เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเปิดเผยพบความเคลื่อนไหวในจุดทดสอบนิวเคลียร์ 3 ชาติมหาอำนาจสหรัฐฯ รัสเซีย จีน ชี้มีการเปลี่ยนแปลงไม่กี่ปี ทั้งสร้างถนนใหม่ ผุดโกดังเก็บ การจราจรหนาตา สหรัฐฯ รับมีเปลี่ยนแปลงเริ่มการทดลองทางทฤษฎีนิวเคลียร์ (subcritical nuclear experiment) เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกสมัยไบเดน ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อจีนเล็งขยายเทสต์ไซต์เพื่อการทดลองทางทฤษฎีเช่นกัน ตะลึง! คนเห็นควันลอยนึกว่าไฟไหม้ที่แล็บนิวเคลียร์กลางทะเลทรายรัฐไอดาโฮ ส่วนรัสเซียเพิ่งสั่งหน่วยนิวเคลียร์ 3,000 นาย ซ้อมเตรียมความพร้อมสัปดาห์ที่แล้ว
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวานนี้ (23 ก.ย.) ว่า ภาพดาวเทียมใหม่ที่ CNN ได้รับมาค้นพบว่า 3 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ของโลกทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ซึ่งต่างอยู่ในภาวะการเผชิญหน้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ชี้ว่าไม่กี่ปีมานี้มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นที่จุดทดสอบนิวเคลียร์ของทั้ง 3 ชาติ
ความเคลื่อนไหวที่ค้นพบเกิดขึ้นที่จุดทดสอบนิวเคลียร์ของจีนที่ Lop Nur ในซินเจียง ส่วนของรัสเซียที่ Novaya Zemlya ในเขตอาร์กติก และที่จุดทดสอบนิวเคลียร์ที่กลางทะเลทรายรัฐเนวาดา
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบ 3-5 ปีล่าสุดแสดงให้เห็นถึงอุโมงค์ใหม่ใต้ภูเขา ถนนใหม่ และโกดังเก็บ รวมไปถึงการจราจรที่หนาตาทั้งเข้าและออกจากจุดทดสอบ เจฟฟรี ลูว์อีส (Jeffrey Lewis) ศาสตราจารย์ประจำศูนย์มาร์ตินด้านการศึกษาป้องกันการแพร่ขยายที่สถาบันการศึกษาระหว่างประเทศมิดเดิลบิวรี (Middlebury Institute of International Studies)
อดีตผู้เชี่ยวชาญข่าวกรอง พันอากาศเอกกองทัพอากาศสหรัฐฯ ปลดเกษียณ เซดริค ไลห์ตัน (Cedric Leighton) ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเหล่านี้พร้อมกับเปิดเผยว่า
“มันเป็นที่ชัดเจนว่าประเทศทั้งสามได้แก่ รัสเซีย จีน และสหรัฐฯ สำหรับความเคลื่อนไหวที่จำเป็นสำหรับการทดสอบ”
CNN ชี้ว่า ที่ผ่านมา ดมิตรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย และคนสนิทของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้เคยออกมาข่มขู่โลกตะวันตกหลายครั้งว่า มอสโกจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากว่ายูเครนประสบความสำเร็จในปฏิบัติการสู้รบผลักดันกลับไปได้
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังได้เห็นการขยายตัวของจุดทดสอบนิวเคลียร์รัสเซียที่ Novaya Zemlya ในเขตอาร์กติก
เอ็กซเพรสของอังกฤษรายงานวันศุกร์ (22) ว่า กองกำลังหน่วย Tagil Rocket ของปูตินใน Sverdlovsk สั่งทหาร 3,000 นาย ทำการฝึกเตรียมความพร้อมในวันพฤหัสบดี (21)
สื่อราดาร์ (Radar) ของสหรัฐฯ รายงานว่า ภาพการฝึกซ้อมถูกเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ Zvezda ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย
CNN รายงานว่า และช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซอร์เก ชอย กูเดินทางไปเยือนจุดทดสอบนิวเคลียร์รัสเซียที่ Novaya Zemlya
ภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีการก่อสร้างอย่างมากที่จุดทดสอบนิวเคลียร์รัสเซียระหว่างปี 2021-2023 ที่มีทั้งเรือและตู้คอนเทนเนอร์เดินทางมาที่ท่าเรือ ถนนหนทางถูกทำให้เปิดโล่งสำหรับการสัญจรในฤดูหนาว และการขุดอุโมงค์ลึกเข้าไปในภูเขาอาร์กติก
ไลท์ตันกล่าวแสดงความเห็นว่า “มันชัดเจนสำหรับผมว่าพวกรัสเซียกำลังเดินหน้าสำหรับการทดสอบนิวเคลียร์”
และชี้ต่อว่า “พวกรัสเซียอาจกำลังพยายามที่จะเร่งรีบในการทำให้การเตรียมความพร้อมสำหรับการทดสอบนิวเคลียร์แต่ไม่ได้ทำการทดสอบนิวเคลียร์ขึ้นจริง ที่สำคัญพวกเขาทำสิ่งนี้เพื่อข่มขู่ตะวันตก”
นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวยังพบที่จุดทดสอบนิวเคลียร์จีนที่ Lop Nur ตั้งระหว่างทะเลสาบน้ำเค็มที่แห้งแล้วและทะเลทราย 2 แห่งในซินเจียงทางตะวันตกของจีน
ภาพดาวเทียมใหม่แสดงให้เห็นถึงอุโมงค์ใต้ดินที่ 5 ได้ถูกขุดขึ้นในไม่กี่ปี มีถนนสร้างใหม่ เปรียบเทียบกับภาพที่ถ่ายไว้ได้ระหว่างปี 2022-2023
การขยายตัวยังรวมไปถึงการสร้างใหม่ของหอบังคับการกลางและพื้นที่สนับสนุน นอกเหนือจากนี้พบว่ามีพื้นที่เก็บของใหม่ถูกสร้างขึ้นระหว่าง 2021-2022 ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะใช้เป็นที่เก็บระเบิด
ลูว์อีซแสดงความเห็นว่า “จุดทดสอบของจีนต่างออกไปจุดทดสอบรัสเซีย” และเสริมต่อว่า “จุดทดสอบจีนนั้นกว้างใหญ่และมีพื้นที่แตกต่างออกไป”
และเสริมต่อว่า “มันดูยุ่งวุ่นวายมาก และสิ่งเหล่านี้สามารถถูกเห็นได้จากภาพทางดาวเทียม และหากว่าพวกเราสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ ผมคิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะได้เห็นอย่างแน่นอน”
CNN รายงานว่า การเคลื่อนไหวที่ Lop Nur นั้นถูกพบในรายงานเมื่อเมษายนของสถาบันเพื่อสันติภาพซาซากาวา (Sasakawa Peace Foundation) โปรเจกต์ติดตามความเคลื่อนไหวจีน โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจีนในญี่ปุ่น
และหลังจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมแล้วทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจีนสรุปว่า เป้าประสงค์ของปักกิ่งน่าจะทำการทดลองทางทฤษฎีนิวเคลียร์ (subcritical nuclear experiment)
มีการค้นพบอุโมงค์ทดสอบที่ 6 ที่กำลังก่อสร้างใน Lop Nur ที่ชี้ไปว่าการก่อสร้างที่จุดทดสอบกำลังอยู่ในขั้นสุดท้าย
อ้างอิงจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติรัฐเนวาดา (Nevada National Security Site) ได้อธิบายศัพท์เทคนิค “Subcritical experiments” ว่าเป็นการทดลองเพื่อให้ได้ข้อมูลทางเทคนิคทางนิวเคลียร์โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบจริง
CNN ยังรายงานความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นที่จุดทดสอบกลางทะเลทรายในรัฐเนวาดา
สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นการทดลองทางทฤษฎีนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดี โจ ไบเดน
สหรัฐฯ ทำการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1992 และเริ่มต้นทำการทดลองทางทฤษฎีนิวเคลียร์ในอีก 5 ปีหลังจากนั้น โดยวอชิงตันโต้ว่า การทำทดลองทางทฤษฎีไม่ได้ละเมิดสนธิสัญญา Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty
พร้อมแสดงเหตุผลว่าการทำทดลองทางทฤษฎีทางนิวเคลียร์นั้นจำเป็นเพื่อทำให้ยังคงมีความปลอดภัยและความเสถียรของคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐฯ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า โฆษกของสำนักงานความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐฯ NNSA (National Nuclear Security Administration) แถลงกับสื่อญี่ปุ่นว่า สหรัฐฯ ทำการทดสอบในวันที่ 22 มิ.ย. และวันที่ 16 ก.ย. พร้อมกล่าวปกป้องการทดสอบเหล่านี้ว่า ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบเหล่านี้มีเพื่อทำให้มั่นใจในความเสถียรของคลังแสงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ
สื่อสหรัฐฯ กล่าวว่า ลูว์อีสแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ ถือเป็นชาติที่มองตัวเองให้เป็นรัฐแห่งความพร้อมสำหรับการทดสอบนิวเคลียร์ และพร้อมที่จะตอบสนองหากว่ามีหนึ่งในชาติฝ่ายปรปักษ์เปิดฉากเคลื่อนไหวก่อน
“สหรัฐฯ มีนโยบายของการเตรียมความพร้อมในการทดสอบนิวเคลียร์ด้วยการแจ้งระยะกระชั้นชิดราว 6 เดือน”
โดยภาพถ่ายดาวเทียมที่ CNN ได้รับแสดงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จุดทดสอบนิวเคลียร์สหรัฐฯ กลางทะเลทรายรัฐเนวาดาที่มีชื่อทางการคือ Nevada National Security Site แสดงให้เห็นว่าจุดทดสอบ U1a นั้นถูกขยายอย่างมากระหว่างปี 2018-2023
ทั้งนี้ NNSA เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่มีอำนาจดูแลจุดทดสอบนิวเคลียร์แห่งนี้กล่าวว่า แล็บวิทยาศาสตร์มีเป้าหมายเพมื่อการทดสอบนิวเคลียร์ทางทฤษฎีเพื่อความมั่นคงทางอาวุธในคลังแสงปัจจุบันโดยไม่จำเป็นต้องเป็นการทดสอบแบสมบูรณ์ หรือรูปแบบเต็ม
NNSA ยืนยันว่า มีการเพิ่มขึ้นในโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างและความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่จุดทดสอบรัฐเนวาดา และเสริมว่าเป็นการรวมถึงการได้แหล่งทรัพยาการก้าวหน้าใหม่และตัวตรวจจับ การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวัดปฏิกิริยา และความเคลื่อนไหวทางอุโมงค์ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไป
รายงานจากสำนักงานตรวจสอบอิสระของรัฐสภาสหรัฐฯ GAO (US Governmental Accountability Office) ที่เปิดเผยในเดือนสิงหาคมล่าสุดกล่าวว่า วอชิงตันกำลังจะก่อสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดใหม่ 2 ชิ้นที่จุดทดสอบรัฐเนวาดา “เพื่อทำการตรวจวัดใหม่ของพลูโตเนียมระหว่างการทำทดลองทางทฤษฎี”
CNN รายงานว่า ทั้งเครื่องมือและสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของแผนสำหรับการปรับปรุงสต็อกอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐฯ ให้มีความทันสมัยที่มีค่าใช้จ่ายราว 2.5-2.6 พันล้านดอลลาร์ และจะสามารถใช้ได้ภายในปี 2030 อ้างอิงจาก GAO
CNN รายงานว่า วอชิงตันนั้นยังคงจับตาความเคลื่อนไหวทางการทหารรัสเซียอย่างใกล้ชิด แต่โฆษกสภาความมั่นคงสหรัฐฯ ชี้ว่า ในเวลานี้ยังไม่จำเป็นสำหรับอเมริกาในการเปลี่ยนสถานะความพร้อมทางนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าความเคลื่อนไหวในการเพิ่มสิ่งปลูกสร้างที่จุดทดสอบรัฐเนวาดาอาจเพิ่มความวิตกให้ทั้งมอสโก-ปักกิ่ง ที่อาจมองว่าวอชิงตันกำลังเตรียมพร้อมกับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา
อ้างอิงจากรายงาน SIPRI พบว่า รัสเซียและสหรัฐฯ ปัจจุบันมีหัวรบนิวเคลียร์ในความครอบครองราว 90% ของทั้งหมดในโลกนี้ โดยประมาณว่าสหรัฐฯ มีกว่า 3,700 หัวรบ ขณะที่รัสเซียมีราว 4,500 หัวรบ
ขณะที่จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ของตัวเองเพิ่มจาก 350 หัวรบในมกราคม ปี 2022 มาอยู่ที่ 410 หัวรบในมกราคมปีนี้
ซึ่งการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งใหญ่หากเกิดขึ้นจากชาติใดชาติหนึ่งใน 3 ชาติมหาอำนาจนี้โลกจะได้รู้ภายในเสี้ยววินาทีเพราะจะถูกเตือนโดยระบบเฝ้าระวังระหว่างประเทศ IMS (International Monitoring System)
ทั้งนี้ ฮานส์ คริสเตนเซน (Hans Kristensen) ผู้อำนวยการโครงการข้อมูลนิวเคลียร์ประจำสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (the Federation of American Scientists) แสดงความเห็นกับ CNN ว่า ในขณะที่ทั้ง 3 ชาติกำลังซุ่มทดลองการทดสอบทางทฤษฎีทางนิวเคลียร์ในเวลานั้น แต่คริสเตนเซนเชื่อว่า “น่าจะยังไม่มีการทดสอบนิวเคลียร์แบบเต็มรูปแบบ”
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องตื่นเต้นเมื่อมีภาพปรากฏทางโซเชียลมีเดียเดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อ 2 วันก่อนหน้าว่า เป็นภาพควันหรือไอน้ำกำลังลอยออกมาจากปล่องที่ตั้งเป็นแผงเหนือทะเลทรายในรัฐไอดาโฮ
แต่ทว่าสำนักงานแล็บแห่งชาติไอดาโฮที่เป็น 1 ใน 17 แห่งภายใต้กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ยืนยันกับเดลีเมลว่า ไม่ได้มีเหตุฉุกเฉินเพลิงไหม้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
เกิดขึ้นหลังภาพที่เผยแพร่ไปทั่วแสดงชี้ไปว่าที่แล็บแห่งนี้กำลังเกิดไฟไหม้ โดย @EastIdahoNews กล่าวผ่านโซเชียลว่า “มีอะไรสักอย่างกำลังไหม้ที่ @INL ใช่ไหม?”
และเสริมต่อว่า “ผมไม่เคยเห็นพวยควันพุ่งกลางทะเลทรายมาก่อน
ทั้งนี้ ก่อนสำนักงานแล็บแห่งชาติไอดาโฮจะก่อตั้งพบว่าที่จุดแห่งนี้เคยถูกใช้ในทางการทหารในช่วงสงครามโลกที่ 2
ที่แห่งนี้มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 52 เตาถูกสร้างนับตั้งแต่เปิด ซึ่งในปัจจุบันแล็บแห่งนี้ใช้สำหรับการวิจัยอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การรีไซเคิลและพลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการทหารและอวกาศ เดลีเมลรายงาน