เอเจนซีส์/รอยเตอร์/MGRออนไลน์ - เฮติหลังบ้านสหรัฐฯ กลายเป็นแดนสิสัญญีหลังสหประชาชาติเผยยอดผู้เสียชีวิตหรือถูกลักพาตัวเพิ่ม 14% ในไม่กี่เดือน พบตำรวจเฮติเกือบ 800 นายลาออก โดนวิจารณ์หนัก วอชิงตันไม่สนใจความโกลาหลหลังบ้านตัวเอง รีบจับผู้อพยพเฮติยัดเครื่องบินส่งกลับปอร์โตแปรงซ์ ขณะที่สั่งอพยพอเมริกันออกนอกประเทศ
หนังสือพิมพ์ไมอามีเฮอรัลรายงานวันนี้ (3 ก.ย.) ว่า เฮติกลายเป็นจุดอ่อนไปแล้วสำหรับตำรวจโลกเช่น สหรัฐฯ ที่ชูธงเสรีภาพและความเท่าเทียมซึ่ง เฮติ เปรียบเสมือนหลังบ้านของตัวเอง
อัลญะซีเราะฮ์ของกาตาร์รายงานเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังวอชิงตันออกคำสั่งให้พลเมืองอเมริกันรีบอพยพออกไปจากประเทศหมู่เกาะที่ยากจนกลางทะเลแคริบเบียนแห่งนี้ โดยให้เหตุผลถึงความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้นหลังแก๊งเถื่อนมาเฟียออกอาละวาดอย่างหนัก ทั้งเผาบ้าน ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้ และลักพาตัวเรียกค่าไถ่
แต่ในเวลาเดียวกันสหรัฐฯ ได้สั่งขับผู้อพยพเฮติที่เดินทางไปจนถึงพรมแดนทางใต้ของอเมริกาสำเร็จ รอยเตอร์รายงานว่า เช้าวันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ ตูแซงต์ ลูเวอร์เจอร์ (Toussaint Louverture) ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ อ้างอิงจากเอกสารกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ มีเครื่องบินนำผู้อพยพเฮติ 66 คนเดินทางมาถึง
รอยเตอร์รายงานว่า และเป็นช่วงเวลาเดียวกันแบบหลังชนหลัง มีกลุ่มคนเล็กๆ รวมไปถึงผู้คนที่เดินทางด้วยรถมาจากสถานทูตสหรัฐฯ ในเมืองหลวงเฮติได้รวมตัวกันที่รันเวย์เพื่อเตรียมขึ้นเครื่องบินโบอิ้ง 767 เครื่องเช่าเหมาลำสายการบิน Omni Air International เพื่ออพยพกลับบ้านในสหรัฐฯ ก่อนหน้าหลังพยาบาลอเมริกันเคยโดนลักพาตัวพร้อมลูกสาวเมื่อกรกฎาคมก่อนถูกปล่อยตัวออกมาเป็นอิสระในเวลาต่อมา
ไมอามีเฮอรัลด์ชี้ว่า รายงานจากองค์การสหประชาชาติที่ออกมาในวันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) เปิดเผยมีตำรวจเฮติ 744 นายออกจากตำแหน่งภายในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้
จากจำนวนทั้งหมดมีผู้หญิงรวมอยู่ 77 นาย เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูร์เตร์เรส (António Guterres) ชี้ว่า ทั้ง 744 นายนี้ออกจากตำแหน่งจากสาเหตุทั้งลาออกเอง หรือทิ้งงาน ที่พบว่ามีเป็นจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศไป โดนถูกปลดออก การเกษียณอายุ และการเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
ในปัจจุบัน 80% ของกรุงปอร์โตแปรงซ์ของเฮติโดนควบคุมโดยแก๊งมาเฟีย
รักษาการนายกรัฐมนตรีเฮติ แอเรียล อองรี (Ariel Henry) เมื่อตุลาคมปีที่แล้วได้ออกมาขอความช่วยเหลือจากนานาชาติให้เข้ามาแทรกแซงด้วยการตั้งกองกำลังสันติภาพขึ้น ซึ่งทั้งกูเตเรส และสหรัฐฯ ร่วมเรียกร้อง
อัลญะซีเราะฮ์กล่าวในรายงานเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ว่า แต่ทว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งเทงบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยยูเครนจากเงื้อมมือรัสเซีย "กลับปฏิเสธยืนกรานไม่ต้องการเป็นผู้นำปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในเฮติ" ประเทศหมู่เกาะที่ยากจนกลางทะเลแคริบเบียน สหรัฐฯ ยังมีปัญหาในการหาชาติพันธมิตรเพื่อออกหน้าเข้ามาแทรกแซงในเฮติ
เฮตินั้นขึ้นชื่อในเรื่องความรุนแรงและการลักพาตัว เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา เคนยาตามการชักชวนของสหรัฐฯ ได้เสนอตัวจะส่งกำลังตำรวจ 1,000 นายเพื่อฝึกตำรวจเฮติและสนับสนุนปฏิบัติการตำรวจเฮติ แต่โดนกลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความวิตกโดยชี้ว่า ต้องมีการกำหนดกรอบเพื่อป้องกัน อัลญะซีเราะฮ์รายงาน
สื่อไมอามีชี้ว่า กำลังตำรวจจากเคนยาจำเป็นต้องได้รับการโหวตออกเสียงจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติก่อนที่จะเดินทางไปได้แต่ทว่าการโหวตยังไม่ได้เกิดขึ้น
UN ชี้ว่าความรุนแรงในเฮติมีเพิ่มขึ้น และแค่ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวเลขบาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า 70 คนในกรุงปอร์โตแปรงซ์
สเตฟาน ดูจาร์ริค (Stéphane Dujarric) โฆษกเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ไม่ได้เปิดเผยว่า กูเตเรสจะหารือกับผู้นำเคนยาในเรื่องเฮติระหว่างเขาเดินทางเข้าร่วมการประชุมความเปลี่ยนแปลงทางาสภาพภูมิอากาศโลกที่กรุงไนโรบี วันอาทิตย์ (3) ที่มีเคนยาเป็นเจ้าภาพ
โฆษกได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเฮติว่า “มีไม่ต่ำกว่า 10,000 คนไร้ที่อยู่ในระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และต้องอาศัยใน 20 จุดและกับครอบครัวโฮสที่ให้การรับรอง”
เขากล่าวอีกว่า “มาจนถึงปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 2,500 คนที่เสียชีวิต และอีกเกือบ 1,000 คนที่บาดเจ็บ”
ในรายงานขององค์การสหประชาชาติที่เปิดเผยวันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) ยูเอ็นยอมรับว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเฮติอ่อนแอ และไม่มีศักยภาพที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ซึ่งตัวเลขที่เปิดเผยในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เฮติมีตำรวจทั้งหมด 14,295 นาย แต่ทว่ามีเพียงแค่ 3,300 นายเท่านั้นที่รักษาความสงบสาธารณะ แต่ไม่มีการเปิดเผยว่ามีตัวเลขเท่าใดที่ปฏิบัติการต่อต่านแก๊งมาเฟีย
ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคมปีนี้มีตำรวจเฮติเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว 30 นาย
ไมอามีเฮอรัลรายงานว่า กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า "มีจำนวนตำรวจเฮติ" มากน้อยเพียงใดที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ภายใต้โครงการของประธานาธิบดีไบเดนที่เริ่มใช้เมื่อมกราคมต้นปี
กระทรวงกล่าวเพียงว่ามีพลเมืองเฮติ 63,000 คนถูกตรวจสอบและได้รับการอนุญาตให้เข้าสู่สหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วราว 50,000 คน
ด้านผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ท็อดด์ โรบินสัน (Todd Robinson) ให้สัมภาษณ์กับไมอามีเฮอรัลว่า สหรัฐฯ จะยังคงทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเฮติเกี่ยวกับการรับเจ้าหน้าที่ใหม่ และทำให้มั่นใจว่ารัฐบาลเฮติจะจ่ายเงินเดือนตำรวจของตัวเอง