รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - โตเกียวร้องเรียนองค์การการค้าโลก WTO ถึงคำสั่งแบนอาหารทะเลญี่ปุ่นจากปักกิ่งที่มีผลมาจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีผ่านการบำบัดจากโรงงานไฟฟ้าเทปโกฟุกุชิมะนั้นเป็น “สิ่งที่รับไม่ได้” เพิ่มการหาช่องทางการส่งออกใหม่ไปสหรัฐฯ ยุโรป และไต้หวัน ขณะที่ชาวประมงร่วมร้อยคน และชาวบ้านอาศัยใกล้เมืองฟุกุชิมะไม่พอใจโตเกียวผิดสัญญาเล็งยื่นเรื่องทางกฎหมายเตรียมหาช่องทางยกเลิกปล่อยน้ำเสีย
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (5 ก.ย.) ว่า ในข้อโต้แย้งต่อจีนเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่แจ้งไปองค์การการค้าโลก WTO เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ถึงมาตรการของปักกิ่งต่อการยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นชั่วคราว ทางโตเกียวกล่าวว่า จะแสดงจุดยืนของฝ่ายตนต่อคณะกรรมการ WTO ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนั้นโตเกียวยังเรียกร้องให้ปักกิ่งยกเลิกมาตรการเหล่านั้นเสีย
ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นบางส่วนได้ออกมาส่งสัญญาณจะเดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ราห์ม เอ็มมานุเอล (Rahm Emanuel) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า วอชิงตันจะให้การสนับสนุนโตเกียว โดยก่อนหน้าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้โชว์รับประทานอาหารทะเลญี่ปุ่นเพื่อรับประกันความปลอดภัยมาแล้ว
รอยเตอร์ชี้ว่า โตเกียวจะขึ้นอธิบายถึงความปลอดภัยของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่ได้รับการบำบัดในเวทีฟอรัมทางการทูต รวมถึงการประชุมอาเซียนที่อินโดนีเซีย และที่การประชุมกลุ่ม G20 ที่อินเดียซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ฮิโรคาซุ มัตซึโนะ (Hirokazu Matsuno) หัวหน้าคณะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ และนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง จะร่วมการประชุมอาเซียนและการประชุมกลุ่ม G20 แต่ทว่าผู้นำจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ปฏิเสธไม่เข้าร่วมทั้ง 2 งานใหญ่นี้
ขณะเดียวกัน ในวันจันทร์ (4) กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ต่างหาก เปิดเผยว่าได้มีการร้องต่อ จีน ให้หารือร่วมกันต่อคำสั่งห้ามการนำเข้าบนพื้นฐานข้อตกลงการค้าเสรี RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค)
DW สื่อเยอรมนีรายงานวันจันทร์ (4) ว่า โตเกียวยังมีแผนที่จะหาลู่ทางกระตุ้นตลาดส่งออกไปไต้หวัน สหรัฐฯ และยุโรปเพื่อทดแทน
ทั้งนี้ รัฐบาลโตเกียวยังได้ประกาศแพกเกจช่วยเหลืออุตสาหกรรมการประมงในประเทศจำนวน 20.7 พันล้านเยน (141 ล้านดอลลาร์) ผลจากคำสั่งแบนของปักกิ่ง
นายกฯ คิชิดะประกาศว่า “พวกเราจะปกป้องอุตสาหกรรมการประมงญี่ปุ่นจนถึงที่สุด”
ทั้งนี้ พบว่าก่อนที่น้ำบำบัดปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจะปล่อยลงมหาสมุทรนั้น “จีน” ถือเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกใหญ่ที่สุดของอาหารทะเลญี่ปุ่น คิดเป็น 22.5% ของทั้งหมด
ขณะที่ฮ่องกงมาเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วนที่ 20% ได้สั่งห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะและจากอีก 9 จังหวัดของญี่ปุ่นเช่นกัน
มาตรการระงับการนำเข้าชั่วคราวจากจีนครั้งนี้กระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลญี่ปุ่น กระทบทั้งด้านราคาและยอดขายตั้งแต่ฟุกุชิมะไปจนถึงฮอกไกโดที่อยู่เหนือสุด
ท่ามกลางการประท้วงหลายหมื่นคนต่อต้านการปล่อยน้ำเสียฟุกุชิมะที่กรุงโซลในสุดสัปดาห์ ที่ญี่ปุ่นในวันจันทร์ (4) พบว่ามีกลุ่มชาวประมงจำนวน 100 คน และชาวบ้านอาศัยในแถบฟุกุชิมะประกาศจะยื่นเรื่องดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อหาทางทำให้การปล่อยน้ำบำบัดจากโรงงานไฟฟ้าเทปโกต้องหยุดลง
หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์ชี้ว่า บรรดาชาวประมงเหล่านี้ต่างวิตกว่ามันจะลบล้างความพยายามหลายปีในการปรับปรุงภาพลักษณ์อุตสาหกรรมการประมงญี่ปุ่นหลังภัยหายนะร้ายแรงเกิดขึ้นเมื่อปี 2011
มีโจทก์กว่า 100 คนรวมกลุ่มชาวประมงฟุกุชิมะ และจากจังหวัดใกล้เคียงจะยื่นเรื่องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อศาลแขวงฟุกุชิมะในวันศุกร์ (8) นี้ ซูกี ทานจิ (Sugie Tanji) สมาชิกกลุ่มที่ต้องการยื่นฟ้องเปิดเผย
เธอกล่าวว่า “รัฐบาลโตเกียวล้มเหลวที่จะรักษาสัญญาของการต้องได้ไฟเขียวจากบรรดาชาวประมงก่อนที่จะดำเนินการตัดสินใจเช่นนั้นเพื่อปล่อยน้ำ”
และเสริมต่อว่า “นี่เป็นนโยบายที่ผิดพลาดจากการที่ไม่สนใจต่อการต่อต้านอย่างรุนแรงที่ไม่ใช่แค่มาจากกลุ่มสหกรณ์ชาวประมงฟุกุชิมะ แต่ยังมาจากกลุ่มสหกรณ์อื่นๆ ที่อยู่ทั่วประเทศ”
แถลงการณ์ของกลุ่มต่อต้านยังชี้ว่า “การปล่อยลงมหาสมุทรนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอดทนได้จากการที่จะยิ่งทำให้เหยื่อจากเหตุการณ์วิกฤตนิวเคลียร์นั้นได้รับความบอบช้ำมากขึ้น”
หนังสือพิมพ์สิงคโปร์รายงานว่า โรงงานไฟฟ้าเทปโกจะปล่อยน้ำบำบัดลงสู่มหาสมุทรที่มีขนาดมวลน้ำมหาศาลเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิกรวมกันถึง 540 สระในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า