INSIGHT-How Israel was duped as Hamas planned devastating assault
By Samia Nakhoul and Jonathan Saul, REUTERS
09/10/2023
ขณะที่อิสราเอลถูกชักนำให้หลงเชื่อว่าพวกเขาสามารถควบคุมปิดล้อมฮามาสที่เหนื่อยหน่ายอ่อนล้ากับการทำสงครามได้อย่างอยู่หมัด ด้วยการจัดหาแรงจูงใจต่างๆ ทางเศรษฐกิจให้แก่เหล่าผู้ใช้แรงงานชาวกาซานั้นเอง พวกนักรบของกลุ่มนี้กลับกำลังเข้ารับการฝึกและดำเนินการซักซ้อมการโจมตี โดยบ่อยครั้งกระทำกันอย่างชนิดมองเห็นได้ง่ายๆ ด้วยตาเปล่าด้วยซ้ำ
ยุทธการล่อลวงที่ดำเนินการกันอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่า อิสราเอลจะอยู่ในสภาพตกตะลึงตั้งตัวไม่ติด เมื่อพวกนักรบอิสลามิสต์ปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสเปิดฉากการโจมตีแบบวินาศสันตะโรของตน โดยสามารถใช้ทั้งรถบูลโดเซอร์ เครื่องร่อนแฮงไกลเดอร์ (hang glider) และรถมอเตอร์ไซค์เข้าจัดการกับกองทัพรัฐยิวที่ได้ชื่อว่าเป็นกองทัพทรงอำนาจที่สุดของภูมิภาคตะวันออกกลาง
การถูกบุกจู่โจมเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (7 ต.ค.) ซึ่งเป็นการความพลั้งพลาดปล่อยให้แนวป้องกันเกิดช่องโหว่ครั้งเลวร้ายที่สุดของอิสราเอล นับตั้งแต่ที่เคยเสียท่ากองทัพผสมของฝ่ายอาหรับในการทำสงครามเมื่อปี 1973 บังเกิดขึ้นได้ภายหลังจากฝ่ายฮามาสใช้เวลาถึง 2 ปีในการอำพรางและหลอกล่อ ซึ่งรวมถึงการเก็บงำแผนการทางทหารของตนเอาไว้อย่างมิดชิด และการทำให้อิสราเอลเกิดความแน่ใจขึ้นว่าฮามาสไม่ได้ต้องการจะสู้รบทำศึกแล้ว
ขณะที่อิสราเอลถูกชักนำให้หลงเชื่อว่าพวกเขาสามารถควบคุมปิดล้อมฮามาสที่เหนื่อยหน่ายอ่อนล้ากับการทำสงครามได้อย่างอยู่หมัด ด้วยการจัดหาแรงจูงใจต่างๆ ทางเศรษฐกิจให้แก่เหล่าผู้ใช้แรงงานชาวกาซานั้นเอง พวกนักรบของกลุ่มนี้กลับกำลังเข้ารับการฝึกและดำเนินการซักซ้อมการโจมตี โดยบ่อยครั้งกระทำกันอย่างชนิดมองเห็นได้ง่ายๆ ด้วยตาเปล่าด้วยซ้ำ แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับฮามาสเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์
แหล่งข่าวรายนี้ให้รายละเอียดจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องราวการโจมตีคราวนี้ รวมทั้งช่วงของการทำให้แผนการนี้กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ซึ่งรอยเตอร์ได้นำเอามาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันจนเห็นเป็นภาพชัดเจน ทั้งนี้ ยังมีแหล่งข่าวอีก 3 รายภายในสถาบันด้านความมั่นคงของอิสราเอล ซึ่งมีส่วนสร้างความสมบูรณ์ให้รายงานข่าวชิ้นนี้ด้วย โดยพวกเขาก็ขอสงวนนามเช่นเดียวกับแหล่งข่าวรายอื่นๆ
“ฮามาสทำให้อิสราเอลเกิดความประทับใจว่า พวกเขาไม่มีความพรักพร้อมที่จะทำการสู้รบ” เป็นคำกล่าวของแหล่งข่าวรายที่ใกล้ชิดกับฮามาส ขณะบรรยายถึงแผนการต่างๆ ในคราวนี้ ซึ่งถือเป็นการจู่โจมครั้งที่สร้างความตื่นตะลึงได้มากที่สุด นับจาก “สงครามยม คีปปูร์” (Yom Kippur War) เมื่อ 50 ปีก่อน ตอนที่อียิปต์และซีเรียจับมือกันสร้างเซอร์ไพรส์ให้อิสราเอล และทำเอารัฐยิวต้องสู้รบอย่างชนิดดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
“ฮามาสใช้ยุทธวิธีด้านข่าวกรองชนิดที่ไม่เคยกระทำกันมาก่อน เพื่อชักนำอิสราเอลให้เข้าใจผิดในช่วงหลายๆ เดือนท้ายๆ ด้วยการสร้างความประทับใจขึ้นมาในหมู่สาธารณชนว่า พวกเขาไม่มีความปรารถนาที่จะเข้าสู้รบหรือประจันหน้ากับอิสราเอลอีกแล้ว แต่พร้อมๆ กันนี้ ก็แอบเตรียมตัวสำหรับการปฏิบัติการครั้งใหญ่โตมโหฬารคราวนี้” แหล่งข่าวรายนี้บอก
ฝ่ายอิสราเอลก็ยอมรับว่าพวกเขาไม่ทันระวังตั้งตัวเมื่อถูกโจมตีในครั้งนี้ ซึ่งกำหนดเวลาเอาไว้ให้สอดคล้องกับช่วงวันหยุดรำลึกวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว โดยที่พวกนักรบฮามาสได้ยกกำลังบุกเข้าไปยังเมืองเล็กเมืองน้อยของอิสราเอลอย่างรวดเร็ว เข่นฆ่าชาวอิสราเอลไปหลายร้อยคน (ล่าสุดมีการปรับตัวเลขเป็นกว่า 1,300 คน -ผู้แปล) และจับกุมเอาไปเป็นตัวประกันอีกหลายสิบคน (โดยที่ผู้ถูกสังหารและถูกจับตัวก็มีชาวต่างชาติ รวมทั้งคนไทยด้วย) จากนั้นมาอิสราเอลก็ได้ตอบโต้ล้างแค้นเอากับดินแดนกาซา ซึ่งได้เข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 400 คน (ล่าสุด เพิ่มเป็นกว่า 2,000 คนแล้ว และทำท่าจะสูงลิ่วยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก)
“นี่คือเหตุการณ์ 9/11 ของเรา” พ.ต.นีร์ ดินาร์ (Nir Dinar) ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกคนหนึ่งให้แก่กองทัพอิสราเอล ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองกำลังป้องกันของชาวอิสราเอล (Israeli Defence Forces หรือ IDF) บอก “พวกเขาเล่นงานเราอย่างอยู่หมัด”
“พวกเขาจู่โจมตีเราแบบเซอร์ไพรส์ และพวกเขาบุกเข้ามาเร็วมากจากจุดต่างๆ หลายๆ จุด -ทั้งจากทางอากาศ ทางภาคพื้นดิน และทางทะเล”
อุซามะห์ ฮัมดัน (Osama Hamdan) ผู้แทนของกลุ่มฮามาสในเลบานอน บอกกับรอยเตอร์ว่า การโจมตีครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวปาเลสไตน์มีเจตจำนงที่จะบรรลุถึงเป้าหมายต่างๆ ของพวกตน “โดยไม่ได้ระย่อยำเกรงแสนยานุภาพและสมรรถนะทางทหารของอิสราเอล”
“พวกเขาปล่อยเต็มที่ไม่มียั้ง”
หนึ่งในส่วนประกอบของการตระเตรียมของพวกเขาที่ชวนให้ตื่นตะลึงกันมากที่สุด ก็คือ ฮามาสได้ก่อสร้างชุมชนจำลองของคนอิสราเอลในกาซาขึ้นมา ซึ่งพวกเขาใช้ฝึกหัดการเคลื่อนกำลังทหารไปถึงที่นั่น ตลอดจนฝึกฝนการบุกจู่โจมเข้าไปในชุมชน แหล่งข่าวรายที่ใกล้ชิดกับฮามาสบอก พร้อมกับเสริมว่า พวกเขาถึงขั้นจัดทำวิดีโอเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังด้วยซ้ำไป
“แน่นอนทีเดียวว่าอิสราเอลมองเห็นสิ่งเหล่านี้ แต่พวกเขายังคงแน่ใจว่าฮามาสไม่ได้มีความต้องการที่จะเข้าสู่การเผชิญหน้ากัน” แหล่งข่าวรายนี้กล่าว
เวลาเดียวกัน ฮามาสยังหาทางทำให้อิสราเอลมีความแน่ใจว่า ฮามาสสนใจใยดีมากกว่ากับเรื่องการสร้างหลักประกันให้พวกคนงานในกาซา (ซึ่งเป็นดินแดนเรียวยาวเล็กๆ แคบๆ ที่มีผู้คนพำนักอาศัยกันหนาแน่นถึงกว่า 2 ล้านคน) สามารถเข้าถึงตำแหน่งงานในดินแดนอิสราเอลที่อยู่อีกฟากหนึ่งของพรมแดน และไม่มีความสนใจที่จะเริ่มต้นสงครามครั้งใหม่
“ฮามาสประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่หมดขึ้นมา ทำให้เห็นไปว่า พวกเขาไม่พร้อมสำหรับการผจญภัยทางทหารด้วยการเข้าสู้รบกับอิสราเอล” แหล่งข่าวรายนี้ย้ำ
ตั้งแต่การทำสงครามครั้งสุดท้ายกับฮามาสเมื่อปี 2021 อิสราเอลก็หันมาสนใจกับการทำให้ดินแดนกาซาเกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับพื้นฐาน ด้วยการเสนอแรงจูงใจต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการออกใบอนุญาตเป็นพันเป็นหมื่นฉบับ เพื่อให้ชาวกาซาสามารถเข้าไปทำงานในอิสราเอล หรือไม่ก็ในเวสต์แบงก์ ซึ่งค่าจ้างเงินเดือนในตำแหน่งงานทั้งทางด้านการก่อสร้าง เกษตรกรรม และบริการ อาจจะสูงเป็น 10 เท่าตัวของระดับที่ว่าจ้างกันในกาซา
“เราเชื่อว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงอยู่ว่าพวกเขาสามารถเข้ามาทำงานในอิสราเอล และนำเอาเงินทองกลับไปยังกาซา มันก็จะสามารถสร้างความสงบขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง แต่พวกเราผิดพลาดเสียแล้ว” โฆษกอีกผู้หนึ่งของกองทัพอิสราเอลกล่าว
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลรายหนึ่ง กล่าวยอมรับว่าพวกหน่วยงานความมั่นคงของอิสราเอลถูกฮามาสหลอก “พวกเขาทำให้เราคิดไปว่าพวกเขาต้องการเงิน” แหล่งข่าวรายนี้กล่าว “แต่ตลอดเวลาเหล่านั้น พวกเขาก็ลงมือฝึก/ลงมือซ้อม จนกระทั่งถึงเวลาที่พวกเขาปล่อยออกมาได้อย่างเต็มที่ไม่มียั้ง”
ส่วนหนึ่งของแผนการหลอกลวงของพวกเขาในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาก็คือ ฮามาสยอมหลีกเว้นไม่ลงมือปฏิบัติการทางทหารใดๆ ต่ออิสราเอล แม้กระทั่งในเวลาที่กลุ่มอิสลามิสต์ติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งฐานอยู่ในกาซาเช่นกัน ซึ่งมีชื่อว่า กลุ่ม “อิสลามิกญิฮัด” (Islamic Jihad) เปิดการจู่โจมหรือการใช้จรวดโจมตีอย่างต่อเนื่องเป็นชุดของพวกเขาเองขึ้นมา
ไม่ทำอะไรที่จะทำให้เกิดความเฉลียวใจ
ความบันยะบันยังที่ฮามาสแสดงออกมาให้เห็น ทำให้พวกผู้สนับสนุนของพวกเขาบางส่วนออกมาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย นี่ก็เช่นกันมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความประทับใจขึ้นมาว่าฮามาสมีความกังวลสนใจอยู่กับเรื่องทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีความคิดเกี่ยวกับการเปิดสงครามครั้งใหม่อยู่ในสมอง แหล่งข่าวรายนี้บอก
ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งควบคุมโดย มาหมุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ผู้มีตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ และกลุ่มฟาตะห์ (Fatah) ของเขา มีพวกที่ออกมาเยาะหยันล้อเลียนฮามาสที่กำลังอยู่กันอย่างเงียบเชียบ ในคำแถลงฉบับหนึ่งของกลุ่มฟาตะห์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 กลุ่มนี้ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาช่วงชิงอำนาจกับฮามาสมายาวนาน ได้กล่าวหาพวกผู้นำฮามาสว่ากำลังหลบลี้หนีหน้าไปพำนักยังเมืองหลวงต่างๆ ของโลกอาหรับเพื่อใช้ชีวิตอยู่ใน “โรงแรมและวิลล่าหรูหรา” ทอดทิ้งประชาชนของพวกเขาให้อยู่อย่างยากจนต่อไปในกาซา
แหล่งข่าวที่เป็นชาวอิสราเอลรายที่สองเล่าว่า มีอยู่ระยะหนึ่งซึ่งอิสราเอลเชื่อว่า ยาห์ยา อัล-ซินวาร์ (Yahya Al-Sinwar) ผู้นำของขบวนการฮามาสในกาซา เอาแต่ยุ่งวุ่นวายอยู่กับการบริหารจัดการกาซา “มากกว่าเรื่องการเข่นฆ่าชาวยิว” จังหวะเวลานั้นเอง อิสราเอลยังหันโฟกัสของตนออกจากเรื่องฮามาส ขณะที่พยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติกับซาอุดีอาระเบียอีกด้วย เขากล่าวต่อ
อิสราเอลนั้นมีความภาคภูมิใจตนเองมาอย่างยาวนานในเรื่องที่มีความสามารถแทรกซึมเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามิสต์กลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุนี้ แหล่งข่าวรายที่ใกล้ชิดกับฮามาสบอกว่า ส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของแผนการนี้จึงเป็นเรื่องของการพยายามหลีกเลี่ยง พยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลขึ้นมาได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้นำฮามาสจำนวนมากจึงไม่ได้ตระหนักรับรู้เกี่ยวกับแผนการเหล่านี้เลย และในขณะที่ทำการฝึก พวกนักรบ 1,000 คนซึ่งถูกระดมเรียกตัวเข้าร่วมในการจู่โจมครั้งนี้ ก็ไม่ได้เกิดความเฉลียวใจใดๆ เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการฝึกหัด แหล่งข่าวรายนี้เล่าต่อ
เมื่อถึงวันลงมือ การปฏิบัติการได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน แหล่งข่าวฮามาสรายนี้บอก พร้อมกับบอกเล่ารายละเอียดของแต่ละส่วนประกอบให้ฟัง
ความเคลื่อนไหวประการแรกได้แก่การยิงจรวดจากกาซาเข้าไปยังอิสราเอลอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 3,000 ลูก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการรุกล้ำข้ามพรมแดนเข้าไปในอิสราเอลของกลุ่มนักรบที่ใช้เครื่องร่อนแฮงก์ไกลเดอร์สำหรับการเดินทางโดยทางอากาศ แหล่งข่าวรายนี้กล่าว ทั้งนี้ก่อนหน้านี้อิสราเอลระบุว่าในตอนแรกมีจรวดถูกยิงเข้ามาจำนวน 2,500 ลูก
ในทันทีที่พวกนักรบซึ่งบินด้วยเครื่องร่อนไปถึงจุดหมายและร่อนลงสู่พื้นดินแล้ว พวกเขาก็รีบสร้างความมั่นคงให้แก่พื้นที่ เพื่อเปิดทางให้หน่วยคอมมานโดชั้นนำหน่วยหนึ่ง สามารถเข้าทำลายกำแพงซีเมนต์ติดตั้งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่เป็นป้อมค่ายชั้นดี ซึ่งเป็นตัวที่แบ่งแยกดินแดนกาซาออกจากนิคมต่างๆ ของชาวยิวในบริเวณใกล้ชายแดน โดยที่แนวกำแพงนี้อิสราเอลสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแทรกซึมนั่นเอง
พวกนักรบเหล่านี้ใช้วัตถุระเบิดในการทำลายแนวกำแพงให้แตกเป็นช่อง จากนั้นก็เร่งความเร็วข้ามชายแดนเข้าไปในดินแดนอิสราเอลโดยอาศัยรถมอเตอร์ไซค์ ถัดจากนั้นฮามาสก็จะใช้พวกรถบูลโดเซอร์มาขยายช่องแตกให้กว้างยิ่งขึ้น และนักรบจำนวนมากขึ้นอีกก็ข้ามเข้าไป โดยอาศัยพวกรถโฟร์วีลไดรฟ์ พวกผู้เห็นเหตุการณ์เล่าฉากที่เกิดขึ้นให้ฟัง
“ความผิดพลาดครั้งมโหฬาร”
หน่วยคอมมานโดหน่วยหนึ่งของฮามาส บุกเข้าโจมตีกองบัญชาการดินแดนกาซาตอนใต้ของกองทัพอิสราเอล และส่งสัญญาณรบกวนการติดต่อสื่อสารของฝ่ายอิสราเอล โดยมุ่งป้องกันไม่ให้บุคลากรต่างๆ เรียกผู้บังคับบัญชา หรือติดต่อระหว่างกันเองได้ แหล่งข่าวรายนี้เล่าต่อ
สำหรับส่วนประกอบสุดท้าย เป็นพวกที่รับหน้าที่เคลื่อนย้ายพวกตัวประกันกลับไปยังกาซา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำกันได้สำเร็จตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการโจมตีแล้ว แหล่งข่าวรายที่ใกล้ชิดกับฮามาสบอก
หนึ่งในเหตุการณ์จับตัวประกันที่มีการเผยแพร่ตีข่าวกันอย่างเอิกเกริก ได้แก่การที่พวกนักรบเข้าจับตัวพวกนักเที่ยวนักปาร์ตี ซึ่งหลบหนีจากงานแสดงดนตรีที่จัดขึ้นใกล้ๆ กับนิคมคิบบุตซ์ เรอิม (kibbutz of Re'im) ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนกาซานิดเดียว คลิปที่โพสต์ทางโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นผู้คนหลายสิบคนทีเดียวกำลังวิ่งตัดทุ่งกว้าง ตลอดจนวิ่งไปบนถนน ขณะที่มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ
“ทำไมงานปาร์ตีนี้ถึงสามารถมาจัดกันใกล้ๆ (กับกาซา) ขนาดนี้ได้?” แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลรายหนึ่งแสดงความฉงน
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลรายนี้กล่าวอีกว่า กองทหารอิสราเอลในพื้นที่ภาคใต้ใกล้ๆ กับกาซา อยู่ในสภาพซึ่งมีความแข็งแกร่งไม่เต็มที่ เนื่องจากกำลังบางส่วนได้ถูกโยกย้ายไปทางเขตเวสต์แบงก์เพื่อทำหน้าที่ปกป้องพวกชาวอิสราเอลที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่นั่น หลังจากเกิดความรุนแรงพุ่งพรวดขึ้นระหว่างพวกเขากับพวกนักรบปาเลสไตน์
“พวกเขา (ฮามาส) หาประโยชน์ได้มากมายจากตรงนี้” แหล่งข่าวผู้นี้บอก
ยาคอฟ อามิดรอร์ (Yaakov Amidror) นายพลตรีเกษียณอายุซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนหนึ่งของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู บอกกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมว่า การถูกฮามาสจู่โจมครั้งนี้เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึง “ความผิดพลาดครั้งมโหฬารของระบบข่าวกรองและกลไกทางทหารในภาคใต้”
อามิดรอร์ ซึ่งเคยเป็นประธานของสภาความมั่นคงแห่งชาติในช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2011 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2013 และเวลานี้เป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และความมั่นคงเยรูซาเลม (Jerusalem Institute for Strategy and Security) กล่าวว่า มีพันธมิตรบางรายของอิสราเอลเคยพูดว่า ฮามาส “แสดงให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นแล้ว”
“เราก็โง่เขลาเริ่มไปเชื่อว่ามันเป็นความจริง” เขากล่าว “ดังนั้น เราจึงทำความผิดพลาด เราจะไม่ยอมทำความผิดเช่นนี้อีกแล้ว และเราจะทำลายฮามาส ทำลายอย่างช้าๆ แต่เต็มไปด้วยความแน่นอน”
หมายเหตุผู้แปล
นอกจากบทความเจาะลึกข้างต้นแล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์ยังได้รวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มฮามาส มาเสนอไว้เป็นข้อเขียนต่างหากอีกชิ้นหนึ่ง ผู้แปลจึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้ ดังนี้:
FACTBOX กลุ่มฮามาสคือใคร? มาจากไหน?
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
FACTBOX-What is the Palestinian group Hamas?
By Reuters
07/10/2023
กลุ่มชาวปาเลสไตน์ “ฮามาส” เปิดฉากการโจมตีแบบเซอร์ไพรส์จากดินแดนกาซาเข้าไปยังอิสราเอล กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์บานปลายขยายตัวอย่างสาหัสร้ายแรงที่สุดของการสู้รบขัดแย้งกันระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในรอบระยะเวลาหลายๆ ปี
ฮามาส คือใคร?
- ฮามาส (Hamas) หรือขบวนการฝ่ายต่อต้านแห่งอิสลาม (Islamic Resistance Movement) ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ระหว่างที่เกิด Intifada หรือการลุกฮือขึ้นมาของชาวปาเลสไตน์เป็นครั้งแรก (the first Palestinian Intifada) กลุ่มนี้ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน (ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายชิอะห์) และมีอุดมการณ์แบบอิสลามิสต์ (Islamist ideology) อย่างเดียวกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในอียิปต์ในช่วงทศวรรษ 1920
- กลุ่มฮามาสเป็นผู้บริหารปกครองดินแดนฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2007 ภายหลังทำสงครามกลางเมืองเป็นเวลาสั้นๆ กับพวกกองกำลังอาวุธที่จงรักภักดีต่อขบวนการฟาตะห์ (Fatah) ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีมาหมุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ที่ปัจจุบันตั้งฐานอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) และยังคงเป็นประธานขององค์การปลดแอกปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization หรือ PLO)
ฮามาสเข้าครองอำนาจในกาซา ภายหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปาเลสไตน์เมื่อปี 2006 –ซึ่งก็เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการจัดกันขึ้นมา ฮามาสกล่าวหา อับบาส ว่าสมคบคิดกับฝ่ายต่างๆ เพื่อเล่นงานคัดค้านตน ส่วน อับบาส เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจ
ตั้งแต่นั้นมา กลุ่มนี้มีการสู้รบขัดแย้งกับอิสราเอลอยู่หลายรอบ บ่อยครั้งทีเดียวเกี่ยวข้องกับการที่ฮามาสยิงจรวดจากกาซาโจมตีเข้าไปในอิสราเอล และการที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศ ตลอดจนใช้ปืนใหญ่และจรวดถล่มใส่กาซา
- กลุ่มฮามาสปฏิเสธไม่ยอมรับรองฐานะความเป็นรัฐของอิสราเอล และคัดค้านอย่างรุนแรงต่อข้อตกลงสันติภาพกรุงออสโล (Oslo peace accords) ที่เกิดจากการเจรจากันระหว่างอิสราเอล กับ PLO ในช่วงกลางทศวรรษ 1990
- ฮามาสมีส่วนประกอบที่เป็นกองกำลังใช้ชื่อว่า กองกำลังอาวุธ อิซซ์ เอล-ดีน อัล-กอสซัม (Izz el-Deen al-Qassam Brigades) ซึ่งคอยจัดส่งมือปืนและมือระเบิดฆ่าตัวตายเข้าไปในอิสราเอล ฮามาสเรียกกิจกรรมใช้กำลังอาวุธของตนว่า เป็นการต่อต้านคัดค้านการยึดครองของอิสราเอล
ในธรรมนูญก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี 1988 ของฮามาส มีข้อความเรียกร้องให้ทำลายอิสราเอล ถึงแม้พวกผู้นำฮามาสมีการยื่นเสนอจัดทำข้อตกลงหยุดยิงระยะยาว หรือที่เรียกว่า ฮุดนา (Hudna) ในภาษาอาหรับ แก่ฝ่ายอิสราเอลอยู่เป็นระยะๆ โดยเงื่อนไขข้อแลกเปลี่ยนคือ ให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมา ซึ่งจะครอบครองดินแดนทั้งหมดของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครองเอาไว้ในครั้งสงครามปี 1967 อิสราเอลถือเรื่องนี้ว่าเป็นเพียงเล่ห์กลอย่างหนึ่ง
- กลุ่มฮามาสถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นองค์การผู้ก่อการร้ายโดยอิสราเอล สหรัฐฯ.สหภาพยุโรป แคนาดา อียิปต์.และญี่ปุ่น
- ฮามาสเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาค ที่ประกอบด้วย อิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามิสต์นิกายชิอะห์ในเลบานอน โดยพวกเขาทั้งหมดต่างคัดค้านนโยบายสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางและคัดค้านอิสราเอล
- ขณะที่ฐานอำนาจของกลุ่มอยู่ในกาซา แต่ฮามาสยังมีผู้สนับสนุนในตลอดทั่วดินแดนต่างๆ ของชาวปาเลสไตน์ และฮามาสได้จัดส่งผู้นำของตนกระจายไปอยู่กันในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นต้นว่า กาตาร์