เด็กปาเลสไตน์มากกว่า 4,100 คนถูกเข่นฆ่าในช่วงหนึ่งเดือนของสงครามปี 2023 ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส นี่เป็นตัวเลขแห่งโศกนาฏกรรมที่เปิดเผยโดยกระทรวงสาธารณสุขในกาซาซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารปกครองอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มฮามาส เด็กปาเลสไตน์เหล่านี้เสียชีวิตจากปฏิบัติการถล่มโจมตีทางอากาศโดยกองทัพอิสราเอล และจากความผิดพลาดในการยิงจรวดจึงเกิดการพุ่งเข้าชนอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัย อีกทั้งการถูกไฟคลอกและถูกตึกถล่มใส่
โดยในจำนวนเหยื่อวัยเยาว์สี่พันกว่าราย มีเด็กทารกแรกเกิดและหนูน้อยวัยหัดเดินเตาะแตะรวมอยู่ด้วยมากมาย ในจำนวนอันมหาศาลน่าสลดใจอย่างที่สุดนี้ มีทั้งเด็กนักอ่านที่กำลังสนุกกับการเรียนรู้โลก และมีเด็กหนุ่มน้อยที่เร่งพัฒนาทักษะการเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนมีพวกเด็กชายจำนวนหนึ่งที่คิดว่าปลอดภัยแน่นอนแล้วเพราะได้เข้าไปหลบภัยอยู่ในโบสถ์คริสต์ เอพีรายงานอย่างนั้น
ด้านรอยเตอร์ระบุว่าในแวดวงประชากร 2.3 ล้านชีวิตที่พำนักอาศัยกันอย่างหนาแน่นบนดินแดนแถบเล็กๆ ผืนนี้ มีเกือบๆ ครึ่งหนึ่งทีเดียวเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และในบรรดาเหยื่อที่ถูกสังหารไปภายในสงครามยิว-ปาเลสไตน์ ปี 2023 นับรวมได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ศพแล้วนั้น เป็นเด็กๆ ในอัตราส่วนที่สูงยิ่ง คือประมาณ 40% นอกจากนั้น การวิเคราะห์แจกแจงข้อมูลโดยเอพีที่ใช้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซา แสดงข้อมูลรายละเอียดที่น่าสะเทือนใจอย่างที่สุดว่า มีเด็กที่อายุ 12 ปีและต่ำกว่านั้นลงมา ถูกสังหารไปมากกว่า 2,000 คน โดยเป็นหนูน้อยวัย 3 ปีลงมา มากมายเกิน 600 คน
“เมื่อบ้านเรือนถูกขีปนาวุธยิงถล่ม มันพังทลายลงใส่หัวของเด็กๆ” นักเขียน แอดัม อัล-มัดฮูน พูดเช่นนี้ขณะที่เฝ้าปลอบโยน เคนซี ลูกสาววัย 4 ขวบที่โรงพยาบาลอัลอักซอ มาร์เทอส์ (Al Aqsa Martyrs Hospital) ในเมืองเดร์ อัล-บาลาห์ เมืองใหญ่ทางตอนกลางของกาซา เอพีรายงาน
ทั้งนี้ หนูน้อยเคนซีเฉียดความตายในโศกนาฏกรรมการถล่มโจมตีทางอากาศ ที่ตัดเอาแขนขวาของเธอ และบดขยี้ขาซ้ายของเธอ และทำให้กะโหลกศีรษะของเธอร้าว
อิสราเอลบอกว่าพวกตนทำการโจมตีทางอากาศโดยพุ่งเป้าหมายใส่สถานที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานของพวกฮามาส พร้อมกับกล่าวหาว่าฮามาสใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ ยิ่งกว่านั้น อิสราเอลยังอ้างว่ามีจรวดของพวกฮามาสมากกว่า 500 ลูกที่ยิงพลาดและตกอยู่ภายในฉนวนกาซา สังหารชาวปาเลสไตน์ไปจำนวนหนึ่งโดยไม่มีใครทราบตัวเลขที่แน่นอน
แต่สิ่งที่แน่นอนชัดเจนมีอยู่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับยอดการเสียชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างการสู้รบขัดแย้งทั้งหลายทั่วโลกรวมกันในแต่ละปีของห้วง 3 ปีที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น จำนวนเด็กปาเลสไตน์ที่ถูกสังหารไปในกาซาในช่วงเวลาแค่สามสิบวันที่ผ่านมา มีมากกว่า
ทั้งนี้ เอพีรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากการรวบรวมขององค์การเซฟ เดอะ ชิลเดรน - Save the Children หน่วยงานการกุศลระดับโลก ว่าตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมา ในบรรดาพื้นที่สงคราม 20 กว่าแห่งของโลกใบนี้ มีเด็กๆ ถูกฆ่าไป 2,985 คน
“กาซากลายเป็นหลุมฝังศพสำหรับเด็กๆ จำนวนหลายพันราย” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกูเตอร์เรส กล่าวอย่างนั้น พร้อมบอกด้วยว่าในแต่ละวัน มีเด็กชายหญิงหลายร้อยคนถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บ
ภาพและคลิปวิดีโอของเด็กๆ ที่ยังอยู่ในอาการช็อกจนทำอะไรไม่ถูก ขณะถูกดึงลากออกจากกองปรักหักพังของอาคารอันแหลกลาญในกาซา หรือกำลังดิ้นรนด้วยความเจ็บปวดบนเตียงชั่วคราวที่สกปรกมอมแมมของโรงพยาบาล กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ทั่วไป รวมทั้งโหมให้เกิดการประท้วงดุเดือดขึ้นทั่วโลก ฉากเหตุการณ์จากการโจมตีทั้งหลายมีแต่ความโศกสลด เช่น ภาพของเจ้าหน้าที่กู้ภัยวางหนูน้อยวัยหัดเดินในชุดกระโปรงสั้นฟู สีขาวเปื้อนเลือด ลงบนเปลหาม อาการของแม่หนูคือหมดสภาพสิ้นเชิงไร้ซึ่งชีวิตและลมหายใจแล้ว คุณพ่อกรีดร้องรวดร้าวจนเนื้อตัวสั่นสะท้านทั้งร่างขณะกอดลูกน้อยที่เสียชีวิตไปแล้วเอาไว้กับอกแนบแน่น และเด็กชายวัยเยาว์ท่าทางงุนงงมีเลือดและฝุ่นท่วมตัว เดินโซซัดโซเซตามลำพังผ่านซากปรักหักพังทั้งปวง
“มันเป็นชีวิตที่ถูกสาปแช่งนะ ที่ต้องมาเป็นคุณพ่อคุณแม่อยู่ในกาซา” เป็นคำกล่าวของ อาห์เหม็ด โมดาวิค ช่างไม้วัย 40 ปีจากเมืองกาซาซิตี้ ชีวิตของเขาแตกสลายย่อยยับหลังจากความตายของลูกสาว 8 ขวบเมื่อช่วงเวลา 5 วันที่มีการสู้รบกันระหว่างฮามาสกับอิสราเอลคราวก่อนเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา
เด็กอิสราเอลก็ถูกฆ่าตายเช่นกันในระหว่างที่กลุ่มฮามาสอาละวาดอย่างโหดร้ายไปทั่วภาคใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งจุดชนวนให้เกิดสงครามครั้งนี้ขึ้นมา พวกนักรบถืออาวุธฮามาสได้สังหารผู้คนไปกว่า 1,400 คน พวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลบอกว่าในจำนวนนี้มีทั้งทารกและเด็กเล็กๆ ด้วย แต่พวกเขาไม่ได้ให้ตัวเลขที่แน่นอนชัดเจน นอกจากนั้นในหมู่ตัวประกันประมาณ 240 คนที่ฮามาสจับไปก็เป็นเด็กๆ ราว 30 คน
ขณะที่เครื่องบินสงครามของอิสราเอลถล่มโจมตีใส่กาซา เด็กๆ ปาเลสไตน์พากันกอดกันกลมกับพ่อแม่พี่น้องและญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวแบบครอบครัวขยายขนาดใหญ่ภายในอพาร์ตเมนต์หรือที่พำนักซึ่งบริหารดูแลโดยสหประชาชาติ ถึงแม้อิสราเอลได้เรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์อพยพหลบหนีจากตอนเหนือของกาซาลงไปทางใต้ของดินแดนแห่งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีจุดไหนในฉนวนกาซาเลยที่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยรอดพ้นจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลไปได้
“พวกเราต้องวิ่งหนีให้พ้นจากความตายในที่หนึ่ง เพียงเพื่อเข้าไปพบกับความตายในอีกที่หนึ่ง” เป็นคำพูดของ ยัสมีน จูดา (Yasmine Jouda) ผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปรวมแล้ว 68 คนสืบเนื่องจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ได้ทำลายอาคาร 4 ชั้น 2 อาคารในเมืองเดร์ อัล-บาลาห์ จนราบเป็นหน้ากลอง พวกเขาเพิ่งมาอาศัยกันอยู่ตรงนี้ ภายหลังอพยพหนีภัยจากตอนเหนือของกาซา
นอกจาก จูดา แล้ว มีผู้รอดชีวิตอีกเพียงคนเดียวจากการยิงถล่มคราวนี้คือ มิลิสซา หลานสาวอายุ 1 ขวบของ จูดา ผู้มีศักดิ์เป็นน้า
คุณแม่ของ มิลิสซา เป็นหนึ่งในเหยื่อแห่งปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล โดยในระหว่างที่กองทัพอากาศยิวระดมกันยิงขีปนาวุธถล่มอาคารเหล่านี้ คุณแม่ของ มิลิสซา อยู่ระหว่างคลอดบุตร และในเวลาต่อมาก็ได้พบศพของเธออยู่ข้างในกองซากหักพัง โดยที่ศีรษะของหนึ่งในลูกแฝดไร้ชีวิตของเธอยังค้างอยู่ที่ช่องคลอด
“เด็กน้อยคนนี้ทำอะไรเอาไว้หรือ จึงต้องมาเป็นกำพร้า ไม่เหลือใครๆ ในครอบครัวเลย ?” จูดา ตั้งคำถาม
อิสราเอลกล่าวโทษและประณามฮามาสว่าเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของชาวปาเลสไตน์ทั้งหลายในฉนวนกาซา ซึ่งยอดพุ่งขึ้นมามากกว่า 10,000 คนแล้ว โดยบอกว่าเนื่องจากกลุ่มนักรบกลุ่มนี้ปฏิบัติการจากย่านพำนักอาศัยที่มีผู้คนอยู่กันแออัดหนาแน่น ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ชี้ไปที่ตัวเลขจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายซึ่งกำลังพุ่งพรวดขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นหลักฐานข้อพิสูจน์ว่าการโจมตีของอิสราเอลนั้น นอกจากจะไม่มีการจำแนกแยกแยะ และทั้งไม่ได้มีการไตร่ตรองว่าอยู่ในสัดส่วนที่สมควรแก่เหตุหรือไม่
นอกจากที่สงครามได้ล้างผลาญชีวิตของเด็กปาเลสไตน์ไปแล้วหลายพันราย ยังทำให้เด็กชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บมากกว่า 7,000 คน โดยที่เด็กๆ จำนวนมหาศาลต้องประสบชะตากรรมที่เป็นการเปลี่ยนชีวิตไปทั้งหมดทั้งสิ้นเลย บรรดาแพทย์บอกอย่างนั้น
ก่อนที่จะเกิดสงครามไม่นาน มิลิสซา หลานสาวของ จูดา เพิ่งลุกขึ้นมาเดินได้เองสองสามก้าวเป็นครั้งแรก แต่ตอนนี้ยัยหนูจะไม่สามารถเดินได้อีกต่อไปแล้ว พวกคุณหมอที่ดูแลรักษาเธอบอกว่า การโจมตีทางอากาศที่คร่าชีวิตสมาชิกในครอบครัวของเด็กหญิงเล็กๆ ผู้นี้จนแทบหมดสิ้น ยังทำให้กระดูกสันหลังของเธอแตกหัก พร้อมกับยัดเยียดความเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงหน้าอกลงมา
ในเวลาเดียวกันในห้องโถงถัดลงมาแค่ชั้นเดียวจากเตียงของมิลิสซา ในโรงพยาบาลกลางของกาซาซึ่งมีผู้ป่วยแน่นไปหมด น้องเคนซี วัย 4 ขวบรู้สึกตัวขึ้นมาพร้อมกับเสียงกรีดร้องถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับแขนข้างขวาที่หายไป
“ลูกสาวผม ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และการฝึกใช้อุปกรณ์ต่างๆ กันมากมายเหลือเกิน เพียงแค่เพื่อให้แกสามารถไปถึงจุดที่จะมีชีวิตอยู่แบบครึ่งหนึ่งของชีวิตปกติได้” คุณพ่อของน้องเคนซีบอก
แม้กระทั่งผู้คนที่ยังมีร่างกายเป็นปกติ และปราศจากรอยขีดข่วนใดๆ แต่ก็ยังอาจจะได้รับบาดแผลในจิตใจจากความสูญเสียอย่างชนิดล้างผลาญของสงคราม
สำหรับผู้พำนักในกาซาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สงครามปี 2023 คือสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสครั้งที่ 5 ของพวกเขาแล้ว นับตั้งแต่ที่กลุ่มนักรบกลุ่มนี้ยึดอำนาจควบคุมดินแดนเล็กๆ แห่งนี้เอาไว้ในปี 2007 ทั้งหมดที่พวกเขารู้จักก็คือชีวิตภายใต้การปิดล้อมคว่ำบาตร ซึ่งขัดขวางไม่ให้พวกเขาสามารถเดินทางไปต่างประเทศ อีกทั้งบดขยี้ความหวังเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขา ทั้งนี้ ตามตัวเลขของธนาคารโลก อัตราการว่างงานของวัยรุ่นในฉนวนกาซาอยู่ที่ระดับ 70%
“ไม่มีความหวังใดๆ สำหรับเด็กๆ เหล่านี้ ไม่ว่าในด้านการพัฒนาอาชีพการงาน การปรับปรุงยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ หรือกระทั่งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น” เป็นคำกล่าวของ อัยเอด อบู เอ็กตาอิช ผู้อำนวยการโครงการในสังกัดองค์การปกป้องเพื่อเด็กในดินแดนปาเลสไตน์
เขากล่าวย้ำด้วยว่า แต่สำหรับในเฉพาะหน้านี้ เมื่อต้องเผชิญกับสงครามคราวนี้ สิ่งที่เด็กๆ ของกาซาเผชิญอยู่ “มันเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย”
และในกาซานั้น ความตายปรากฏอยู่ในทุกหนทุกแห่ง
ต่อไปนี้คือรายละเอียดเพิ่มเติมของเด็กๆ และผู้เยาว์ชาวปาเลสไตน์เพียงไม่กี่รายจากจำนวนมากกว่า 4,100 ราย ซึ่งถูกเข่นฆ่าเสียชีวิตไปแล้วในสงครามคราวนี้
อาซีล ฮัสซัน อายุ 13 ปี
อาซีล ฮัสซัส เป็นนักเรียนหัวกะทิ คุณพ่อของเธอ ฮาเซม บิน ซาอีด (Hazem Bin Saeed) ยืนยัน เธอเสพงานกวีนิพนธ์คลาสสิกภาษาอาหรับอย่างไม่รู้อิ่ม สามารถจดจำแบบแผนจังหวะและทำนองอันเข้มงวดของมันได้อย่างขึ้นใจ และเพลิดเพลินเหลือเกินกับภาพพจน์อันขรึมขลังลี้ลับและคำอุปมาอุปไมยอันหรูหราเต็มล้นของมัน ระหว่างสงคราม เมื่ออิสราเอลถล่มทิ้งระเบิดในจุดที่ใกล้มากๆ จนกระทั่งผนังกำแพงที่พักของพวกเธอสั่นไหว เธอก็จะสร้างความเบิกบานใจให้แก่ญาติๆ ของเธอ ด้วยการท่องบทกวีซึ่งมีชื่อเสียงของ อบู อัล ไตยยิบ อัล-มูตานับบี ผู้เป็นกวีชาวอิรักในยุคศตวรรษที่ 10 คุณพ่อของน้องอาซีล เล่าไว้อย่างนั้น
“เมื่อผมถามเธอว่าลูกอยากจะทำอะไรเมื่อโตขึ้น เธอตอบผมว่า จะอ่านไปทั้งชีวิต” บิน ซาอีด คุณพ่อวัย 42 ปีบอก “บทกวีคือช่องทางหลบหนีจากสภาพความเป็นจริงของลูกผมน่ะครับ”
การโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ทำให้บ้าน 3 ชั้นของเขาใน เดร์ อัล-บาลาห์ พังราบ สังหารทั้ง อาซีล และ อะนัส (Anas) พี่ชายวัย 14 ปีของเธอ
มัจด์ ซูรี อายุ 7 ปี
ระเบิดที่ดังกึกก้องทำให้ มัจด์ ตื่นตกใจสยดสยอง ราเมซ ซูรี (Ramez Souri) คุณพ่อวัย 45 ปีของน้องมัจด์ให้สัมภาษณ์แก่เอพี
มัดจ์คิดถึงการเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนเป็นที่สุด เขารู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงมาก ที่สงครามคราวนี้ทำให้ครอบครัวของเขาซึ่งเป็นชาวคริสเตียนต้องงดโปรแกรมการเดินทางไปเยือนเมืองนาซาเรธ เมืองในอิสราเอลที่ประเพณีความเชื่อบอกกันว่าเป็นสถานที่ที่พระเยซูเจริญเติบโตขึ้นมา หลังจากได้คาดหวังและตั้งตารอคอยกันมาตั้งนาน
“พ่อ แล้วเราจะไปที่ไหนได้ล่ะ?” มัจด์ถามแล้วถามอีกขณะที่การโจมตีทางอากาศส่งเสียงคำรามกึกก้อง ในที่สุดครอบครัวนี้ซึ่งเป็นสมาชิกผู้อุทิศตนของชุมชนชาวคริสเตียนเล็กๆ ของกาซา ก็ได้คำตอบ --นั่นคือ โบสถ์นักบุญปอร์ฟีริอุส (St. Porphyrius) ของคริสตจักรกรีกออโธดอกซ์ ในเมืองกาซาซิตี้
ซูรี เล่าว่า มัจด์ รู้สึกสงบลงเมื่อพวกเขาเดินทางไปถึงโบสถ์แห่งนั้น ซึ่งมีครอบครัวชาวคริสต์หลายสิบครอบครัวไปพำนักพักพิงอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาได้สวดอ้อนวอนร่วมกันและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ตุลาคม มีสะเก็ดระเบิดตกเข้าไปในอารามแห่งนั้น คร่าชีวิตผู้คนไป 18 คน ในหมู่ผู้ตายก็รวมถึง มัจด์ และพี่ๆ อีก 2 คน คือ จูลี วัย 9 ปี และ โซเฮล วัย 15 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลอิสราเอลบอกว่าเป้าหมายที่เล็งจะโจมตีคือศูนย์บัญชาการแห่งหนึ่งของฮามาสซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับโบสถ์
ร่างของ มัจด์ ถูกพบอยู่ใต้กองหักพังโดยที่มือทั้งสองยังโอบรอบคอของคุณแม่ ใบหน้าของมัจด์ถูกเผาไหม้เกรียมไปทั้งหน้า
“ลูกๆ ของผมต้องการเพียงแต่สันติภาพและการได้มีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงเท่านั้น” ซูรี กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “ทั้งหมดที่ผมแคร์ก็คือทำยังไงให้พวกเขามีความสุข”
เคนัน และ เนมาน อัล-ชาริฟ อายุ 18 เดือน
คุณพ่อคารัม อัล-ชาริฟ พนักงานคนหนึ่งขององค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในสังกัดของสหประชาชาติ พูดอะไรไม่ออกเอาเลยเมื่อวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน ขณะที่คุกเข่าอยู่เหนือร่างเล็กๆ ของลูกตัวน้อยสองศรีพี่น้องซึ่งหมดสิ้นลมหายใจแล้วและมีผ้าห่มคลุมเอาไว้ ในโรงพยาบาล ลูกสาว 2 คนของคุณพ่อคารัม ได้แก่ น้องจูด วัย 5 ขวบ และ ทัสนิม (Tasnim) วัย 10 ขวบ ได้หลุดพ้นความทุกข์และจากโลกใบนี้ไปแล้ว
ยิ่งกว่านั้น แก้วตาดวงใจของคุณพ่อคารัม ที่จากไปในคราวเดียวกันนี้ด้วย คือลูกชายคู่แฝดวัย 18 เดือนของเขา ได้แก่ น้องเคนัน และ น้องเนมาน ขณะที่ดวงใจแหลกสลาย คุณพ่อผู้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตได้แต่สะอึกสะอื้นขณะที่กอดร่างไร้วิญญาณของน้องเคนันไว้อย่างแนบแน่น และกล่าวคำอำลา
ส่วนสำหรับร่างของ น้องเนมาน นั้น ยังสูญหายอยู่ภายใต้กองปรักหักพังของอาคารสูง 6 ชั้นที่ครอบครัวนี้ใช้อาศัยหลบภัย ในค่ายผู้ลี้ภัย นูเซรัต บริเวณตอนกลางของกาซา
“เด็กๆ หมดบุญบนโลกนี้แล้ว” ซามี อบู สุลต่าน พี่ชายของคารัม อัล-ชาริฟ พูดถึงทารกชายแฝดทั้งสอง หนึ่งวันหลังจากอาคารแห่งนี้ถูกทำลายย่อยยับ “นี่เป็นความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้า”
มาห์มุด ดาห์ดูห์ อายุ 16 ปี
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ขณะที่อัล-จาซีเราะห์ สื่อทีวีและออนไลน์ชื่อดังของกาตาร์ กำลังไลฟ์สตรีมสถานการณ์ในกาซา อันเป็นเหตุการณ์ที่ชวนให้ใจสั่นสะท้านหวาดหวั่น นั้น วาเอล ดาห์ดูห์ หัวหน้าสำนักงานอัลจาซีเราะห์ สาขากรุงกาซา ได้ เมื่อ วาเอล ดาห์ดูห์ ได้ทราบพร้อมท่านผู้ชมทางบ้านว่าการโจมตีทางอากาศโดยอิสราเอลได้สังหารภรรยาของเขา และลูกสาววัย 6 ปี กับหลานปู่ที่ยังเป็นทารกแบเบาะ ตลอดจน มาห์มุด ลูกชายอายุ 16 ปีของเขา
ท่ามกลางกล้องทีวีของสื่อต่างๆ ณ โรงพยาบาล วาเอล ดาห์ดูห์ ร่ำไห้เหนือศพของลูกชาย ขณะพูดพึมพำว่า “ลูกต้องการเป็นนักข่าวใช่ไหมลูก”
มาห์มุด เป็นนักเรียนปีสุดท้ายในโรงเรียนมัธยมปลาย อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล ไฮสคูล ในเมืองกาซาซิตี้ ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ใช้หลักสูตรเน้นทางโลกไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ซึ่งรายงานข่าวเป็นภาษาอังกฤษ น้องมาห์มุดใช้เวลามากมายไปในการเรียนรู้ทักษะเทคนิคต่างๆ ในการใช้กล้อง และโพสต์คลิปรายงานข่าวสมัครเล่นที่เขาทดลองทำขึ้นไปบนยูทูปมาหลายชิ้นแล้ว วาเอล ดาห์ดูห์ เล่าอย่างนั้น
คลิปวิดีโอข่าวที่น้องมาห์มุดถ่ายทำและตัดต่อให้เสียงไว้หลายวันก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เป็นภาพของสารพัดรถยนต์ที่ถูกเผาไหม้ดำเมี่ยม, ควันดำลอยโขมง, และบ้านเรือนที่ถูกถล่มจนพังราบ น้องมาห์มุด กับน้องคอเลาด์ ผู้เป็นน้องสาว ผลัดกันให้เสียงบรรยาย โดยที่มีเสียงแห่งความตึงเครียดแว่วมากับสายลม
“นี่คือสงครามครั้งที่ดุร้ายที่สุดและรุนแรงที่สุดที่พวกเราเผชิญในกาซา” มาห์มุด บอก ขณะใช้สันมือข้างหนึ่งตีกับฝ่ามืออีกข้างหนึ่งเพื่อแสดงการยืนยัน
ในช่วงท้ายของคลิปข่าว พี่น้องคู่นี้จ้องมองตรงเข้าไปที่กล้อง
“โปรดช่วยเราให้เอาชีวิตรอดพ้นสงครามนี้ไปได้” สองพี่น้องพูดพร้อมๆ กัน
คอลัมน์ PLANET No.3
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี รอยเตอร์ อัล-จาซีเราะห์)