xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันเปิดตัว ‘เรือดำน้ำ’ ผลิตเองลำแรก ทุ่มงบกว่า 50,000 ล้านต้าน 'จีน' บุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไต้หวันเปิดตัวเรือดำน้ำที่ผลิตเองลำแรกโดยใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของไทเปซึ่งมุ่งมั่นที่จะยกระดับศักยภาพด้านการป้องกันดินแดนเพื่อต่อต้านการรุกรานจากจีน

โครงการพัฒนาเรือดำน้ำถือเป็นส่วนสำคัญในแผนการยกระดับกองทัพไต้หวันสู่ความทันสมัย หลังจากที่จีนได้เปิดการซ้อมรบและส่งเครื่องบิน-เรือเข้าไปปฏิบัติภารกิจข่มขู่ไทเปแทบจะรายวันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการเรือดำน้ำหลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำไต้หวันเมื่อปี 2016 เดินทางไปร่วมพิธีเปิดตัวเรือดำน้ำลำแรกจากทั้งหมด 8 ลำในวันนี้ (28 ก.ย.) ที่เมืองเกาสง (Kaohsiung)

“เมื่อก่อนนี้ การที่ไต้หวันจะผลิตเรือดำน้ำขึ้นเองถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้เลย แต่วันนี้เรือดำน้ำซึ่งออกแบบและผลิตโดยคนในชาติได้ปรากฏต่อสายตาของพวกเราแล้ว” ไช่ กล่าวขณะยืนแถลงข่าวอยู่เบื้องหน้าเรือดำน้ำซึ่งถูกตั้งชื่อว่า “นาร์วาล” (Narwhal) และมีธงชาติไต้หวันคลุมอยู่บริเวณหัวเรือ

ผู้นำหญิงรายนี้ยังระบุด้วยว่า เรือดำน้ำจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำสงครามแบบอสมมาตร (asymmetric warfare) ให้แก่กองทัพเรือไต้หวัน

“ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงหรือความท้าทายมากเพียงใด แต่ไต้หวันก็จำเป็นต้องทำเช่นนี้ เพื่อให้นโยบายการป้องกันประเทศแบบพึ่งตนเองสามารถเติบโตและเจริญรุ่งเรืองบนแผ่นดินของเรา”

โครงการเรือดำน้ำของไต้หวันอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากหลายประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่สำหรับไต้หวันที่ถูกจีนใช้อิทธิพลโดดเดี่ยวทางการทูตมาโดยตลอด


หวง ฉู่กวง (Huang Shu-guang) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของ ไช่ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการเรือดำน้ำ เปิดเผยในเดือนนี้ว่า ไต้หวันมีแผนที่จะประจำการเรือดำน้ำที่ผลิตเองจำนวน 2 ลำภายในปี 2027 และยังหวังว่าจะติดตั้งระบบขีปนาวุธบนเรือดำน้ำรุ่นต่อๆ ไปด้วย

สำหรับเรือดำน้ำ “นาร์วาล” ซึ่งใช้งบประมาณจัดสร้างสูงถึง 49,360 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือราวๆ 56,000 ล้านบาท จะใช้ระบบต่อสู้ที่ผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน และติดตั้งตอร์ปิโด MK-48 ที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยจะเริ่มทดสอบการใช้งานจริงในทะเลช่วงเดือน ต.ค. ก่อนจะส่งมอบให้แก่กองทัพเรือไต้หวันภายในสิ้นปี 2024

หวง ย้ำว่า กองเรือดำน้ำเหล่านี้ถือเป็น “เครื่องมือป้องปรามทางยุทธศาสตร์” ที่จะช่วยให้ไต้หวัน “อยู่รอด” ได้ในยามสงคราม เพราะจะช่วยปกป้องท่าเรือต่างๆ ในฝั่งตะวันออกให้ยังสามารถส่งเสบียงอาวุธเข้ามาเติมได้ตลอดเวลา

ที่มา: รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น