xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องนานขนาดนั้น! ดิกชันนารีฉบับทางการของสวีเดนเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เพิ่งเสร็จหลังใช้เวลานานถึง 140 ปี มี 3 หมื่นกว่าหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ดิกชันนารีราชบัณฑิตสวีเดนซึ่ง SAOB ถือเป็นดิกชันนารีฉบับทางการได้เสร็จสมบูรณ์หลังต้องใช้เวลาถึง 140 ปีมาตั้งแต่ปี 1883 โดยเจ้าหน้าที่ทำงานทั้งหมด 137 คน

เอเอฟพีรายงานวันพุธ (25 ต.ค.) ว่า การบันทึกนิยามคำศัพท์ในภาษาสวีเดนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 หรือปี 1883 ที่ดิกชันนารีเล่มสุดท้ายของชุดถูกส่งแท่นพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความดีใจให้ทุกคน บรรณาธิการผู้จัดทำแถลงในวันพุธ (25)

ดิกชันนารีราชบัณฑิตสวีเดน SAOB นั้นเทียบเท่ากับดิกชันนารีออกซฟอร์ดของสหราชอาณาจักรอังกฤษ

ดิกชันนารีทางการของสวีเดนนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยราชบัณฑิตสวีเดน (Swedish Academy) ซึ่งเป็นผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่ทรงเกียรติของโลก

ดิกชันนารีราชบัณฑิตสวีเดนทั้งชุดประกอบไปด้วย 39 เล่ม และจำนวนหน้าทั้งหมด 33,111 หน้า

คริสเตียน มัตตส์สัน (Christian Mattsson) ได้เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า “มันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1883 และในเวลานี้พวกเราทำให้มันเสร็จสมบูรณ์ด้วยตลอดระยะเวลาหลายปีที่มีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำ 137 คนรับผิดชอบ”

เอเอฟพีชี้ว่า แต่ถึงแม้ว่าดิกชันนารีทางการสวีเดนจะเสร็จสมบูรณ์แล้วแต่ทว่างานยังไม่เสร็จสิ้นเป็นเพราะเนื่องมาจากดิกชันนารีเล่มนี้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และมาเสร็จสิ้นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลทำให้หมวดตั้งแต่อักษร A ไปจนถึงอักษร R นั้นได้ล้าสมัยไปแล้ว และทำให้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและเพิ่มคำศัพท์สมัยใหม่เข้าไป

ตัวอย่างเช่นคำว่า allergy หรือโรคภูมิแพ้นั้นปรากฏในภาษาสวีเดนครั้งแรกเมื่อปี 1920 แต่ทว่าดิกชันนารีหมวดอักษร A นั้นได้รับการตีพิมพ์ก่อนหน้าเมื่อปี 1893 มัตตส์สันกล่าว

เอเอฟพีรายงานว่า ตุ๊กตาบาร์บี้ (Barbie doll) แอป (app) และคอมพิวเตอร์ (computer) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลังล้วนเป็นคำศัพท์สมัยใหม่จากจำนวน 10,000 คำที่คาดว่าจะมีการบรรจุเข้าไปในดิกชันนารีในตลอดระยะเวลา 7 ปีหลังจากนี้

ดิกชันนารีราชบัณฑิตสวีเดน SAOB เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของภาษาสวีเดนตั้งแต่ปี 1521 มาจนถึงยุคสมัยใหม่ และสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ มีการตีพิมพ์เพียงแค่ 200 ชุดเท่านั้นที่ใช้เฉพาะในหมู่นักวิจัยและนักภาษาศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น