ไต้หวันเตรียมส่งเรือดำน้ำที่พัฒนาขึ้นเองจำนวน 2 ลำ เข้าประจำการภายในปี 2027 โดยอาจติดตั้งระบบขีปนาวุธด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณป้องปรามไปยังกองทัพเรือจีน รวมถึงเตรียมปกป้องเส้นทางลำเลียงเสบียงอาวุธในยามเกิดสงคราม
โครงการเรือดำน้ำเป็นหนึ่งในความพยายามของไต้หวันที่จะยกระดับกองทัพสู่ความทันสมัย และรับมือภัยคุกคามจากจีนซึ่งอ้างว่าเกาะแห่งนี้คือดินแดนในอธิปไตยของตน
ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าวหลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำไต้หวันในปี 2016 คาดว่าจะทำพิธีปล่อยเรือดำน้ำลำแรกจากทั้งหมด 8 ลำในวันพฤหัสบดีนี้ (28 ก.ย.) ภายใต้แผนการที่อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากหลายประเทศ และถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่น่าจับตามองสำหรับไต้หวันซึ่งถูกจีนใช้อิทธิพลโดดเดี่ยวในทางการทูต
หวง ฉู่กวง (Huang Shu-guang) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของ ไช่ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการเรือดำน้ำ ระบุว่า หมู่เรือดำน้ำ 10 ลำของไต้หวัน ซึ่งรวมถึง 2 ลำที่ผลิตโดยเนเธอร์แลนด์ตามคำสั่งซื้อในช่วงทศวรรษ 1980 จะเป็นตัวสกัดขัดขวางทำให้กองทัพเรือจีนสยายอิทธิพลในแปซิฟิกได้ยากยิ่งขึ้น
“ถ้าเราสามารถสร้างศักยภาพในการรบถึงขั้นนี้ได้ ผมก็ไม่คิดว่าเราจะแพ้สงคราม” หวง ระบุในงานแถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการเรือดำน้ำ
หวง เปิดเผยว่า เรือดำน้ำลำแรกซึ่งใช้งบประมาณในการจัดสร้างสูงถึง 49,360 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน จะใช้ระบบต่อสู้ที่พัฒนาโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ป และติดตั้งตอร์ปิโด MK-48 ที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยจะเริ่มทดสอบการใช้งานจริงในทะเลช่วงเดือน ต.ค. ก่อนจะส่งมอบให้แก่กองทัพเรือไต้หวันภายในสิ้นปี 2024
สำหรับเรือดำน้ำรุ่นถัดไป หวง ระบุว่าทางโครงการเตรียมจะเปิดช่องไว้สำหรับติดตั้ง “ขีปนาวุธต่อต้านเรือ” ด้วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ ว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายระบบอาวุธดังกล่าวให้แก่ไต้หวันได้หรือไม่ และยังไม่ขอเปิดเผยชื่อบริษัทที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้
หวง ย้ำว่า เรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้าถือเป็นเครื่องมือป้องปรามทางยุทธศาสตร์ (strategic deterrent) ที่จะช่วยสกัดกั้นเรือรบจีนที่อาจล่องเข้ามาจู่โจมไต้หวันผ่านทางช่องแคบมิยาโกะ (Miyako Strait) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น หรือช่องแคบบาชิ (Bashi Channel) ซึ่งกั้นระหว่างไต้หวันกับหมู่เกาะฟิลิปปินส์
“นี่ยังเป็นคอนเซ็ปต์ทางยุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ต้องการสกัดจีนเอาไว้ตั้งแต่หมู่เกาะด่านแรก ไม่ให้พวกเขาผ่านเข้ามาได้” หวง ระบุ
“หากไต้หวันถูก (จีน) ยึด ญี่ปุ่นก็จะไม่ปลอดภัย เกาหลีใต้ก็จะไม่ปลอดภัยเช่นกัน”
กระทรวงกลาโหมจีนยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้
กองทัพเรือจีนเริ่มปฏิบัติการเฉียดชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันหนักขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินซานตง ซึ่งทำให้ไทเปกังวลว่าจีนอาจจะเลือกโจมตีไต้หวันจากทิศทางดังกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไต้หวันมีการวางแผนเอาไว้นานแล้วว่าจะใช้พื้นที่ทางตะวันออกของเกาะเป็นจุดระดมพลและปกป้องกำลังพล ในกรณีที่เกิดสงครามกับจีน
หวง ระบุว่า กองเรือดำน้ำจะช่วยให้ไต้หวัน “อยู่รอด” ได้ในยามสงคราม เพราะจะช่วยปกป้องท่าเรือต่างๆ ในฝั่งตะวันออกให้ยังสามารถส่งเสบียงอาวุธเข้ามาเติมได้ตลอดเวลา
เจีย จ้ง (Chieh Chung) นักวิจัยด้านการทหารจากมูลนิธินโยบายแห่งชาติไต้หวัน (National Policy Foundation) ยอมรับว่า กองเรือดำน้ำไต้หวันอาจต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่พอสมควรในการทำภารกิจนี้ เพราะจีนน่าจะส่งเรือรบออกไปปิดล้อมด้านแปซิฟิกเอาไว้ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มจู่โจม แต่กระนั้นเขาก็เชื่อว่าเรือดำน้ำไต้หวันจะสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์ในการโจมตี และมีส่วนช่วยบั่นทอนศักยภาพในการรบของจีนลงได้มาก ด้วยการล็อกเป้าโจมตีเรือที่มีคุณค่าทางการรบสูงอย่างเช่นหมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือยกพลขึ้นฝั่ง เป็นต้น
รอยเตอร์อ้างผลการสืบสวนซึ่งพบว่า มีอย่างน้อย 7 ประเทศที่สนับสนุนไต้หวันในด้านเทคโนโลยี ชิ้นส่วน และองค์ความรู้ในการสร้างเรือดำน้ำ ซึ่งการขอรับความช่วยเหลือจากต่างชาติถือว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทเป ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตแบบเป็นทางการกับประเทศเหล่านี้
หวง ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่ามีประเทศใดบ้างที่อนุมัติส่งออกชิ้นส่วนและเทคโนโลยีให้แก่ไต้หวัน โดยบอกแค่ว่าตนได้มีการปรึกษาหารือกับบรรดานายพลจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
ที่มา : รอยเตอร์