องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกกำหนดแนวทางควบคุมการนำเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เช่น ChatGPT มาใช้ในห้องเรียน และควรจำกัดให้ใช้งานได้เฉพาะเด็กโตเท่านั้น
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เผยแพร่คำแนะนำถึงรัฐบาลทั่วโลกในวันนี้ (7 ก.ย.) โดยเตือนว่าภาครัฐ “ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ” ที่จะรับมือผลกระทบในแง่จริยธรรมจากการนำเครื่องมือเอไอไปใช้ในโรงเรียน
ยูเนสโกชี้ว่า การพึ่งพาโปรแกรมเหล่านี้มากกว่าครูผู้สอนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางทางอารมณ์ของเด็ก และทำให้พวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครอบงำ (manipulation)
“Generative AI อาจเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนามนุษย์ แต่ก็สามารถก่ออันตรายและสร้างอคติได้เช่นกัน” ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ระบุ
“เราไม่สามารถบูรณาการเอไอเข้ากับการศึกษาได้โดยปราศจากการมีส่วนร่วมทางสังคม และภาครัฐจำเป็นจะต้องออกมาตรการปกป้องและกฎระเบียบที่เหมาะสม”
เครื่องมือไอเอเหล่านี้กลายเป็นที่นิยมอย่างล้นหลามทั่วโลกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังจากบริษัท Open AI ของสหรัฐฯ ได้เปิดตัว ChatGPT ซึ่งสามารถช่วยแต่งบทความ บทกวี หรือแม้กระทั่งสนทนาโต้ตอบกับมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติได้ด้วยการป้อนข้อมูลสั้นๆ
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการเตือนว่าเครื่องมือเอไอเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการคัดลอกผลงาน (plagiarism) และเอื้อให้เกิดการโกงข้อสอบตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
ยูเนสโกยอมรับว่า เครื่องมือเอไออาจเป็นประโยชน์ต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ช่วยวิจัยได้ แต่จำเป็นที่ครู ผู้เรียน และนักวิจัยจะต้องร่วมกันออกแบบมัน และมีการควบคุมที่ดีจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ยูเนสโกไม่ได้เสนออายุขั้นต่ำสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่จะใช้เครื่องมือเอไอ แต่มีการอ้างไปถึง ChatGPT ซึ่งกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ใช้งานเอาไว้ที่ 13 ปี
“นักวิจารณ์หลายคนมองว่า ช่วงอายุดังกล่าวก็ยังถือว่าเด็กเกินไป และมีการเสนอให้ออกกฎหมายเพิ่มอายุขั้นต่ำเป็น 16 ปี” ยูเนสโก ระบุ
ที่มา: เอเอฟพี