xs
xsm
sm
md
lg

รอง ปธน.ไต้หวันวิจารณ์จีนปมสอบภาษี-ที่ดิน ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ เตือนหาก ‘ย้ายฐานหนี’ แล้วจะเสียใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองประธานาธิบดี วิลเลียม ไล่ ชิงเต๋อ แห่งไต้หวัน ออกมาวิจารณ์รัฐบาลจีนกรณีเปิดการสอบสวนบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไต้หวัน โดยเตือนปักกิ่งว่าควรที่จะ “ทะนุถนอม” ภาคธุรกิจเหล่านี้ และหยุดใช้แผนกดดันทางการเมืองในช่วงที่ไต้หวันกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่

แหล่งข่าวในบริษัท 2 คนยืนยันรายงานของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สที่ระบุว่า จีนกำลังเปิดการสอบสวนฟ็อกซ์คอนน์ในเรื่องภาษีและการใช้ที่ดิน

ผู้ให้ข้อมูลทั้ง 2 รายเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวของจีนน่าจะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจากการที่ไต้หวันกำลังจะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือน ม.ค. ซึ่ง เทอร์รี กัว (Terry Gou) ผู้ก่อตั้งฟ็อกซ์คอนน์ ก็ลงแข่งขันในฐานะผู้สมัครอิสระด้วย

โกลบอลไทม์สซึ่งเป็นสื่อแท็บลอยด์ภาษาอังกฤษในเครือพีเพิลส์เดลีรายงานเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (22 ต.ค.) ว่า การที่ กัว ลงสมัครชิงประธานาธิบดีจะเป็นการไปแย่งคะแนนจากผู้สมัครของพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และไปเพิ่มโอกาสคว้าชัยชนะให้แก่เต็งหนึ่งอย่างรองประธานาธิบดี วิลเลียม ไล่ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่มีจุดยืนต้านจีน

จีนยืนยันว่าไต้หวันเป็นดินแดนในอธิปไตยของตน และไม่ต้องการเห็น ไล่ ได้เป็นผู้นำคนใหม่ของไทเป เนื่องจากมองว่าเป็นพวก “แบ่งแยกดินแดน” ขณะที่ ไล่ ย้ำว่าอนาคตของเกาะประชาธิปไตยแห่งนี้มีเพียงชาวไต้หวันเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน

ด้านพรรคฝ่ายค้านก๊กมินตั๋งออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ใช่พรรค “โปรปักกิ่ง” แต่พร้อมจะฟื้นฟูการเจรจากับจีนหากได้รับชัยชนะ และพรรคไม่มีจุดยืนนำไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ


ระหว่างแถลงข่าวที่กรุงไทเป รองประธานาธิบดี ไล่ ระบุว่าจีนควรที่จะ “ทะนุถนอม” ภาคธุรกิจไต้หวันเอาไว้ เนื่องจากมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก

“ในช่วงเลือกตั้งเช่นนี้ จีนไม่จำเป็นที่จะต้องกดดันให้บริษัทไต้หวันต้องประกาศเลือกข้าง หรือสนับสนุนผู้สมัครคนใด” ไล่ กล่าว

ไล่ ยังเตือนด้วยว่า มาตรการตรวจสอบฟ็อกซ์คอนน์ อาจทำให้ภาคธุรกิจไต้หวันหมดความเชื่อมั่นในจีน และหากพวกเขากลัวจนย้ายฐานการผลิตออกไปที่อื่น ก็จะเป็นความสูญเสียใหญ่หลวงสำหรับจีนเอง

ฟ็อกซ์คอนน์กำลังมองหาลู่ทางกระจายฐานการผลิตสินค้าออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในแหล่งข่าวเชื่อว่าอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปักกิ่งใช้มาตรการกดดันครั้งนี้ด้วย

กัว ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องฟ็อกซ์คอนน์ถูกจีนสอบสวน โดยทีมหาเสียงของเขายืนยันว่า กัว ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานภายในบริษัทแล้ว แม้จะยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ก็ตาม

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระดับสูงในไต้หวันให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลไทเปประเมินว่าผู้นำจีน “น่าจะไม่ค่อยพอใจ” กับการเสนอรายงานของโกลบอลไทม์ส เพราะเท่ากับเปิดช่องให้พรรค DPP ซึ่งมี ไล่ เป็นประธานพรรคสบโอกาสกล่าวหาจีนว่าพยายามแทรกแซงศึกเลือกตั้ง และโกยคะแนนนิยมจากคนไต้หวันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังไม่เคยแถลงยืนยันว่ามีการตรวจสอบฟ็อกซ์คอนน์ อีกทั้งสื่อจีนก็ไม่เสนอรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น