ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้ทะเลสาบธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเกิดการพังทลายจนก่อวิกฤตน้ำท่วมฉับพลันในรัฐสิกขิมของอินเดีย โดยรายงานในวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 14 ราย และยังมีผู้สูญหายไม่ทราบชะตากรรมอีก 102 คน ถือเป็นภัยพิบัติครั้งเลวร้ายที่สุดของภูมิภาคแถบนี้ในรอบระยะเวลากว่า 50 ปี
ทะเลสาบโลนัค ในรัฐสิกขิม ของอินเดีย มีปริมาณน้ำเอ่อล้นจนพังทลายเมื่อวันพุธ (4 ) ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้น และมีประชาชนได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 22,000 คน ตามรายงานของเจ้าหน้าที่
ภัยพิบัติครั้งนี้ยังถือเป็นสัญญาณเตือนว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงอยู่ของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงในภูมิภาคเอเชียใต้
สำนักงานอุตุนิยมวิทยารายงานว่า รัฐสิกขิมได้รับน้ำฝนรวม 101 ม.ม. (4 นิ้ว) ในระยะ 5 วันแรกของเดือนตุลาคม กว่าสองเท่าตัวของระดับปกติ เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมหนักอย่างเลวร้ายยิ่งกว่าครั้งที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 1968 โดยในคราวนี้ประมาณการกันว่ามีคนเสียชีวิตไปราว 1,000 คน
ทางสำนักงานยังพยากรณ์ว่าฝนจะตกหนักต่อไปในอีก 3 วันข้างหน้าในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของสิกขิมและรัฐซึ่งอยู่ใกล้เคียง
ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบอกว่า อุทกภัยครั้งล่าสุดนี้ยังถูกซ้ำเติมให้รุนแรงยิ่งขึ้นจากน้ำซึ่งออกจากเขื่อนติสตา 5 (Teesta V) ของบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำ NHPC ของรัฐบาลอินเดีย แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งเผยกับรอยเตอร์ว่า ประตูน้ำของเขื่อนแห่งนี้ 4 ประตูได้ถูกกระแสน้ำซัดหายไป และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบจึงไม่ได้รีบเปิดประตูเพื่อระบายน้ำให้ทันการณ์
ด้านสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งรัฐสิกขิมแถลงอัปเดตสถานการณ์จนถึงเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) ว่า มีรายงานผู้บาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 26 คน สูญหาย 102 คน ในจำนวนนี้เป็นทหาร 22 นาย และยังมีสะพานที่ถูกน้ำซัดพังไปอีก 11 แห่ง เป็นการเพิ่มอุปสรรคให้แก่ปฏิบัติการกู้ภัย ซึ่งก็ดำเนินไปอย่างลำบากมากอยู่แล้วจากฝนที่ยังคงกระหน่ำหนัก
มีรายงานว่าพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในบังกลาเทศที่เป็นเพื่อนบ้านติดกับอินเดีย ก็ถูกสั่งให้เตรียมพร้อมแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของคณะกรรมการพัฒนาน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐแถลงเตือนว่า มี 5 อำเภอทางภาคเหนือของประเทศอาจจมน้ำจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วของแม่น้ำตีสตา ซึ่งไหลเข้าสู่บังกลาเทศหลังออกจากรัฐสิกขิม
ขณะที่โฆษกกองทัพอินเดียแถลงว่า “ปฏิบัติการค้นหายังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าฝนจะตกไม่หยุด น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากในแม่น้ำตีสตา ทำให้ถนนและสะพานพังเสียหายหลายจุด” โดยที่ยังคงมีความพยายามขุดเอารถราต่างๆ ซึ่งจมอยู่ใต้ดินโคลนที่เขตบูรดาง ใกล้ๆ เมืองซิงทาม ส่วนการค้นหาบุคคลสูญหายเวลานี้มุ่งโฟกัสไปยังพื้นที่ซึ่งอยู่ตอนล่างลงมาของแม่น้ำตีสตา
ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในระยะนี้ส่งผลให้ทะเลสาบโลนัค ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฐานของธารน้ำแข็งรอบๆ ยอดเขาคังเช็นเจองา ที่มีความสูงมากเป็นอันดับ 3 ของโลกเกิดการแตกทำลาย และเมื่อมวลน้ำจากบนภูเขาไหลหลากลงมายังแม่น้ำที่เอ่อท้นจากอิทธิพลของฝนในฤดูมรสุมอยู่แล้วจึงทำให้เขื่อนแตก พัดพาเอาบ้านเรือนและสะพานจมหายไปกับกระแสน้ำ
ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเผยให้เห็นว่าทะเลสาบโลนัคเหือดแห้งไปราวๆ 2 ใน 3
วิดีโอที่ถ่ายโดยสำนักข่าวเอเอ็นไอของอินเดีย แสดงให้เห็นน้ำที่ท่วมท้นกำลังเอ่อสูงขึ้นมาทำให้บ้านจำนวนมากพังทลาย ค่ายทหารตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ก็ได้รับเสียหาย และยวดยานหลายคันจมอยู่ในกระแสน้ำ
เปมา กยัมตโช ผู้อำนวยการใหญ่ของศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาอย่างมีการบูรณาการ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในเนปาล ชี้ว่า น้ำท่วมฉับพลันคราวนี้ เป็นระลอกล่าสุดของอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นชุดที่โน้นบ้างที่นี่บ้างตลอดทั่วทั้งเขตเทือกเขาฮินดูกูช-เทือกเขาหิมาลัยในฤดูมรสุมปีนี้ ทำให้สภาพความเป็นจริงที่ว่าภูมิภาคแถบนี้มีความอ่อนเปราะอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างถนัดชัดเจนจนน่าเศร้าใจ
ทั้งนี้พื้นที่เทือกเขาอื่นๆ ของอินเดีย ตลอดจนหลายๆ ส่วนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานและเนปาล ต่างถูกกระหน่ำ ทั้งจากฝนที่ตกหนักมากๆ , น้ำท่วมใหญ่, และดินโคลนถล่มในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบชีวิต
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)