xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตื่นเต้น! นายพลสหรัฐฯ ชี้ดีลอาวุธ ‘รัสเซีย-เกาหลีเหนือ’ ไม่ใช่จุดเปลี่ยนของสงครามยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารทหารร่วมสหรัฐฯ ระบุว่า อาวุธและเครื่องกระสุนจากเกาหลีเหนืออาจจะช่วยเติมเต็มคลังแสงของรัสเซียที่ร่อยหรอจากการสู้รบที่ยืดเยื้อกัยยูเครน ทว่าคงไม่ถึงขั้นเป็น “จุดเปลี่ยน” ของสงคราม

มิลลีย์ ซึ่งเดินทางไปร่วมการประชุมขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่นอร์เวย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพบปะครั้งสำคัญระหว่างประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเขาระบุว่าเกาหลีเหนืออาจจะยอมจัดส่งกระสุนขนาด 152 มม.ที่ผลิตในยุคสหภาพโซเวียตให้มอสโก แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะส่งให้มากน้อยแค่ไหนและเมื่อไหร่

“มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยหรือเปล่า? ผมยังไม่แน่ใจเท่าไหร่” มิลลีย์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ร่วมเดินทางไปด้วย พร้อมบอกว่าตนไม่ได้อยากจะดูแคลนความช่วยเหลือด้านอาวุธครั้งนี้ “แต่ก็ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นตัวตัดสินเกม”

รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญนานาชาติตั้งข้อสังเกตว่า คิม อาจจะยอมเป็นซัปพลายเออร์จัดส่งเครื่องกระสุนให้แก่รัสเซีย เพื่อแลกกับอาวุธที่ล้ำสมัย หรือเทคโนโลยีบางอย่าง

มิลลีย์ ยอมรับว่า ยูเครนยังต้องการอาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือในการทำสงครามอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนาโตและหุ้นส่วนจะมีการหารือกันในประเด็นนี้ด้วย ขณะที่ตนเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนให้วอชิงตันมอบความช่วยเหลือยูเครนต่อไป

การประชุมของนาโตมีขึ้นในขณะที่ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รัสเซีย (counteroffensive) ของกองทัพยูเครนยังคงคืบหน้าไปได้ช้ามาก ซึ่งผู้นำเคียฟเองพยายามล็อบบี้ขออาวุธที่ทันสมัยเพิ่มเติมจากชาติตะวันตก รวมถึงขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกลกว่าเดิม

ร็อบ เบาเออร์ นายพลเรือชาวเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายทหารของนาโต ยอมรับว่า ยูเครนมีความต้องการอาวุธและเครื่องกระสุนในปริมาณมหาศาล ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาอาวุธพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากอุปสงค์และกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมไม่สมดุลกัน อีกทั้งการบริจาคช่วยเหลือยูเครนทำให้อาวุธในคลังแสงของหลายๆ ประเทศเริ่มร่อยหรอลง

“เมื่อพวกเขาคิดที่จะบริจาคอาวุธหรือเครื่องกระสุนออกไป พวกเขาก็ต้องกลับมาทบทวนก่อนว่า มันจะทำให้ความพร้อมของประเทศตัวเองลดลงหรือไม่” เบาเออร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

สงครามซึ่งยืดเยื้อสู่ปีที่ 2 ทำให้นักการเมืองในสหรัฐฯ เริ่มมีมุมมองขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการทุ่มเทงบประมาณช่วยเหลือยูเครน โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน นั้นเสนอมอบแพกเกจช่วยเหลือทางทหารอีก 13,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และงบช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีก 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่นักการเมืองรีพับลิกันหัวอนุรักษนิยมหลายคนเรียกร้องให้ภาครัฐตัดลดงบประมาณรายจ่าย และมีกลุ่มสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บางคนที่กำลังหาทางบีบให้สหรัฐฯ หยุดมอบความช่วยเหลือแก่ยูเครน

สหรัฐฯ เริ่มกล่าวหามาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเกาหลีเหนือมีการจัดส่งเครื่องกระสุนและจรวดรุ่นต่างๆ ให้รัสเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกผลิตเลียนแบบอาวุธในยุคสหภาพโซเวียต

โจเซฟ เดมป์ซีย์ นักวิจัยจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศ International Institute for Strategic Studies - IISS) ระบุว่า เกาหลีเหนือน่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องกระสุนนอกประเทศที่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้มากที่สุดสำหรับรัสเซีย แต่ที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้กันว่า ระบบอาวุธอันเก่าคร่ำครึของเกาหลีเหนือมีความแม่นยำต่ำและเชื่อถือได้น้อย

ที่มา : AP
กำลังโหลดความคิดเห็น