นักบินรัสเซียรายหนึ่งตั้งใจยิงขีปนาวุธเข้าใส่เครื่องบินลาดตระเวนแห่งกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ในน่านฟ้าระหว่างประเทศ เหนือทะเลดำเมื่อปีที่แล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวบีบีซีเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) ในเหตุการณ์ที่ทางมอสโกเคยกล่าวอ้างว่าเป็เหตุขัดข้องทางเทคนิค
สถานีโทรทัศน์บีบีซี กล่าวอ้างว่าจากการดักฟังการสื่อสาร บ่งชี้ว่านักบินของเครื่องบินขับไล่ Su-27 ของรัสเซียลำหนึ่งยิงเข้าใส่เครื่องบินที่ไม่ติดอาวุธของสหราชอาณาจักร ในเดือนกันยายน 2022 หลังได้รับคำสั่งอันคลุมเครือจากสถานีภาคพื้นแห่งหนึ่งของรัสเซีย และนักบินผู้ช่วยพยายามหยุดเขาเอาไว้
บีบีซีระบุว่า เครื่องบินลาดตระเวน Rivet Joint มีเซ็นเซอร์ดักฟังการสื่อสาร และลูกเรือสามารถได้ยินทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
รายงานของบีบีซีระบุว่า ที่ผ่านมา ต่อหน้าสาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรกลบกระแสความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดย เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมบอกกับสมาชิกรัฐสภาในเดือนตุลาคม เพียงว่าเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียปล่อยขีปนาวุธใกล้เคียงกับเครื่องบินของสหราชอาณาจักร และเขาได้เรียกร้องขอคำอธิบายจาก เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ซึ่งเขาบอกว่าคำตอบของทางรัสเซีย ก็คือ "มันเป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิคของเครื่องบินขับไล่ Su-27"
"เราไม่ได้พิจารณาเหตุการณ์นี้เข้าองค์ประกอบความตั้งใจขยายสถานการณ์ให้ลุกลามบานปลายของฝ่ายรัสเซีย และมันประจวบกับผลวิเคราะห์ของเรา ก็คือสืบเนื่องจากเหตุขัดข้อง" วัลเลซ กล่าวในตอนนั้น พร้อมเผยว่าเครื่องบินลาดตระเวนของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ได้บินลาดตระเวนต่อในทะเลดำ โดยมีฝูงบินขับไล่คอยอารักขาให้
เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับรายงานข่าวของบีบีซีในวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) ทางกระทรวงกลาโหมแห่งสหราชอาณาจักร เน้นย้ำว่า "วอลเลซ ได้แจ้งเรื่องแก่สภาผู้แทนราษฎร ภายใน 3 สัปดาห์ หลังจากเกิดเหตุ เพื่อประโยชน์แห่งความโปร่งใสและปลอดภัย"
"เจตนาของเราคือปกป้องความปลอดภัยของปฏิบัติการต่างๆ ของเราอยู่ตลอด หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายโดยไม่จำเป็น และแจ้งข่าวแก่สาธารณะและประชาคมนานาชาติ" กระทรวงกลาโหมระบุ "เหตุการณ์นี้ย้อนให้นึกถึงอย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบที่ตามมา จากการรุกรานยูเครนอันโหดร้ายป่าเถื่อนของปูติน"
โฆษกนายกรัฐมนรีริชี ซูแน็ก กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความมั่นใจว่า วัลเลซ ไม่ได้ชี้นำบรรดาสมาชิกรัฐสภาผิดๆ ด้วยถ้อยแถลงของเขา พร้อมระบุ "มันมีจำกัดบางประการ ในการเปิดเผยรายละเอียดปฏิบัติการต่างๆ ต่อสาธารณะ สืบเนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง"
(ที่มา : เอพี/บีบีซี)