การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 เปิดฉากขึ้นแล้วที่อินเดียในวันนี้ (9 ก.ย.) โดยมีการประกาศรับสหภาพแอฟริกา (African Union - AU) เข้าเป็นสมาชิกถาวร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะขยายบทบาทของ G20 ให้มีความเป็นตัวแทนนานาชาติมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐสมาชิก G20 ยังคงมีจุดยืนที่ขัดแย้งกันอย่างหนักในเรื่องยูเครน โดยกลุ่มชาติตะวันตกนั้นผลักดันให้มีการประณามพฤติกรรมของรัสเซียที่ก่อสงครามรุกรานเพื่อนบ้าน ในขณะที่บางประเทศเห็นควรให้ G20 เป็นกลุ่มที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจมากกว่า
การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ที่ศูนย์การประชุม Bharat Mandapam ในกรุงนิวเดลี ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทางการยังมีคำสั่งให้ภาคธุรกิจ หน่วยงาน และสถานศึกษาในเมืองหลวงอินเดียปิดทำการในช่วงสุดสัปดาห์ และยังมีการกำจัดฝูงลิง สุนัขจรจัด รวมถึงปิดถนนหลายสายเพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่บรรดาผู้นำต่างชาติ ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ
ร่างคำแถลงร่วมของ G20 ที่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้รับมาบ่งชี้ว่า คณะผู้เจรจายังคงมีความเห็นต่างกันอยู่มากในเรื่องการเลือกใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับสงครามในยูเครน และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบรรดาผู้นำว่าจะสามารถประนีประนอมกันได้แค่ไหน
ร่างคำแถลงร่วมความยาว 38 หน้ากระดาษยังมีการเว้นว่างในย่อหน้าที่ว่าด้วย “สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์” แต่สามารถตกลงเห็นพ้องกันได้แล้วในอีก 75 ย่อหน้า
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ไบเดน มีแผนผลักดันให้ประเทศใหญ่ๆ ต้องกำหนดมาตรการต่อสู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางความกังวลว่าโลกยังคงขาดความเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
G20 มีสัดส่วนการปลดปล่อยคาร์บอนรวมกันราว 80% ของโลก และผลลัพธ์ของการหารือครั้งนี้เป็นที่จับตามองอย่างมาก ก่อนที่จะมีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP 28) ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือน พ.ย.
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ซึ่งต้องการชูเครดิตความน่าเชื่อถือของอินเดียในฐานะชาติมหาอำนาจ กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า สหภาพแอฟริกาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกถาวรของ G20 ในระดับเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) และได้มีการเชื้อเชิญให้ อาซาลี อัซซูมานี (Azali Assoumami) ประธานเอยู เข้ามานั่งร่วมโต๊ะกับบรรดาผู้นำ G20 ด้วย
การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะกลายเป็นเวทีสำแดงอิทธิพลของโลกตะวันตกและพันธมิตร เนื่องจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนไม่เดินทางมาร่วมประชุม แต่ส่งนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง มาแทน ในขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียก็ไม่มาเช่นกัน
นอกจาก ไบเดน แล้วยังมีผู้นำชาติมหาอำนาจอีกหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุม G20 ที่กรุงนิวเดลี เช่น นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่า ไบเดน และ สี คงจะมีโอกาสพูดคุยหารือซึ่งหน้าอีกครั้งในเวที G20 ท่ามกลางความพยายามของสองมหาอำนาจคู่แข่งที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงจากข้อพิพาทการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อที่นิวเดลีว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจีนที่จะต้องอธิบาย” ว่าเพราะเหตุใดผู้นำของพวกเขาจึงเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมการประชุม
ไฟเนอร์ ยังอ้างถึงข้อสังเกตที่ว่าจีน “กำลังทอดทิ้ง G20” และหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่ม BRICS ที่ปักกิ่งสามารถใช้อิทธิพลครอบงำได้มากกว่า
ที่มา : รอยเตอร์