xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ญี่ปุ่นส่งภารกิจ ‘มูน สไนเปอร์’ ลุ้นเป็นชาติที่ 5 ลงจอดบนดวงจันทร์ต้นปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ภายใต้ภารกิจ “มูน สไนเปอร์” (Moon Sniper) โดยใช้จรวด H-IIA ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ และคาดว่าจะเป็นชาติที่ 5 ของโลกที่สามารถนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้ภายในต้นปีหน้า

องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) แถลงว่า จรวด H-IIA ได้พุ่งทะยานออกจากฐานยิงที่ศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ (Tanegashima Space Center) ทางตอนใต้ของประเทศเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (7 ก.ย.) และประสบความสำเร็จในการปล่อยยานสำรวจ Smart Lander for Investigating Moon หรือ SLIM โดยก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นต้องเลื่อนภารกิจส่งยานมาแล้วถึง 3 ครั้งเนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจ

ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายที่จะนำยานสำรวจ SLIM ซึ่งถูกตั้งฉายาว่า “มูน สไนเปอร์” ลงจอดบนพื้นผิวจันทร์ภายในรัศมี 100 เมตรจากเป้าหมายภายในเดือน ก.พ. ปีหน้า โดยภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้ใช้งบประมาณราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“วัตถุประสงค์หลักของ SLIM ก็คือการพิสูจน์ศักยภาพในการลงจอดอย่างแม่นยำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลงจอด ‘ในจุดที่เราต้องการ’ จริงๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์ ไม่ใช่ลงจอดในจุดที่สามารถทำได้” ฮิโรชิ ยามาคาวะ ประธาน JAXA ระบุในงานแถลงข่าว

ภารกิจ “มูน สไนเปอร์” ของญี่ปุ่นมีขึ้นเพียง 2 สัปดาห์ หลังจากที่อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในภารกิจ “จันทรายาน-3” (Chandrayaan-3) โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับอินเดีย รัสเซียได้พยายามส่งยานสำรวจ Luna-25 ไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เช่นกัน ทว่าภารกิจล้มเหลวเนื่องจากยานตกกระแทกพื้น

ความพยายามส่งยานสำรวจดวงจันทร์ของญี่ปุ่นประสบความล้มเหลวมาแล้วถึง 2 ครั้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากภารกิจของยานโอโมเตนะชิ (OMOTENASHI) ซึ่งสัญญาณสื่อสารขาดหายไปขณะที่พยายามลงจอดในเดือน พ.ย. ส่วนภารกิจของยาน Hakuto-R Mission 1 ที่นำโดยบริษัทสตาร์ทอัป ispace ก็ตกกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อเดือน เม.ย.

ญี่ปุ่นมุ่งหวังที่จะนำยาน SLIM ลงจอดแบบนุ่มนวลใกล้กับจุดที่เรียกว่า Mare Nectaris ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดสีดำเมื่อมองจากพื้นโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อทดสอบเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพและประมวลผลภาพขั้นสูง นอกจากนี้ยังมุ่งศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของหินโอลิวีน (olivine rocks) ใกล้ๆ กับจุดที่ลงจอดเพื่อสืบหาร่องรอยการกำเนิดของดวงจันทร์ โดยไม่ได้มีการนำยานโรเวอร์ติดไปด้วย

ที่มา: รอยเตอร์










กำลังโหลดความคิดเห็น