สำนักข่าวเอเอฟพีเผยแพร่บทวิเคราะห์กรณีเยาวชนชายอายุ 14 ปี ใช้ปืนสั้นกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนจนมีผู้เสียชีวิต ระบุเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืนในไทย พร้อมอ้างถึง 2 ปัจจัยสำคัญคือการที่ตำรวจบางคนยังลักลอบนำปืนไปขายตามตลาดมืด และวัฒนธรรมวัยรุ่น (youth culture) ที่เชิดชูการถือครองอาวุธ
นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างพากันวิ่งแตกตื่นหนีตายออกจากห้าง หลังจากที่มือปืนเยาวชนเริ่มลั่นไกสังหาร จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 5 คน
ก่อนหน้านี้เพียงราวๆ 1 ปี ก็มีเหตุการณ์ที่อดีตตำรวจคนหนึ่งเข้าไปกราดยิงและใช้มีดไล่แทงภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู จนทำให้มีเด็กเสียชีวิตไปถึง 24 คน ผู้ใหญ่อีก 12 คน ซึ่งอาวุธปืนที่คนร้ายใช้ก็เป็นปืน 9 มม. ที่ซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย
แม้เหตุสลดครั้งนั้นจะเป็นข่าวดังที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก และบีบให้รัฐบาลไทยต้องออกมาให้สัญญาเพิ่มมาตรการคุมเข้มเรื่องอาวุธปืน ทว่าในทางปฏิบัติปืนก็ยังคงเป็นอาวุธที่คนเข้าถึงได้ง่าย และมีคดียิงกันตายปรากฏเป็นข่าวอยู่แทบจะทุกสัปดาห์
อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศจะคุมเข้มเรื่องใบอนุญาตพกปืนตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุกราดยิงสยามพารากอน ทว่าคำมั่นสัญญาในอดีตที่ไม่เคยเป็นผลก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่มั่นใจว่า หลังจากนี้จะมีมาตรการป้องกันที่ได้ผลจริงออกมาหรือไม่
ตามข้อมูลจากเว็บไซค์ GunPolicy.org ไทยจัดเป็นประเทศที่มีอัตราการถือครองปืนสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค โดยคาดว่ามีปืนหมุนเวียนอยู่ในระบบราว 10 ล้านกระบอก หรือคิดเป็นสัดส่วนปืน 1 กระบอกต่อประชากรไทย 7 คน
ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเกือบ 1,300 คนในปี 2019 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ซึ่งมีสถิติอยู่ที่ 130 คน ทั้งที่จำนวนประชากรมากกว่าไทยถึง 40%
ดร.บุญวรา สุมะโน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกมาชี้ถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม (cultural norms) ที่ส่งเสริมให้คนหัดเล่นปืนตั้งแต่อายุยังน้อย
“นักศึกษาตามสถาบันการอาชีวศึกษาต่างๆ หัดทำปืนขึ้นมาเองจนเป็นเรื่องปกติ” ดร.บุญวรา ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ตำรวจระบุว่า เด็กชายวัย 14 ปีซึ่งกราดยิงห้างสยามพารากอนใช้ปืน blank gun ที่ถูกดัดแปลงนำมาใส่กระสุนจริง
“ปัจจัยหนึ่งที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยก็คือ ค่านิยมที่ว่าคุณต้องแข็งแกร่ง ต้องดูมีพลังอำนาจ และการพกปืนก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงออกถึงความแข็งแกร่งนั้น” ดร.บุญวรา กล่าว
ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการนำเข้าปืนที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยผู้ค้าปืนจะถูกจำกัดโควตาการนำเข้าในแต่ละปี อีกทั้งปืนก็มีราคาสูงด้วย ส่วนผู้ที่จะซื้อปืนก็จะต้องมีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป ผ่านการตรวจเช็คประวัติ และต้องให้เหตุผลในการครอบครองปืน เช่น มีไว้เพื่อป้องกันตนเองหรือเพื่อล่าสัตว์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไทยมีโครงการจัดหาอาวุธปืนสวัสดิการแก่ข้าราชการก็ทำให้ปืนหลายแสนกระบอกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา
“ปัญหาสำคัญอยู่ที่โครงการปืนสวัสดิการ” ไมเคิล พิคาร์ด (Michael Picard) นักวิจัยอิสระซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการแพร่กระจายและการทุจริตด้านอาวุธเบา ให้ข้อมูลกับเอเอฟพี
เขาระบุว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้ข้าราชการสามารถซื้อปืนโดยตรงผ่านหน่วยงานในสังกัดโดยได้รับส่วนลด แทนที่จะผ่านกระบวนการขอใบอนุญาตเหมือนพลเรือนทั่วไป และในขณะที่กฎหมายระบุข้อจำกัดเรื่องจำนวนปืนและปริมาณเครื่องกระสุนที่เอกชนสามารถซื้อได้ แต่โครงการปืนสวัสดิการกลับไม่มีข้อกำหนดเหล่านี้
“มันก็เลยนำมาสู่สถานการณ์อันตรายในปัจจุบันที่ตำรวจบางนายเอาปืนที่ซื้อมาได้ถูกๆ ไปขายต่อในตลาดมืดเพื่อทำกำไร” พิคาร์ด กล่าว
ภายหลังเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศระงับโครงการปืนสวัสดิการแบบไม่มีกำหนด ทว่าแหล่งข่าวตำรวจยืนยันกับเอเอฟพีว่า โครงการนี้ “ยังอยู่ดี” เหมือนเดิมทุกประการ
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ให้ข้อมูลอีกว่า พวกเขาอาจต้องจ่ายถึง 100,000 บาทสำหรับปืนที่ซื้อเอง แต่หากซื้อผ่านโครงการสวัสดิการของรัฐก็จะอยู่ที่ราวๆ 30,000-40,000 บาท และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะใช้ปืนส่วนตัวมากกว่าปืนของราชการ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปรับหากทำพังหรือสูญหาย
“ตำรวจที่อยากได้ปืนสามารถใช้เงินส่วนตัวซื้อ หรือจะขอกู้สหกรณ์ตำรวจก็ได้” แหล่งข่าวระบุ
- “ปืน” ชนะ
คำสัญญาของรัฐบาลที่ว่าจะมีการตรวจประเมินสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มข้อจำกัดในการออกใบอนุญาตครอบครองปืน ดูเหมือนจะไม่เคยเกิดขึ้นจริง และแม้ตำรวจทุกนายจะต้องผ่านการตรวจสภาพจิตก่อนเข้ารับราชการ ทว่าการตรวจสอบหลังจากนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก
“ในการทำงานก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาว่าจะสั่งให้ลูกน้องตรวจสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ หรือถ้าตำรวจนายไหนต้องการที่จะตรวจ ก็สามารถดำเนินการเองได้” แหล่งข่าวเผย
รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลกับเอเอฟพีว่า การที่ตำรวจจะถูกยึดปืนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ตัวอย่างเช่นในกรณีของ ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ ซึ่งก่อเหตุคลั่งกราดยิงศูนย์เด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภูก็ไม่ได้ถูกยึดปืนคืน แม้ว่าจะเจ้าตัวจะถูกไล่ออกจากราชการฐานเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ตาม
ดร.บุญวรา ชี้ว่า การที่ไทยยังคงวนลูปอยู่กับการ “รัฐประหาร” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้พลเมืองบางส่วนเลือกที่จะหันไปหาตัวช่วยอื่นๆ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม
“ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้ว ปืนจะชนะ” เธอกล่าว
ที่มา: เอเอฟพี