(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Flimsy cardboard drones a sign of Ukraine’s desperation
By STEPHEN BRYEN
02/09/2023
โดรนยูเครนที่เข้าโจมตีสนามบินรัสเซียซึ่งอยู่ห่างจากดินแดนของตนหลายร้อยกิโลเมตร และทำให้เครื่องบินทหารแดนหมีขาวได้รับความเสียหายหลายลำ น่าที่จะปล่อยขึ้นมาจากพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ของชาติสมาชิกนาโตอย่างเอสโตเนีย เรื่องนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้สงครามขยายกว้างออกไป ขณะที่การรุกตอบโต้ของเคียฟกำลังล้มเหลว
ในพื้นที่ซึ่งเรียกขานกันว่า “จัตุรัสแบรดลีย์” (Bradley Square) ที่หมู่บ้านโรโบทีน (Robotyne) ตั้งอยู่ ฝ่ายยูเครนพยายามที่จะบีบการโจมตีของพวกเขาไปยังทางตะวันออกมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านเวร์โบเว (Verbove)
ทว่าเป็นเรื่องโชคร้ายสำหรับฝ่ายยูเครน พวกเขาป้องกันด้านปีกของพวกเขารอบๆ โรโบทีน ไม่ได้ดีเพียงพอ จึงเปิดเผยการโจมตีที่มุ่งหน้าสู่เวร์โบเว ของพวกเขาให้ตกเป็นเป้าถล่มของพวกปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องของฝ่ายรัสเซีย ฝ่ายยูเครนต้องสูญเสียส่วนที่ดีกว่าเพื่อนของกำลังทหาร 1 กองพลน้อยเต็มๆ ไปทีเดียว (ถึงแม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากองพลน้อยใดที่ประสบความสูญเสียดังกล่าว)
ความพยายามที่จะเข้ายึดครองโรโบทีน กลับกลายเป็นไอเดียที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับยูเครน เนื่องจากส่วนใหญ่ของหมู่บ้านแห่งนี้ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองเสียแล้ว และดังนั้นจึงเป็นการเผยเป้าให้แก่พวกปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องของฝ่ายรัสเซีย
การบุกจากโรโบทีน ต่อไปทางตะวันออกให้ได้กำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับยูเครน ถ้าหากพวกเขาต้องการตัดแบ่งกองกำลังของรัสเซีย และรุกคืบหน้าต่อไปจนกระทั่งถึงเมืองเมลิโตโปล (Melitopol) เวลานี้เรื่องนี้กำลังถูกตั้งคำถามกันอย่างมากมายว่าเคียฟจะทำได้หรือไม่ และอาจจะเป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสำคัญในการรุกตอบโต้ล่าสุดของฝ่ายยูเครน
ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไรแน่ เวลานี้ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตัดสินชี้ขาด ทว่ารายงานข่าวซึ่งมองโลกแง่สดใสของสื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัล ที่ว่าแนวป้องกันของฝ่ายรัสเซียกำลังถูกทะลวงแตกแล้วนั้น มาถึงเวลานี้ดูเหมือนจะสรุปได้ว่ามันเป็นรายงานข่าวที่เวอร์เกินจริง
(ดูเพิ่มเติมรายงานข่าวนี้ได้ที่ https://www.wsj.com/world/europe/ukrainian-counteroffensive-pierces-main-russian-defensive-line-in-southeast-9441e204)
ขณะเดียวกัน ยูเครนยังคงพยายามต่อไปในการใช้โดรนของตนเข้าโจมตีใส่ดินแดนรัสเซีย มีโดรนยูเครนลำหนึ่งพุ่งเป้าหมายเข้าโจมตีเมืองคูร์ชาตอฟ (Kurchatov) ศูนย์อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คูร์สก์ (Kursk)
เมืองคูร์ชาตอฟ ตั้งอยู่ในแคว้นคูร์สก์ ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับยูเครน เมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1960 และได้นามตามชื่อของนักฟิสิกส์ เซียร์เก คูร์ชาตอฟ (Sergey Kurchatov) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณูของโซเวียต โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คูร์สก์ ตั้งอยู่ห่างจากคูร์ชาตอฟราวๆ 4 กิโลเมตร
ดูเหมือนว่ามีโดรนเพียงลำเดียวเท่านั้นที่บินฝ่าเข้าไปได้ และถล่มใส่อาคารที่พักอาศัยหลังหนึ่ง
เวลาเดียวกันนั้น ฝ่ายยูเครนอ้างว่าพวกเขาใช้โดรน “กระดาษแข็ง” ผลิตในออสเตรเลีย เข้าโจมตีฐานทัพอากาศเมืองสคอฟ (Pskov) ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ชายแดนเอสโตเนีย อย่างไรก็ดี มีข้อโต้แย้งชวนให้เกิดการถกเถียงกันว่า โดรนพวกนี้สามารถเข้าไปจนถึงฐานทัพอากาศแห่งนั้นซึ่งอยู่ห่างจากดินแดนยูเครนเป็นระยะทางมากกว่า 800 กิโลเมตรได้อย่างไร
ยูเครนเวลานี้บอกว่า พวกเขาปล่อยโดรนเหล่านี้จากภายในรัสเซีย อย่างไรก็ตาม การโจมตีคราวนี้ซึ่งต้องมีโดรนเกี่ยวข้องด้วยอย่างน้อยที่สุด 10 ลำ บ่งชี้ให้เห็นว่าจุดที่ปล่อยโดรนอาจจะมาจากเอสโตเนีย เวลานี้ฝ่ายรัสเซียยังไม่ได้บอกกล่าวข้อสรุปเกี่ยวกับเส้นทางบินของโดรนเหล่านี้ให้สาธารณชนรับทราบ
โดรนทำจากโฟมบอร์ดเคลือบขี้ผึ้งเหล่านี้ ระบบเรดาร์สามารถจับสัญญาณอะไรได้น้อยมากๆ
ฝ่ายยูเครนอวดอ้างว่า นี่แหละคือโดรนที่ใช้ในการโจมตีสคอฟ ทว่าโดรนไซแพค (หรือเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า ระบบจัดส่งสิ่งของบรรทุกด้วยความแม่นยำสูง ไซแพค คอร์โว Sypaq Corvo Precision Payload Delivery System) มีพิสัยทำการเพียงแค่ 75 ไมล์ (ราว 120.7 กิโลเมตร) ซึ่งหมายความว่าถ้าหากนี่คือโดรนที่ใช้ในการโจมตีสคอฟจริง มันก็จำเป็นต้องถูกปล่อยขึ้นฟ้าจากบริเวณที่อยู่ใกล้ๆ กว่าดินแดนของยูเครนเองเป็นอันมาก
ชายแดนเอสโตเนียนั้นอยู่ห่างจากสคอฟ 61.3 กิโลเมตร นั่นคืออยู่ในพิสัยทำการของโดรนกระดาษโฟมบอร์ด โดรนเหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้มีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพ และน่าที่จะนำทางด้วยระบบจีพีเอส ตัวโดรนเปล่าๆ มีน้ำหนักราว 2.4 กิโลกรัม และถูกระบุว่าสามารถบรรทุกน้ำหนักได้จนถึง 3 กิโลกรัม หรือมากกว่าน้ำหนักของโดรนเองเสียอีก สำหรับพลังงานนั้นมันได้จากแบตเตอรี่
ฝ่ายยูเครนอวดว่าโดรนชนิดเดียวกันนี้ยังถูกใช้ในการโจมตีสนามบินคูร์สก์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม หรือ 2 วันก่อนการโจมตีที่สคอฟ แคว้นคูร์สก์นั้นอยู่ติดกับชายแดนยูเครน
ข้างบนนี้เป็นภาพซากโดรนไซแพคที่ตกลงมา ซึ่งถ่ายเอาไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่ไม่มีการรายงานว่าสถานที่ตกคือที่ไหน
ขณะเดียวกัน ยูเครนได้โพสต์ภาพกราฟิกที่อยู่ข้างล่างนี้ ซึ่งระบุคุณสมบัติต่างๆ ของโดรนชนิดนี้
น่าสังเกตว่าการที่โดรนแบบนี้มีระบบนำร่องซ้ำซ้อนกันหลายระบบ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามันจะถูกตั้งโปรแกรมล่วงหน้าให้เข้าโจมตีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่กำหนดเอาไว้ และมีการอัปเดตตัวเองอยู่เรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีข้อมูลข่าวสารจีพีเอสป้อนไปให้ โดยที่ปกติแล้วพวกเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงไม่ว่าของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมมีการติดตั้งอุปกรณ์รบกวนสัญญาณเอาไว้โดยรอบกันอยู่แล้ว
จากภาพข้างบนยังแสดงให้เห็นว่ามันไม่มีพ็อดสำหรับกล้องถ่ายภาพ โดรนของออสเตรเลียนี้ผลิตขึ้นมาจากส่วนประกอบต่างๆ ที่มุ่งใช้งานเชิงพาณิชย์ทว่าตกรุ่นไม่มีการนำเอามาตั้งโชว์กันแล้ว โดยที่ดั้งเดิมเลยน่าจะเป็นพวกข้าวของที่ผลิตมาจากจีน
ปูตินต้องใช้ความระมัดระวังสูงมาก ถ้าเหล่านายพลของเขายืนยันว่าการโจมตีที่สคอฟมาจากเอสโตเนีย เนื่องจากนั่นจะทำให้เอสโตเนียกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการโจมตีเหล่านี้ แล้วรัสเซียจะทำอะไรกับเอสโตเนียบ้างยังเป็นสิ่งที่ไม่ทราบกัน (เอสโตเนียเป็นรัฐสมาชิกรายหนึ่งขององค์การนาโต ถ้ารัสเซียโจมตีเอสโตเนีย ก็มีความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับการตอบโต้จากนาโต -ผู้แปล)
ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายรัสเซียได้ชะลอการปฏิบัติการของพวกเขาในพื้นที่เมืองคูเปียนสก์ (Kupyansk) และยุติการโจมตีตอบโต้ฝ่ายยูเครนไปจำนวนหนึ่ง เวลานี้จึงดูเหมือนกับว่าการโจมตีคูเปียนสก์คงจะไม่คืบหน้าต่อไปอีก ยกเว้นแต่ในพื้นที่ชายขอบ
สำหรับข่าวอื่นๆ มีรายงานหลายกระแสระบุว่า ยูเครนจะพยายามระดมเกณฑ์ทหารครั้งใหญ่ในเดือนนี้ เรื่องนี้ดูน่าจะส่งผลสะท้อนกลับในทางลบต่อเซเลนสกี เนื่องจากผู้ที่จะถูกเกณฑ์เป็นทหารในคราวนี้จะรวมไปถึงพวกนักศึกษา คนงานในโรงงาน และชายสูงวัยที่ปกติจะไม่ถูกเกณฑ์ สำหรับทางรัสเซียนั้นจนถึงเวลานี้ยังไม่มีการประกาศเรื่องการเกณฑ์ทหารรอบใหม่ใดๆ
ยูเครนเวลานี้ได้นำเอาหน่วยทหารที่สำรองเอาไว้ในทางยุทธศาสตร์ของตนทั้งหมดออกมาใช้แล้ว และตอนนี้กำลังหาทางเติมกำลังที่พร่องไปหรือที่ยังขาดอยู่ ด้วยหน่วยทหารรักษาดินแดนที่ด้อยความสามารถกว่ากันมาก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยที่ดึงเอามาจากแคว้นลวิฟ (Lviv) (กองกำลังสำรองรักษาดินแดนที่ 125 the 125th territorial reserve) และจากพื้นที่ติดชายแดนมอลโดวา (กองพลน้อยที่ 106 106th brigade) โดยมีการจัดส่งกำลังเหล่านี้ไปยังพื้นที่เมืองคูเปียนสก์ –ซึ่งคาดกันว่ารัสเซียอาจจะเริ่มต้นการโจมตีครั้งใหญ่
เรื่องนี้ทำให้กองทัพยูเครนปราศจากกำลังสำรอง และน่าจะประสบกับความสูญเสียอย่างมากมายในสนามรบ แม้กระทั่งมีการระดมเกณฑ์ทหารตามแผนการที่วางไว้สำหรับเดือนกันยายนแล้ว ยูเครนยังไม่สามารถอยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติการรุกโจมตีต่อเนื่องต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอัตราการสูญเสียสูงยังคงดำเนินอยู่
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน