xs
xsm
sm
md
lg

เอาให้ชัวร์! เจ้าหน้าที่ IAEA เก็บตัวอย่างปลาในตลาดใกล้ ‘รฟ.ฟุกุชิมะ’ ไปตรวจวัดรังสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจสอบจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เก็บตัวอย่างปลาในตลาดอาหารทะเลแห่งหนึ่งใกล้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไปตรวจวัดระดับรังสีปนเปื้อนในวันนี้ (19 ต.ค.) หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าเมื่อเดือน ส.ค.

จีนและรัสเซียได้สั่งแบนอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นทันทีที่การปล่อยน้ำเริ่มขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นยืนยันว่าน้ำได้ผ่านการบำบัดและกรองเอารังสีอันตรายออกไปจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็ออกมาสนับสนุน

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 หน่วยของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิได้รับความเสียหายรุนแรงจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเมื่อปี 2011 ซึ่งทำให้แท่งเชื้อเพลิงเกิดการหลอมละลาย

ทางโรงไฟฟ้าได้กักเก็บน้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เอาไว้ในแท็งก์ขนาด 1,400 ลูกบาศก์เมตรมากกว่า 1,000 แท็งก์ ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำมากพอๆ กับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 540 สระรวมกัน

รัฐบาลโตเกียวระบุว่า น้ำปนเปื้อนเหล่านี้ถูกกรองด้วยเทคโนโลยี ALPS ซึ่งจะกำจัดสารกัมมันตรังสีไปได้เกือบหมด ยกเว้นทริเทียม (tritium) จากนั้นจะนำไปเจือจางกับน้ำทะเลอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะปล่อยออกสู่มหาสมุทร
ญี่ปุ่นยืนยันด้วยว่า จากผลการตรวจสอบพบปริมาณทริเทียมอยู่ในขั้นที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล

คณะทำงานของ IAEA ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากจีน เกาหลีใต้ และแคนาดา ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลา น้ำทะเล และดินตะกอนไปทำการตรวจเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ เพื่อพิสูจน์ว่าผลตรวจของญี่ปุ่นนั้นถูกต้องเป็นที่น่าเชื่อถือหรือไม่

พอล แมคกินนิตี หนึ่งในผู้ตรวจสอบจาก IAEA บอกกับสื่อมวลชนว่า วัตถุประสงค์ของการสุ่มตรวจครั้งนี้ “ก็เพื่อให้มั่นใจว่า ห้องปฏิบัติการของญี่ปุ่นได้ตรวจวัดและวิเคราะห์ (ระดับทริเทียม) อย่างถูกต้องเหมาะสม”

“ทริเทียมเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายยังกังวล เนื่องจากไม่สามารถถูกกำจัดด้วยเทคโนโลยี ALPS ได้”

“ผมพูดได้ว่าเราคาดว่าคงจะไม่พบความเปลี่ยนแปลง (ของระดับทริเทียม) โดยเฉพาะในปลา แต่เราคาดว่าอาจจะพบค่าทริเทียมสูงขึ้นเล็กน้อยในตัวอย่างน้ำทะเลที่อยู่ใกล้กับจุดปล่อยน้ำ นอกนั้นคิดว่าไม่มีปัญหา และเชื่อว่าระดับกัมมันตรังสีน่าจะใกล้เคียงกับที่เคยตรวจไว้เมื่อปีที่แล้ว”

ตัวอย่างเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยังห้องปฏิบัติการในประเทศของเจ้าหน้าที่แต่ละคน เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างอิสระ ก่อนที่ IAEA จะนำผลที่ได้มาประเมินและทำการเผยแพร่

สัปดาห์นี้ รัสเซียเริ่มใช้มาตรการแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นตามอย่างจีน ทว่าปริมาณการนำเข้าไม่ได้มากนักอยู่แล้ว

ญี่ปุ่นวิจารณ์คำสั่งแบนสินค้าของจีนว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแอบแฝง และล่าสุดก็บอกว่ามาตรการของรัสเซียนั้น “ไม่เป็นธรรม” และ “ปราศจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ”

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น