กระทรวงกลาโหมจีนออกมาตำหนิรายงานประจำปีของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ว่าด้วยกองทัพปักกิ่ง โดยระบุว่าการประเมินของเพนตากอนนั้นบิดเบือนนโยบายความมั่นคงและยุทธศาสตร์ทางการทหารของจีน
รายงานที่เพนตากอนเสนอต่อสภาคองเกรสระบุว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมีแนวโน้มที่จะพัฒนา เพิ่มความหลากหลาย และขยายกองกำลังนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า รวมถึงมีการประเมินจุดมุ่งหมายระดับชาติ นโยบายด้านการป้องกันประเทศ และยุทธศาสตร์ทางทหารของปักกิ่ง
เพนตากอนประเมินว่า จีนมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่มากกว่า 500 หัวรบในปัจจุบัน และจะเพิ่มเป็นกว่า 1,000 หัวรบในปี 2030 นอกจากนี้ ยังคาดว่าจีนจะใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ fast-breeder และโรงงานสกัดซ้ำเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว (reprocessing facilities) ในการผลิตพลูโตเนียมเพื่อใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ด้วย แม้ที่ผ่านมาปักกิ่งจะยืนยันว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีไว้สำหรับการใช้งานเพื่อสันติก็ตาม
อู๋ เชียน (Wu Qian 吴谦) โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีน ระบุในคำแถลงวันนี้ (25) ว่า “เราขอแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง และคัดค้านรายงานฉบับนี้อย่างถึงที่สุด” พร้อมย้ำว่าการประเมินของสหรัฐฯ นั้น “เกินความเป็นจริง และมีเจตนาสร้างความหวาดกลัวภัยคุกคามทางทหารจากจีน ซึ่งไม่มีอยู่จริง”
อู๋ ยังชี้แจงด้วยว่า การที่จีนพัฒนาศักยภาพของกองทัพก็เพื่อยับยั้งความเสี่ยงในการเกิดสงคราม ปกป้องความมั่นคงของตนเอง และธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก โดยไม่เคยมุ่งต่อต้านประเทศหรือเป้าหมายใดๆ เป็นพิเศษ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ ออกมากล่าวหาตอบโต้กันไปมาในเรื่องความมั่นคงทั้งระดับชาติและระดับโลก รวมถึงแนวปฏิบัติทางทหารของจีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้และไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดนในอธิปไตยของตนเอง
เพนตากอนระบุในรายงานเมื่อปี 2022 ว่า จีน “เพิ่มแรงกดดันทั้งทางการทูต การเมือง และการทหารต่อไต้หวัน”
โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนระบุในงานแถลงข่าววันนี้ (25) ว่า “รายงานว่าด้วยแสนยานุภาพทางทหารของจีนที่ออกโดยสหรัฐฯ นั้นเต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดหลายอย่าง รวมถึงเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับไต้หวัน”
โฆษก อู๋ ระบุว่า สายสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของ 2 มหาอำนาจนั้นเป็นส่วนสำคัญในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และยืนยันว่า “เรายังคงไว้ซึ่งการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและมีประสิทธิภาพกับสหรัฐฯ ผ่านช่องทางการทูตของกองทัพ”
กระนั้นก็ตาม อู๋ โทษว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายที่ “สร้างปัญหา” ต่อความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ
“สหรัฐอเมริกาแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจในขณะที่พวกเขากระทำสิ่งต่างๆ ที่คุกคามผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ป่าวร้องว่าอยากจะแก้ไขวิกฤต และยกระดับการสื่อสารระหว่างกัน” อู๋ กล่าว
การแถลงตอบโต้ครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านความมั่นคง Xiangshan Forum ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค. ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตอบรับคำเชิญแล้ว หลังจากที่เคยถูกจีนปฏิเสธการพูดคุยระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของทั้ง 2 ชาติเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
ที่มา : รอยเตอร์