กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยสถานการณ์ค่าเงิน โดยประกาศเพิ่ม “เวียดนาม” ลงในบัญชีกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง (monitoring list) ว่าอาจมีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ปั่นค่าเงิน (currency manipulation) ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์และเกาหลีใต้ถูกถอดพ้นจากบัญชีในรอบนี้
รายงานที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ แจ้งต่อสภาคองเกรสเมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) ยังเรียกร้องให้มหาอำนาจคู่แข่งอย่าง “จีน” ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบประเทศต่างๆ ซึ่งมียอดการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มาก และประเทศที่ใช้การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพื่อแสวงหาความได้เปรียบทางการค้า
“การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนโดยประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาของรายงานฉบับนี้เกิดขึ้นในรูปของการเทขายดอลลาร์ เพื่อพยุงค่าเงินท้องถิ่นให้กลับมาแข็งแกร่ง” เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุ
ขุนคลังหญิงมะกันยังเตือนด้วยว่า "เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเผชิญความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงพุ่งสูง และความเป็นไปได้ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะเผชิญวิกฤตรุนแรงขึ้น”
รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีการระบุรายชื่อ 6 ประเทศคู่ค้าสำคัญที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังปั่นค่าเงิน ได้แก่ จีน เยอรมนี มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศเหล่านี้ต้องเพิ่มความใส่ใจในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจมหภาค
ประเทศเหล่านี้มีลักษณะที่เข้าเกณฑ์เกิน 2 ใน 3 ประการที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ ได้แก่ 1) มียอดการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ 2) มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศต่างๆ เกิน 3% ของจีดีพี และ 3) มีการกว้านซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิเกิน 2% ของจีดีพีเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี
สำหรับสวิตเซอร์แลนด์และเกาหลีใต้ถูกถอดพ้นจากบัญชีเฝ้าระวังปั่นค่าเงินในรอบนี้ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่เข้าเกณฑ์เพียง 1 ใน 3 ต่อเนื่อง 2 ช่วงของการประเมิน
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า เยอรมนี มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม มีลักษณะเข้าเกณฑ์เพียง 2 ประการ ในขณะที่จีน “ล้มเหลวในการเปิดเผยมาตรการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน (FX) และขาดความโปร่งใสในประเด็นสำคัญๆ ของกลไกอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้จีนยังคงเป็นชาติที่แปลกแยก (outlier) จากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำทั้งหลาย”
“จีนยังคงมีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังด้วยเหตุผลนี้ รวมไปถึงยอดการค้าซึ่งเกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างมากด้วย” รายงานระบุ
ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์