เอเจนซีส์ - ผู้ประท้วงร่วม 500 คนจากกลุ่มรีพับลิก พร้อมธงสีเหลืองข้อความต่อต้านสถาบันโห่ร้องต่อต้านระหว่างขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์อังกฤษ วันอังคาร (7 พ.ย.)
เดอะเนชันแนลของสกอตแลนด์รายงานวันนี้ (7 พ.ย.) ว่า เป็นไปตามคาดการณ์ว่ากลุ่มรีพับลิกที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์ได้รวมตัวประท้วงระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา ในพระราชพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์อังกฤษ ในเช้าวันอังคาร (7)
ดิอิฟนิงสแตนดาร์ดรายงานว่า สำนักงานตำรวจนครบาลอังกฤษได้ส่งกำลังตำรวจจำนวนมากไปถวายการอารักขาทั่วรอบบริเวณรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ของอังกฤษ
สกอตแลนด์ยาร์ดแถลงว่า กำลังมีปฏิบัติการตำรวจครั้งสำคัญกำลังดำเนินการบริเวณจัตุรัสรัฐสภา (Parliament Square) ไวท์ฮอลล์ (Whitehall) เดอะมอลล์ (The Mall) และมิลล์แบงก์ (Millbank) ที่มีการห้ามเข้าเด็ดขาดตั้งแต่เวลา 10.20 น.เป็นต้นไป
เดอะเนชันแนลชี้ว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงถูกโห่ขับไล่ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระราชรถในเช้าวันอังคาร (7) เข้าไปในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์สำหรับการเปิดรัฐสภาอังกฤษเป็นครั้งแรกในรัชสมัย
ทั้งนี้ กลุ่มรีพับลิกซึ่งมีแนวคิดต่อต้านสถาบันได้รวมตัวด้านนอกรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์พร้อมกับธงสีเหลืองที่มีข้อความว่า "ไม่ใช่กษัตริย์ของฉัน"
และกลุ่มรีพับลิกโต้โผจัดการประท้วงยังได้ทวีตข้อความพร้อมภาพประกอบว่า สมาชิกกลุ่มจำนวนทั้งหมด 500 คน รวมตัวประท้วงด้านนอกรัฐสภาอังกฤษ
อ้างอิงจากสื่อ PA News พบว่าสมาชิกกลุ่มได้รวมตัวเพื่อประท้วงตั้งแต่เวลา 08.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น
สกายนิวส์ของอังกฤษที่รายงานข่าวผู้ประท้วงกลุ่มรีพับลิกรวมตัวต่อต้านการเสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมรัฐสภาอังกฤษเช่นกันระบุว่า
การประท้วงยังคงเกิดขึ้นระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินกลับ
สกายนิวส์รายงานว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงพระราชทานพระราชดำรัสการเปิดการประชุมรัฐสภาอังกฤษนั้นหากนับจำนวนคำจะถือว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,223 คำ และยังถือเป็นพระราชดำรัสที่มีความยาวมากที่สุดนับตั้งแต่การเปิดรัฐสภาอังกฤษในปี 2005
สื่ออังกฤษยังได้ชี้ไปถึงเนื้อหาของพระราชดำรัส พบว่าพระองค์ได้ทรงชี้ไปถึงวาระนโยบายรัฐบาลอังกฤษของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก ที่กล่าวรายงานถวายว่าจะดำเนินการตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากนี้
ซึ่งในช่วงต้นของพระราชดำรัสมีเนื้อหาไปถึงการอุทิศพระองค์และการประกอบพระราชกรณียกิจนานกว่า 70 ปีของพระราชมารดา พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ
สกายนิวส์ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้เนื้อหาพระราชดำรัสส่วนใหญ่จะกล่าวไปถึงอาชญากรรมและมาตรการเพิ่มการลงโทษต่อผู้กระทำผิดคดีร้ายแรงและการกวาดล้างที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แต่ทว่าไม่พบว่าพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเลยไปถึงการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ ซูเอลลา เบรเวอร์แมน (Suella Braverman) เคยเรียกการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ในอังกฤษว่า “เป็นมาร์ชแห่งความเกลียดชัง”