สหรัฐฯ อาจหาทางประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของสหราชอาณาจักร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 อ้างอิงจากเอกสารงบประมาณของกระทรวงกลาโหมอเมริกา (เพนตากอน) วิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ และสื่อมวลชนอังกฤษ
นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวบ่งชี้ว่า ได้มีการพิจารณาส่งเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ ศักยภาพจู่โจมด้วยระเบิดนิวเคลียร์เข้าประจำการ ณ ฐานทัพอากาศแห่งเดียวกันในสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน
หนังสือพิมพ์เทเลกราฟ รายงานในวันพุธ (30 ส.ค.) ว่าเมื่อเดือนมีนาคม ทางกองทัพสหรัฐฯ ได้ยื่นงบประมาณต่อสภาคองเกรส จำนวน 50 ล้านดอลลาร์ สำหรับจัดสร้างหอความมั่นคงใหม่ ณ ฐานทัพอากาศลาเคนฮีท ในเมืองซัฟฟอล์ค ทางเหนือของกรุงลอนดอน
อ้างอิงข้อมูลของทางสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน คำว่า "หอความมั่นคง" บ่อยครั้งที่เพนตากอนใช้อ้างถึง "สถานที่ที่มีศักยภาพจัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย มั่นคงและอยู่ภายใต้การควบคุมในเชิงบวก" ในขณะที่เอกสารงบประมาณได้พาดพิงถึงโครงการหนึ่งของนาโตในการก่อสร้างแหล่งที่ตั้งและสิ่งปลูกสร้างที่ปลอดภัยสำหรับจัดเก็บ "อาวุธพิเศษ" ในสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ยืนยันเกี่ยวกับโครงการพัฒนาใหม่ๆ ในฐานทัพดังกล่าว
สำหรับฐานทัพอากาศลาเคนฮีท เป็น 1 ใน 3 สถานที่ในสหราชอาณาจักรที่เคยเป็นที่ตั้งของอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ตลอดช่วงสงครามเย็น โดยมันจัดเก็บหัวรบของอเมริกามากถึง 110 ลูก จนกระทั่งมีการถอนออกไปในปี 2008 นอกจากนี้ วอชิงตันยังเคยจัดหาระเบิดปรมาณูแก่กองกำลังหราชอาณาจักร ภายใต้แนวคิดริเริ่มที่มีชื่อว่าโครงการ "Project E" จนถึงปี 1992 ไม่นานตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ฮามิช เดอ เบรตตัน-กอร์ดอน อดีตผู้บัญชาการกองทหารร่วมด้านเคมี ชีววิทยา รังสีวิทยาและนิวเคลียร์ ของสหราชอาณาจักรและนาโต ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ว่าสิ่งปลูกสร้างด้านความมั่นคงใหม่นี้ดูเหมือนว่าจะถูกใช้จัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์
"ในกรณีนี้ หอความมั่นคงคือบังเกอร์สำหรับใช้จัดเก็บขีปนาวุธนิวเคลียร์และหัวรบนิวเคลียร์ มันจำเป็นต้องมีความแข็งแรงและเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย หากรัสเซียต้องการหย่อนระเบิดใส่พวกมัน มันจะไม่ก่ออุบัติเหตุทางนิวเคลียร์" เขากล่าว
เอกสารของงบประมาณของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าโครงการก่อสร้างหอความมั่นคงมีกำหนดเริ่มต้นขึ้นในฤดูร้อนปีหน้า และแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2026
ในคำร้องของบประมาณเดียวกันของเพนตากอน ยังเผยด้วยว่าวอชิงตันมีแผนประจำการเครื่องบินขับไล่ F-35 A จำนวน 2 ฝูงบิน ณ ฐานทัพอากาศลาเคนฮีท ทั้งนี้ F-35 A มีศักยภาพปฏิบัติการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี ในขณะที่แหล่งข่าวของกองทัพสหราชอาณาจักรที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม บอกกับเทเลกราฟว่า เครื่องบิน F-35 จะถูกส่งเข้ามาแทนที่ฝูงบิน F-15 ของสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ ณ ฐานทัพอากาศแห่งนี้มาสักพักแล้วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
แนวโน้มการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในสหราชอาณาจักรครั้งใหม่ โหมกระพือความวิตกกังวลแก่บรรดานักวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย โดยองค์กรรณรงค์เพื่อการลดอาวุธนิวเคลียร์ เน้นย้ำว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าว "ยิ่งกว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความผิดชอบ"
"การประจำการระเบิดนิวเคลียร์ใหม่ B61-12 ในยุโรป จะบ่อนทำลายโอกาสใดๆ สำหรับสันติภาพโลก และแน่นอนว่า สหราชอาณาจักรจะกลายเป็นเป้าหมายในความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ/นาโตกับรัสเซีย" เคท ฮัดสัน เลขาธิการใหญ่ขององค์กรรณรงค์เพื่อการลดอาวุธนิวเคลียร์กล่าว "มันชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มันเป็นอีกครั้งที่ฐานทัพอากาศลาเคนฮีท จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในกลไกทางนิวเคลียร์ในต่างแดนของวอชิงตัน"
ระหว่างแถลงสรุปเมื่อเร็วๆ นี้ ครั้งที่ถูกถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะส่งอาวุธนิวเคลียร์กลับไปประจำการยังฐานทัพอากาศลาเคนฮีท ทาง ซาบรินา ซิงห์ รองเลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของเพนตากอน ตอบแบบเลี่ยงๆ ว่า มันเป็นนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะไม่ยืนยันหรือปฏิเสธการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์ ณ แห่งหนใด"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)