xs
xsm
sm
md
lg

ระวังไว้!! “อินเดีย-มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์” สุดฉุนประท้วงรุนแรง “ปักกิ่ง” เปิด "แผนที่เส้นประ 10 เส้น" กินดินแดนอรุณาจัลประเทศ-น่านน้ำเกาะบอร์เนียว-เขตเศรษฐกิจจำเพาะมะนิลา รับ “สี” บินประชุม G20 ที่นิวเดลี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/เอพี/MGRออนไลน์ - อินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ร่วมกันประท้วงล่าสุดวันนี้ (31 ส.ค.) ต่อแผนที่มาตรฐานปี 2023 ซึ่งปักกิ่งเปิดเผยในวันจันทร์ (28 ส.ค.) พบแผนที่ใหม่กินดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศ ที่ราบสูงอักไสชิน (Aksai Chin plateau) อ้างเป็นดินแดนจีน แผนที่ยังแสดงสิทธิครอบครองน่านน้ำเกาะบอร์เนียวของรัฐซาบาห์ และรัฐซาราวักของมาเลเซียด้านมะนิลาสุดฉุน แผนที่เส้นประ 10 เส้นลากกินพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลของฟิลิปปินส์ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก

CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (31 ส.ค.) ว่า ฟิลิปปินส์กลายเป็นชาติล่าสุดออกมาประท้วงจีนหลังในวันจันทร์ (28) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีนออกแผนที่มาตรฐานปี 2023 (2023 standard map) ที่รู้จักในชื่อ "แผนที่เส้นประ 10 เส้น" อ้างจากหนังสือพิมพ์มะนิลาไทม์ส พบแผนที่ใหม่ที่รายงานออกมาโดยสื่อโกบอลไทม์สของจีน อ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลของฟิลิปปินส์ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก

ตามแผนที่ใหม่ที่กินอาณาเขตลึกเข้าไปในดินแดนประเทศเพื่อนบ้านอื่นทั้งอินเดียและมาเลเซีย ซึ่งอินเดียออกมาประท้วงในวันอังคาร (29) เป็นประเทศแรกหลังพบแผนที่ใหม่จีนอ้างสิทธิดินแดนบางส่วนของรัฐอรุณาจัลประเทศ และที่ราบสูงอักไสชิน (Aksai Chin plateau) ว่าเป็นดินแดนของปักกิ่งอย่างเป็นทางการเรียบร้อย

ส่วนมาเลเซียออกมาประท้วงในวันพุธ (30) หลังพบน่านน้ำนอกชายฝั่งเกาะบอร์เนียวของรัฐซาบาห์ และรัฐซาราวักถูกปักกิ่งอ้างสิทธิครอบครองเช่นกัน

เดลีเทเลกราฟของอังกฤษรายงานว่า รัฐบาลนิวเดลีแถลงได้ยื่นประท้วงอย่างรุนแรงทางการทูตต่อปักกิ่งอย่างเป็นทางการต่อแผนที่มาตรฐานปี 2023

โดย สุพรหมณยัม ชัยศังกร (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอินเดียได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้กับ NDTV ของอินเดียว่า “การออกมาอ้างอย่างแปลกประหลาดต่อดินแดนอินเดียจะไม่ทำให้มันกลายเป็นดินแดนของจีนไป”

ทั้งนี้ อินเดียจะเป็นประเทศเจ้าภาพการจัดการประชุมกลุ่ม G20 ที่กรุงนิวเดลี ระหว่าง 9-10 ก.ย.ที่จะถึงนี้

โดยเดลีเทเลกราฟระบุว่า ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิงมีรายงานว่าจะเดินทางเข้าร่วมและเชื่อว่าสีจะพบกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี

ซึ่งล่าสุด โมดีประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลกสามารถนำยานจันทรายาน-3 (Chandryaan-3) ของอินเดียลงขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก แซงหน้าทั้งสหรัฐฯ และจีนไปได้ รวมถึงรัสเซียที่ล้มเหลว

เป็นการร่อนลงจอดบนพื้นผิวแบบทัชดาวน์อย่างนุ่มนวล ก่อนส่งวิกรมแลนเดอร์ (Vikram lander) ออกไปสำรวจพร้อมกับส่งข่าวดีกลับมา

เอพีรายงานวานนี้ (30) ว่า อินเดียพบบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์นั้นพบแร่ธาตุซัลเฟอร์และแร่อื่นๆ ถือเป็นความก้าวหน้าทางอากาศล่าสุดของอินเดียกำลังจะแซงหน้าชาติมหาอำนาจทางอากาศอื่นๆ ขณะที่ญี่ปุ่นที่กำลังมีความพยายามส่งจรวด H2-A ภายใต้ปฏิบัติการ Moon Sniper lunar mission เพื่อสำรวจดวงจันทร์ แต่ต้องเลื่อนการส่งออกไปเมื่อ 3 วันก่อนหน้าเนื่องมาจากลมแรง รอยเตอร์รายงาน

CNN รายงานต่อว่า กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียออกแถงการณ์โต้การอ้างสิทธิครอบครองจากปักกิ่งเช่นกัน โดยชี้ว่าเป็นการอ้างถือกรรมสิทธิ์แต่ฝ่ายเดียว และทางกัวลาลัมเปอร์จะยังคงยืนยันต่อเนื่องต่อจุดยืนของตัวเองในการปฏิเสธการอ้างสิทธิครอบครองใดๆ ของต่างชาติเหนือสิทธิอธิปไตยมาเลเซียและขอบเขตอำนาจทางตุลาการต่อน่านน้ำของมาเลเซีย

ทว่าเสียงความไม่พอใจจากประเทศเพื่อนบ้านต่อแผนที่ใหม่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีนถูกปักกิ่งปัด

CNN รายงานว่าโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน หวัง บิน กล่าวผ่านแถลงการณ์ในวันพุธ (20) โดยชี้ว่าการแก้ไขเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจทางอธิปไตยตามปกติของจีนซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมาย

“ทางเราหวังว่าฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะยังคงตั้งอยู่ในความปราศจากอคติ อยู่ในความสงบ และเว้นจากการตีความเกินจริงต่อปัญหา” รายงานจากแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีน

อินเดียซึ่งเป็นชาติปากเสียงหลักต่อพื้นที่ขัดแย้งร่วมกับปักกิ่งครั้งนี้ สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า ได้สร้างแรงกดดันต่อนายกรัฐมนตรีโมดีภายในประเทศ

ราหุล คานธี ผู้นำพรรคคองเกรสอินเดียได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าววันพุธ (30) ว่า “ผมได้เคยกล่าวมาเป็นเวลาหลายปีแล้วว่านายกรัฐมนตรีอินเดียโกหกจากการที่เขาเคยพูดว่าจะไม่เสียดินแดนแม้แต่ 1 นิ้วเดียวในลาดัคห์ (Ladakh)”

และเสริมต่อว่า “คนทั้งหมดในลาดัคห์รู้แล้วว่า จีนได้ฮุบดินแดนของพวกเรา ประเด็นแผนที่นี้มีความร้ายแรงมาก..นายกรัฐมนตรีสมควรที่ต้องพูดออกมา”

สื่อ Mint รายงานวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า จีนเร่งก่อสร้างบังเกอร์ สิ่งปลูกสร้างใต้ดินใกล้กับเส้นควบคุมที่แท้จริง LAC (Line of Actual Control) หรือเส้นพรมแดนระหว่างจีนและอินเดีย ตามการรายงานกล่าว การก่อสร้างเกิดขึ้นในพื้นที่ราบสูงอักไสชิน

การสร้างบังเกอร์เกิดขึ้นใน 3 จุด และมีความเคลื่อนไหวในอุโมงค์ใต้ดินอีกกว่า 3 แห่ง  โดยทั้งหมด 6 จุดเกิดขึ้นภายในพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตร

โดยภาพดาวเทียมจากบริษัท Maxar พบว่าการก่อสร้างของจีนเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6  ธ.ค.ปี 2021 ถึงวันที่ 18 ส.ค.ปี 2023 

CNN รายงานว่า ที่ผ่านมาโมดีส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นพิพาททางพรมแดนต่อสาธารณะ

หนังสือมะนิลาไทม์สรายงานเปิดเผยว่า ตามแผนที่มาตรฐาน ปี 2023 ของจีนยังแสดงว่า ไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่

กระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์วันพฤหัสบดี (31) โต้อย่างดุเดือด แถลงขอให้ปักกิ่งยังคงยึดมั่นคำพิพากษาศาลอนุโตตุลาการระหว่างประเทศปี 2016 ที่ชี้ว่า แผนที่ประ 9 เส้นของปักกิ่งนั้นผิดกฎหมาย และปักกิ่งต้องทำตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 UNCLOS

หนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์รายงานว่า มีนักการเมืองฟิลิปปินส์หลายคนออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้เป็นต้นว่า ส.ว.อานา เทเรเซีย “ริซา” ฮอนติเวรอส (Sen. Ana Theresia "Risa" Hontiveros) ออกมาแสดงความเห็น ปักกิ่งกำลังหลอนอยู่กับภาพลวงตาจากการที่ได้ออกแผนที่อัปยศที่แสดงแผนที่เส้นประ 10 เส้นที่แอบอ้างสิทธิทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน






กำลังโหลดความคิดเห็น