Neuralink บริษัทสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีประสาทของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ระบุวานนี้ (19 ก.ย.) ว่าได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการตรวจสอบอิสระให้เริ่มกระบวนการรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองฝังชิปในสมอง โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาต
Neuralink ระบุว่า ผู้ที่เป็นอัมพาตจากการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ (cervical spinal cord injury) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (amyotrophic lateral sclerosis) อาจมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะเข้าร่วมการทดลองฝังชิปในสมองได้ โดยการทดลองนี้คาดว่าจะใช้เวลาราว 6 ปี และยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะใช้คนมากน้อยเท่าไหร่
การศึกษาวิจัยนี้จะใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดฝังชิปเข้าไปยังสมองส่วนที่สั่งการการเคลื่อนไหว โดยเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า brain-computer interface หรือ BCI ซึ่งเป้าหมายในระยะแรกคือการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมเคอร์เซอร์คอมพิวเตอร์ หรือแป้นคีย์บอร์ดได้โดยอาศัยเพียงการ “คิด” เท่านั้น
แหล่งข่าวในบริษัทให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า เดิมที Neuralink ตั้งใจจะขออนุญาตทดลองฝังชิปในสมองผู้ป่วย 10 คน แต่มีเสียงท้วงติงจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเวลานี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับ FDA เพื่อขอลดจำนวนผู้ร่วมทดลองลงมา แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าสุดท้ายแล้ว FDA จะอนุญาตให้ใช้คนมากน้อยเท่าไหร่
อีลอน มัสก์ ตั้งความหวังกับ Neuralink เอาไว้สูงมาก โดยหวังว่านวัตกรรมการผ่าตัดฝังชิปในสมองจะสามารถช่วยรักษาอาการป่วยตั้งแต่โรคอ้วน ออทิสติก โรคซึมเศร้า เรื่อยไปจนถึงโรคจิตเภท (schizophrenia)
Neuralink ประกาศเมื่อเดือน พ.ค. ว่า ทางบริษัทได้รับอนุญาตจาก FDA ให้เริ่มการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนประเมินว่า ต่อให้มีการพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเทคโนโลยี BCI ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ แต่ก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปกว่า Neuralink จะได้รับอนุญาตให้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในเชิงพาณิชย์
ที่มา : รอยเตอร์