xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จับตา! ปมสังหารผู้นำซิกข์ทำ ‘แคนาดา-อินเดีย’ ร้าวฉาน เสี่ยงกระทบยุทธศาสตร์ต้านจีนของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดาออกมากล่าวหารัฐบาลอินเดียว่ามีส่วนพัวพันกับเหตุลอบสังหารผู้นำชาวซิกข์แบ่งแยกดินแดนที่อาศัยอยู่ในแคนาดา กลายเป็นชนวนวิกฤตการทูตครั้งใหญ่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศร้าวฉานหนัก ขณะที่เรื่องนี้ยังถูกจับตามองว่าจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ต่อต้านจีนของสหรัฐฯ หรือไม่ด้วย

การถูกต่างชาติออกมาชี้หน้ากล่าวหาตรงๆ ว่าพัวพันเหตุลอบสังหารสร้างความโกรธเกรี้ยวไม่น้อยต่อรัฐบาลนิวเดลี ซึ่งยืนยันว่าข้อกล่าวของแคนาดา “เป็นเรื่องไร้สาระและมีมูลเหตุจูงใจ” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เรื่องนี้อาจเป็นชนวนข้อพิพาทร้ายแรงที่สุดระหว่าง 2 ชาติที่เป็นหุ้นส่วนหลักของสหรัฐฯ และทำให้ชาติตะวันตกหลายๆ ประเทศวางตัวลำบาก

ทรูโด มีคำแถลงฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรแคนาดาเมื่อวันจันทร์ (18) โดยระบุว่าทางการกำลังเดินหน้าตรวจสอบ “ข้อครหาที่มีมูลน่าเชื่อถือ” ว่าสายลับของรัฐบาลอินเดียมีส่วนพัวพันกับเหตุฆาตกรรม ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ (Hardeep Singh Nijjar) แกนนำแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์วัย 45 ปี ซึ่งถูกกลุ่มมือปืนลอบยิงเสียชีวิตที่หน้าวิหารซิกข์แห่งหนึ่งในเขตเซอร์รีย์ (Surrey) เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.

ทรูโด ย้ำว่า การที่รัฐบาลต่างชาติเข้ามามีส่วนรู้เห็นกับเหตุฆาตกรรมพลเมืองแคนาดา “ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยที่ยอมรับไม่ได้” ขณะที่ เมลานี โจลี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา ยืนยันว่ารัฐบาลได้สั่งขับนักการทูตอินเดียรายหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอินเดียที่ปฏิบัติงานอยู่ในแคนาดา พร้อมยอมรับว่านี่คือ “ผลสืบเนื่อง” จากการเสียชีวิตของนิจจาร์

ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลอินเดียได้ออกคำแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาของทรูโด พร้อมตำหนิแคนาดาว่าให้ที่พักพิงกับ “พวกผู้ก่อการร้าย” และยังเพิกเฉยไม่จัดการกับ “กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง” ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความไม่สบายใจต่ออินเดียมานานแล้ว

ทางการอินเดียยังแก้เผ็ดด้วยการสั่งขับนักการทูตอาวุโสของแคนาดาคนหนึ่ง โดยให้เก็บข้าวของออกนอกประเทศภายใน 5 วัน

ทรูโด ออกมาชี้แจงเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ว่าแคนาดาไม่ได้มีเจตนา “ยั่วยุ” หรือ “กระพือความตึงเครียด” เพียงแต่ออกมา “ชี้แจงข้อเท็จจริงที่พบ” และยืนยันว่ารัฐบาลของตนจะใช้หลักฐานที่มีอยู่สืบเสาะความจริง เพื่อนำตัวคนทำผิดมาลงโทษให้ได้

การเสียชีวิตของ นิจจาร์ สร้างความสะเทือนใจต่อชุมชนชาวซิกข์ในแคนาดา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาซิกข์อาศัยอยู่มากที่สุดในโลกรองจากแคว้นปัญจาบของอินเดีย โดยจากผลสำรวจในปี 2021 พบว่ามีผู้นับถือศาสนาซิกข์ในแคนาดาราว 770,000 คน

British Columbia Gurdwaras Council และ Ontario Gurdwaras Committee ซึ่งเป็น 2 องค์กรชาวซิกข์ในแคนาดา ได้ออกคำแถลงร่วมเรียกร้องให้ออตตาวา “ระงับความร่วมมือด้านข่าวกรอง การสอบสวน และการดำเนินคดีกับอินเดียในทันที” พร้อมระบุว่ามาตรการตอบโต้ของแคนาดาจะต้องเป็นไปอย่างครอบคลุม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการที่รัฐบาลอินเดียเข้ามามีส่วนร่วมกับแผนปลิดชีพผู้นำชาวซิกข์ในแคนาดา “ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง”

(จากซ้ายไปขวา) นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา, ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ ผู้นำกลุ่มสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ในแคนาดาซึ่งถูกคนร้ายลอบสังหารเมื่อเดือน มิ.ย. และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย
- ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ คือใคร?

นิจจาร์ เป็นหนึ่งในแกนนำนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนให้ชาวซิกข์แบ่งแยกดินแดน และสถาปนารัฐของตนเองในชื่อ “คาลิสถาน” (Kalistan) ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในรัฐปัญจาบด้วย

รัฐบาลอินเดียถือว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนคาลิสถานเป็นองค์กรนอกกฎหมาย และเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ ขณะที่องค์กรย่อยๆ หลายแห่งที่มีส่วนเชื่อมโยงกับขบวนการนี้ถูกขึ้นบัญชีดำเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ภายใต้กฎหมาย Unlawful Activities (Prevention) Act หรือ UAPA ของอินเดีย

กระทรวงมหาดไทยอินเดียได้เพิ่มชื่อ นิจจาร์ ลงในบัญชีผู้ก่อการร้ายตามกฎหมาย UAPA ตั้งแต่ปี 2020 ขณะที่สำนักงานสอบสวนแห่งชาติอินเดียกล่าวหาว่าเขา “จงใจปลูกฝังแนวคิดสุดโต่งให้ชุมชนชาวซิกข์ทั่วโลกเพื่อนำไปสู่การก่อตั้งรัฐคาลิสถาน” นอกจากนี้ยังพยายาม “ปลุกปั่นยุยงชาวซิกข์ให้โหวตแยกดินแดน ต่อต้านรัฐบาลอินเดีย และก่อเหตุรุนแรงต่างๆ”

คุรปัตวันต์ ซิงห์ ปันนุน (Gurpatwant Singh Punnun) อดีตทนายความซึ่งเป็นเพื่อนกับนิจจาร์ และมีชื่ออยู่ในบัญชีดำ UAPA เช่นกัน ให้ข้อมูลกับ CNN ว่า นิจจาร์ เคยได้รับคำเตือนจากทางการแคนาดาอย่างน้อย 3 ครั้งว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกลอบสังหาร และขอให้เขาหลีกเลี่ยงการปราศรัยที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงเพื่อความปลอดภัย

แม้ตำรวจแคนาดาจะยังไม่มีการออกหมายจับบุคคลใดในคดีการเสียชีวิตของนิจจาร์ แต่ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้วทางตำรวจยืนยันว่ากำลังสอบปากคำผู้ต้องสงสัย 3 ราย และยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับยานพาหนะที่กลุ่มคนร้ายใช้หลบหนีด้วย

อาสาสมัครชาวซิกข์ยืนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในวิหารทองคำแห่งเมืองอมริตสาร์ รัฐปัญจาบของอินเดีย
อินเดียและแคนาดามีความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ กันมานานหลายปี และข้อกล่าวหาของ ทรูโด ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม

นักวิเคราะห์ชาวอินเดียหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่รัฐบาลแคนาดาไม่พยายามปิดกั้นหรือควบคุมกิจกรรมของกลุ่มผู้ประท้วงชาวซิกข์ ก็เพราะคนเหล่านี้มีอิทธิพลทางการเมืองค่อนข้างสูง

“ดูเหมือนว่า ทรูโด จะเล่นการเมืองในประเทศแบบสกปรก โดยหวังการสนับสนุนจากพวกกลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรง” บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Indian Express ระบุ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งยุติข้อพิพาทนี้โดยเร็ว

ฮาร์ช ปันต์ (Harsh Pant) รองประธานมูลนิธิ Observer Research Foundation ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองในกรุงนิวเดลี มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น “ค่อนข้างผิดปกติ”

“ประเทศที่เป็นมิตรกัน เขาไม่ทำกันแบบนี้” ปันต์ ระบุ “ปัญหาต่างๆ (ที่จะตามมา) ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดู เพราะตัวผมเองยังมองไม่เห็นทางออกเลย อย่างน้อยก็ในระยะสั้น”

ข้อพิพาทการทูตนี้ยังสะเทือนความสัมพันธ์ทางค้าระหว่างอินเดียและแคนาดา โดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อินเดียยอมรับว่า การเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างทั้ง 2 ชาติต้องหยุดชะงักเนื่องจาก “ประเด็นปัญหาที่เป็นข้อกังวลร้ายแรง”

ตอนที่อินเดียเป็นเจ้าภาพการประชุม G20 ที่กรุงนิวเดลีเมื่อวันที่ 9-10 ก.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ไม่ได้มีการประชุมซัมมิตกับ ทรูโด แบบตัวต่อตัว ทว่าระหว่างที่ได้พบเจอกันผู้นำอินเดียก็ “แสดงความกังวลอย่างจริงจัง” ต่อ ทรูโด เกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งในแคนาดา

ปันต์ ชี้ว่า ความตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำที่แฝงตัวมาสักพักแล้ว พร้อมยกตัวอย่างทริปเยือนอินเดียของ ทรูโด เมื่อปี 2018 ที่นายกฯ หนุ่มแคนาดาแทบไม่มีโอกาสได้พบปะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดียแม้แต่คนเดียว จนหลายฝ่ายมองว่านี่คือการจงใจ “หักหน้า” ของรัฐบาลเดลี

ก่อนหน้านั้น 1 ปี ทรูโด เคยไปปรากฏตัวที่งานกิจกรรมของชาวซิกข์ในเมืองโทรอนโต ซึ่งมีการติดธงสัญลักษณ์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน รวมถึงโปสเตอร์ภาพผู้นำชาวซิกข์ซึ่งถูกสังหารในปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพอินเดียเมื่อปี 1984

กระทรวงการต่างประเทศอินเดียออกเรียกร้องเมื่อวันอังคาร (19) ให้แคนาดา “ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ เพื่อเอาผิดกลุ่มต่อต้านอินเดียที่ใช้แคนาดาเป็นฐานปฏิบัติการ” และย้ำว่าข้อกล่าวหาเรื่องการลอบสังหาร นิจจาร์ “ซึ่งไม่มีมูลความจริง” กำลังถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากกิจกรรมของพวกผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งคาลิสตานี ซึ่งได้รับการช่วยเหลือให้ที่พักพิงจากรัฐบาลแคนาดา

ทางกระทรวงฯ ยังย้ำด้วยว่า “การที่นักการเมืองแคนาดาหลายคนออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจคนเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง”

ชุมชนชาวซิกข์ในปากีสถานออกมาป่าวร้องสโลแกนประณามเหตุลอบสังหารผู้นำชาวซิกข์ในแคนาดา
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความวิตกกังวลต่อบรรดาชาติหุ้นส่วนของอินเดียและแคนาดา โดยเฉพาะสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียซึ่งต่างก็มีประชากรชาวซิกข์อยู่ไม่น้อย และในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องคงความสัมพันธ์ที่ดีกับอินเดียไว้เพื่อเป็น “ไม้ค้ำยัน” ต่อต้านอิทธิพลของจีน

อย่างไรก็ตาม หากฟังถ้อยแถลงจากทั้ง 3 ชาติก็จะสังเกตได้ว่ามีท่าที “สนับสนุน” จุดยืนของ ทรูโด ที่ตัดสินใจออกมากล่าวหาอินเดียต่อหน้าสาธารณชนเช่นนี้

เอเดรียนน์ วัตสัน โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลวอชิงตัน “มีความกังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับข้อครหาที่แคนาดาอ้าง และ “ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่กระบวนการสอบสวนของแคนาดาจะต้องดำเนินต่อไป เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม”

ด้านโฆษก เพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ยอมรับว่ารัฐบาลแดนจิงโจ้ก็ “มีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง” เช่นกัน

“เราเข้าใจว่ารายงานเหล่านี้คงจะสร้างความวิตกกังวลเป็นพิเศษต่อพลเมืองออสเตรเลียบางกลุ่ม คนเชื้อสายอินเดียถือเป็นพลเมืองที่มีคุณค่า และมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมที่ยืดหยุ่นและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งชาวออสเตรเลียทุกคนย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนอย่างสันติโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย”

ด้านโฆษกของนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษก็แถลงเมื่อวันอังคาร (19) ว่า ทางการแคนาดา “ทำถูกต้องแล้ว” ที่เข้ามาสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ตนขอปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในระหว่างที่กระบวนการสอบสวนของแคนาดายังคงดำเนินอยู่

ไมเคิล คูเกลแมน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้จากศูนย์ Wilson Center ชี้ว่า รัฐบาลแคนาดาน่าจะตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก่อนที่จะออกมาแถลงกล่าวหารัฐบาลเดลีในครั้งนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแคนาดาอยู่ในกลุ่มพันธมิตร Five Eyes ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือด้านข่าวกรองที่มีสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมเป็นสมาชิกด้วย

คูเกลแมน ยังเชื่อด้วยว่า ความสัมพันธ์อินเดีย-แคนาดา “ยังพอมีหนทางกอบกู้ให้กลับมาดีขึ้นได้” เนื่องจากแคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าไปลงทุนในอินเดียสูงมาก และมีประชากรเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่มากเช่นกัน ซึ่งความสัมพันธ์ในระดับพลเมืองต่อพลเมืองนั้นถือว่ายังค่อนข้างเข้มแข็ง

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเห็นตรงกันว่า การที่พันธมิตรของแคนาดาอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส จะตัดสัมพันธ์กับอินเดียเพียงเพราะข้อกล่าวหาของ ทรูโด แทบจะ “เป็นไปไม่ได้เลย” นั่นก็เพราะว่าอินเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยนอกจากจะเป็นตัวสกัดยับยั้งอิทธิพลของจีนในทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว แม้แต่ออตตาวาเองก็ยังยอมรับว่าอินเดียเป็นหนึ่งใน “ตลาดหลัก” และเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 10 ของแคนาดาในปี 2022

ธงสัญลักษณ์คาลิสถาน (Khalistan) ที่ด้านนอกวิหาร คุรุ นานัก ซิกข์ คุรุทวารา ซาหิบ ในเขตเซอร์รีย์ รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ ถูกลอบยิงเสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น