เอเจนซีส์/เอพี - อเมริกายังคงยืนยันว่า โรงพยาบาลกาซาที่โดนโจมตีด้วยจรวดเมื่อสัปดาห์ก่อนและทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน รวมเด็กๆ นั้นไม่ใช่ฝีมือ “อิสราเอล” เปิดหลักฐานใหม่ชี้เป็นจรวดกลุ่มติดอาวุธญิฮัดอิสลามปาเลสไตน์ PIJ ยิงมุ่งหน้าไปกรุงเทลอาวีฟเกิดขัดข้องและตกใส่เหนือโรงพยาบาลสอดคล้องกับการประเมินของอังกฤษ ด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ลงทุนส่งมือดีคนสำคัญนายพลอเมริกันนาวิกโยธินสหรัฐฯ เชี่ยวชาญด้านการรบในเมืองเข้าไปถึงกรุงเทลอาวีฟเพื่อวางแผนการสู้รบภาคพื้นให้ เตรียมอพยพอเมริกันชน 600,000 คนออกจากอิสราเอล
สกายนิว์ของอังกฤษรายงานวันนี้ (25 ต.ค.) ว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยืนยันว่า เชื่อมั่นว่าโรงพยาบาล Ahli Hospital ในกาซาที่ถูกโดนระเบิดจากจรวดเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมาและสร้างความโกรธแค้นไปทั่วทั้งดินแดนตะวันออกกลางและโลกมุสลิมนั้นไม่ได้เป็นฝีมือของ “อิสราเอล” แต่เป็นความผิดพลาดที่มาจากเครื่องยนต์ขัดข้องจากจรวดกลุ่มติดอาวุธญิฮัดอิสลามปาเลสไตน์
(Palestine Islamic Jihad) หรือ PIJ พันธมิตรฮามาสที่ยิงออกมาในลักษณะวิถีโค้ง
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า จรวดขาดออกเป็น 2 ท่อน และหัวรบตกลงที่ลานจอดรถของโรงพยาบาล
การออกมาเปิดเผยของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ นี้สอดคล้องกับการประเมินจากฝรั่งเศสและแคนาดาที่ต่างเชื่อว่า อิสราเอลไม่ได้เป็นผู้โจมตีโรงพยาบาลกาซา
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันจันทร์ (23) ว่า อังกฤษกลายเป็นอีกชาติที่เชื่อว่า อิสราเอลไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก ได้แถลงต่อสภาสามัญชนอังกฤษว่า อ้างอิงจากการข่าวกรองและการวิเคราะห์ด้านอาวุธส่งผลทำให้รัฐบาลอังกฤษประเมินว่า การระเบิดเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลกาซาน่าจะมาจากมิสไซล์หรือส่วนหนึ่งของมันที่ถูกยิงออกมาจากาซามุ่งหน้าไปอิสราเอล
พร้อมกันนี้ ยังประกาศเงินช่วยเหลือกาซา 20 ล้านปอนด์ และตำหนิสื่อที่ในตอนแรกประโคมข่าวไปในทิศทางว่าเทลอาวีฟเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ขณะที่แหล่งข่าวสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า มีหลักฐานที่ได้มาจากการดักฟังการสื่อสารที่ไม่ใช่ชิ้นเดียวกันกับของกองกำลังทหาร IDF ที่เคยเปิดเผยก่อนหน้า ซึ่งแหล่งข่าวชี้ว่า เป็นการสนทนาของนักรบติดอาวุธที่กำลังเดาว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบจรวดที่ยิงออกไป
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า โครงสร้างโรงพยาบาลเสียหายน้อยขณะที่อาคารหลักของโรงพยาบาลไม่มีความเสียหายใหญ่ในเชิงประจักษ์
การประเมินจากข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่า วัตถุชิ้นแรกที่ตกลงมาคือเครื่องยนต์ของมิสไซล์ และชิ้นที่ 2 คือหัวรบมิวไซล์ที่ส่งผลทำให้เกิดการระเบิดขนาดใหญ่
ขณะเดียวกัน การศึกอิสราเอลนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ยอมทุ่มทุนส่งบุคคลสำคัญทางการรบในเมืองเข้าไปวางแผนให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู โดยเฉพาะ
เอพีรายงานวานนี้ (24) ว่า ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์นี้ไม่ธรรมดาและอาจบานปลายหากไม่ควบคุม ส่งผลทำให้เพนตากอนนอกจากเคลื่อนขุมกำลังทางทหารสหรัฐฯ เข้าไปใกล้อิสราเอลเพื่อป้องปรามอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในภูมิภาคแล้ว
สหรัฐฯ ยังส่งที่ปรึกษาทางการทหารและรวมไปถึงนายพลอเมริกันเชี่ยวชาญการรบในเมือง พล.ท.เจมส์ กลินน์ (James Glynn) ที่ก่อนหน้าเคยมีผลงานในปฏิบัติการภาคพื้นต่อสู้กลุ่มติดอาวุธ IS และถูกส่งไปปฏิบัติการที่ฟัลลูจาห์ (Fallujah) อิรักในช่วงสงครามในเมืองที่ร้อนแรง อ้างอิงจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อเมริกัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นการส่งเข้าไปเพื่อช่วยวางแผนการรบในเมืองในเฟสการบุกทางภาคพื้นเข้าไปในกาซาของอิสราเอล ซึ่งคาดว่ากลินน์จะช่วยวางแผนให้การสู้รบในเมืองนั้นมีจำนวนพลเรือนปาเลสไตน์เสียชีวิตให้น้อยที่สุด
แอกซิออส (Axios) ของสหรัฐฯ ชี้ว่า ทั้งนายพลสหรัฐฯ และบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันทั้งหลายจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงในการสู้รบแต่จะช่วยวางแผนให้เท่านั้น ซึ่งไม่คาดว่า พล.ท.เจมส์ กลินน์ จะอยู่ในอิสราเอลรอเพื่อติดตามผล
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานเมื่อ 2 วันก่อนหน้าว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ระหว่างพบเนทันยาฮูที่กรุงเทลอาวีฟเคยตั้งคำถามว่า ใครจะเป็นคนรับช่วงต่อจากฮามาสหลังปฏิบัติการทางการทหาร IDF ในฉนวนกาซายุติ และเตือนว่าอิสราเอลอาจต้องพบกับสงคราม 2 ด้าน
เดลีเทเลกราฟรายงานวานนี้ (24) ว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ประเมินว่ามีพลเมืองสหรัฐฯ อยู่ในอิสราเอล 600,000 คน และในเวลานี้ได้สร้างแผนการเพื่อการอพยพครั้งมโหฬารออกจากพื้นที่ระหว่างเทลอาวีฟกำลังเตรียมบุกเข้าเขตฉนวนกาซา
โดยซูซานน์ มาโลนี (Suzanne Maloney) ผู้อำนวยการนโยบายต่างประเทศประจำสถาบันบรู๊คส์ (Brookings
Institute) แสดงความเห็นกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่า
“ด้วยตัวเลขชาวอเมริกัน 600,000 คนในอิสราเอลและภัยคุกคามต่อชาวอเมริกันทั่วทั้งภูมิภาค มันเป็นการยากที่จะคิดไปถึงการอพยพที่เปรียบเทียบกับขนาด ความลึกซึ้ง และความซับซ้อนเช่นนี้”
ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษก่อนหน้าใช้ทรัพยากรทางการทหาร รวมถึงอากาศยานขนส่งกองทัพอากาศอังกฤษ RAF ในการลำเลียงพลเมืองอังกฤษกลับออกจากเขตสงครามมาแล้ว