

การประชุมนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความโกรธแค้นที่เพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ จากการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินของอิสราเอลในกาซาที่มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 11,000 คน

อิสราเอลประกาศเจตนารมณ์ในการทำลายฮามาส หลังจากนักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้จู่โจมข้ามแดนเข้าไปในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 เดือนที่แล้วและสังหารผู้คนราว 1,200 คน รวมทั้งจับตัวประกันไปราว 240 คน

แถลงการณ์ของสันนิบาตอาหรับและโอไอซีที่ออกมาเมื่อวันเสาร์ (11) ปฏิเสธไม่ยอมรับข้ออ้างของอิสราเอลที่ว่าตนกำลังใช้สิทธิในการป้องกันตัว รวมทั้งเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ผ่านมติที่เด็ดขาดและมีผลบังคับให้อิสราเอลยุติการรุกรานกาซา

แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ยุติการขายอาวุธให้อิสราเอล และปฏิเสธไม่ยอมรับการแก้ไขความขัดแย้งด้วยแนวทางทางการเมืองในอนาคตที่จะทำให้กาซาตัดขาดจากเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล นอกจากนั้นก็เรียกร้องให้ยุติการปิดล้อมและอนุญาตการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่กาซา

มกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด บิน ซาลมาน ผู้ปกครองในทางพฤตินัยของซาอุดีฯ ซึ่งก่อนหน้าเกิดสงครามกาซาคราวนี้ มีรายงานว่าอยู่ระหว่างการพิจรณาสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอิสราเอล ประกาศในฐานะประเทศเจ้าภาพว่า รัฐบาลอิสราเอลต้องรับผิดชอบการก่ออาชญากรรมต่อชาวปาเลสไตน์

ส่วน ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ของอิหร่าน ที่เดินทางไปซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สองประเทศเยียวยาความสัมพันธ์กันเมื่อเดือนมีนาคม เรียกร้องให้ชาติอิสลามตีตรากองทัพยิวเป็นองค์การก่อการร้ายจากการกระทำในกาซา

นักการทูตอาหรับเผยว่า แรกทีเดียวนั้นสันนิบาตอาหรับและโอไอซีที่มีสมาชิก 57 ชาติรวมถึงอิหร่าน มีแผนจัดประชุมแยกกัน แต่ตัดสินใจประชุมร่วมกันหลังจากผู้แทนสันนิบาตอาหรับไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในแถลงการณ์สุดท้าย

บางประเทศ เช่น แอลจีเรียและเลบานอน เสนอให้ตอบโต้การโจมตีกาซาด้วยการระงับการขายน้ำมันให้อิสราเอลและพันธมิตร รวมทั้งตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตกับอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อย 3 ประเทศที่รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนที่สถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติกับอิสราเอลในปี 2020 คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว

ด้านฮามาสออกแถลงการณ์จากกาซาเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่ริยาดตัดสินใจขั้นเด็ดขาดครั้งประวัติศาสตร์และหยุดยั้งการรุกรานของอิสราเอลทันที รวมทั้งขับเอกอัครราชทูตอิสราเอล จัดตั้งคณะกรรมการทางกฎหมายเพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามต่ออิสราเอล และตั้งกองทุนฟื้นฟูกาซา

ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ชี้ว่า หากปราศจากมาตรการลงโทษอิสราเอล ซัมมิตนี้จะถูกมองว่า ไร้เขี้ยวเล็บ และสำทับว่า ทุกประเทศในตะวันออกกลางไม่ควรมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองใดๆ กับอิสราเอล โดบรวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืนในกาซา

สำหรับประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอันของตุรกี ประณามว่า ตะวันตกที่พร่ำพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ กลับปิดปากเงียบกับการสังหารหมู่ในปาเลสไตน์ที่เวลานี้ยังดำเนินอยู่

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น