xs
xsm
sm
md
lg

ครบหนึ่งปี ‘พระเจ้าชาร์ลส์’ ขึ้นครองราชย์ กูรูชี้เปลี่ยนผ่านรัชสมัยราบรื่นเกินคาดหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร (กลาง) พร้อมพระราชินี คามิลลา (ขวา) และเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชกนิษฐา (ซ้าย) ขณะเสด็จไปงานแข่งขันกีฬาที่ราบสูงชาวสกอต ที่เมืองเบรมาร์ บริเวณตอนกลางของสกอตแลนด์ เมื่อวันเสาร์ (2 ก.ย.) ที่ผ่านมา
พวกผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์ลงความเห็น ตลอดหนึ่งปีแรกที่ครองราชย์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ของสหราชอาณาจักร ทรงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยได้อย่างราบรื่นเกินคาด และได้รับความนิยมจากพสกนิกรมากขึ้น ทั้งนี้ พระองค์ดูเหมือนทรงเลือกทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล เพื่อส่งราชบัลลังก์ให้เจ้าฟ้าชายวิลเลียมต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังทรงสามารถจัดการกับเรื่อง “เม็กซิต” ได้อย่างดีมาก

คาดกันว่า ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในวันศุกร์ (8 ก.ย.) ที่จะถึงนี้ จะมีเพียงพิธีฉลองเป็นการส่วนพระองค์ เนื่องจากเป็นวันเดียวกับวันสวรรคตของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระบรมราชมารดา

พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ทรงมีพระชนมายุ 74 พรรษา เข้ารับบทบาทใหม่อย่างราบรื่นหลังจากรอคอยมานาน 70 ปีในฐานะองค์รัชทายาทของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคาดหวังเกี่ยวกับการปฏิรูป กลับยังไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในราชวงศ์อังกฤษแต่อย่างใด ทำให้หลายคนมองว่า พระเจ้าชาร์ลส์ทรงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ดูแล ก่อนส่งต่อราชบัลลังก์ตลอดจนภาระหน้าที่การปฏิรูปทั้งหลายให้แก่พระราชโอรสองค์โตคือ เจ้าฟ้าชายวิลเลียม

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมปีที่แล้ว ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แม้ดำเนินไปอย่างเริดหรูตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ตกทอดมาหลายศตวรรษ แต่ก็กระชับและวิจิตรบรรจงน้อยกว่าพระราชพิธีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสะท้อนให้เห็นราชวงศ์อังกฤษในยุคสมัยใหม่

พอลีน แมคลาแรน อาจารย์ของรอยัล ฮอลโลเวย์ มหาวิทยาลัยลอนดอน มองว่า การเปลี่ยนผ่านจากรัชสมัยควีนเอลิซาเบธ เป็นไปอย่างราบรื่นเกินคาด และอาจคาดหวังได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่เล็กๆ น้อยๆ โดยตนเชื่อว่า เจ้าฟ้าชายวิลเลียมนั่นแหละที่จะทรงเป็นผู้นำพาสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษเข้าสู่ความทันสมัยอย่างแท้จริง

เวลาเดียวกัน ถึงแม้ปัจจุบันพระเจ้าชาร์ลส์ยังคงได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนน้อยกว่าพระราชมารดา ตลอดจนเจ้าฟ้าชายวิลเลียมที่ทรงมีพระชนมายุ 41 พรรษาแล้ว แต่ผลสำรวจของยูกอฟพบว่า คนอังกฤษ 55% มีความเห็นแง่บวกกับพระประมุของค์นี้ เทียบกับ 44% เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่พระราชดำรัสของพระเจ้าชาร์ลส์เนื่องในวันคริสต์มาสครั้งแรกตามธรรมเนียมอังกฤษและเครือจักรภพ ปรากฏว่ามีผู้ชมทางทีวีในสหราชอาณาจักรถึง 10.6 ล้านคน

ในฐานะกษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งบ่อยครั้งมีพระราชินีคามิลลา ตามเสด็จด้วย โดยมักเป็นการปรากฏพระองค์อย่างเปิดเผยและประชาชนเข้าถึงได้มากกว่าควีนเอลิซาเบธ

โจนาธาน สแปรงเลอร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมโทรโปลิแทน ชี้ว่า แม้แต่พระบรมฉายาลักษณ์ต่างๆ ที่สำนักพระราชวังนำออกเผยแพร่ยังดูผ่อนคลายและมีความเป็นมนุษย์ธรรมดามากขึ้น และเสริมว่า พระเจ้าชาร์ลส์ทรงตระหนักว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พระองค์จะต้องดำเนินการ

อาจารย์แมคลาแรน ขานรับว่า พระเจ้าชาร์ลส์ทรงแสดงถึง “ความถ่อมตนและเข้าถึงได้” ในช่วงเวลาที่อังกฤษเผชิญวิกฤตค่าครองชีพเลวร้ายที่สุดในหนึ่งช่วงอายุคน

ทางด้าน แอนนา ไวต์ล็อก นักประวัติศาสตร์ที่เฝ้าติดตามราชวงศ์อังกฤษ ชี้ว่า ในช่วงหนึ่งปีที่พระเจ้าชาร์ลส์ครองราชย์ แม้ไม่มีความผิดพลาดครั้งใหญ่ แต่ก็ไม่มีเสี้ยวนาทียิ่งใหญ่เช่นกัน จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า พระองค์จะตอบเสียงเรียกร้องให้ขอโทษเรื่องมรดกยุคอาณานิคม ตลอดจนคำถามเกี่ยวกับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอย่างไร

เห็นได้ชัดว่ากลุ่มสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐที่ต้องการให้ตำแหน่งประมุขรัฐมาจากการเลือกตั้ง กำลังถือโอกาสนี้จุดชนวนการถกเถียงรอบใหม่เกี่ยวกับอนาคตของราชวงศ์อังกฤษภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นที่เงียบกริบมานานในยุคสมัยที่พสกนิกรอังกฤษต่างเคารพรักควีนเอลิซาเบธ

ทั้งนี้ บ่อยครั้งที่มีกลุ่มคนชูป้ายและตะโกนต่อต้านราชวงศ์ไปรอรับเสด็จพระเจ้าชาร์ลส์ และแม้แต่มีความพยายามขว้างปาไข่ใส่พระองค์

นอกเหนือจากสหราชอาณาจักร พระเจ้าชาร์ลส์ที่ทรงเป็นพระประมุขของ 14 ประเทศเครือจักรภพ เคยเสด็จเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการเพียงประเทศเดียวคือเยอรมนีนับจากขึ้นครองราชย์ แต่มีรายงานว่า สำนักพระราชวังกำลังเตรียมหมายกำหนดการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ เพื่อปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศในเครือจักรภพ

ในทางกลับกัน กษัตริย์พระองค์นี้ของสหราชอาณาจักรได้ทรงต้อนรับการเยือนของผู้นำต่างชาติหลายคน เช่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน

สแปรงเลอร์ชี้ว่า ขณะที่ควีนเอลิซาเบธถูกมองว่า ทุ่มเทให้เครือจักรภพเป็นพิเศษ แต่สำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ทรงเน้นย้ำภาพรวมของทั่วโลกมากกว่า

สำหรับกิจการภายในประเทศนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ต้องรับมือกับซีรีส์กึ่งสารคดีของพระราชโอรสองค์เล็กคือ เจ้าชายแฮร์รี.และเมแกน พระชายาชาวอเมริกัน ที่อ้างเหตุผลของการหยุดปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระราชวงศ์ และอพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2020 หรือที่เรียกกันว่า “เม็กซิต” โดยกล่าวโทษติเตียนทั้งพระเจ้าชาร์ลส์ ควีนคามิลลา เจ้าชายวิลเลียม และสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรวม

แมคลาเรนยกย่องว่า พระเจ้าชาร์ลส์จัดการเรื่องนี้ได้ดีมาก โดยทรงยึดถือตามพระราชดำรัสของพระราชมารดาในการ “ไม่ต้องอธิบายหรือคร่ำครวญ” เมื่อถูกกล่าวหา

(ที่มา : เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น