เอเจนซีส์/เอพี/MGRออนไลน์ - อเมริกาเกิดความโกลาหล เมื่อมือปืนผิวขาววัย 21 ปี ไรอัน คริสโตเฟอร์ พัลมีเตอร์ (Ryan Christopher Palmeter) วันเสาร์ (26 ส.ค.) ใช้ปืนไรเฟิล AR-15 ติดสัญลักษณ์สวัสดิกะของนาซียิงแอฟริกันอเมริกันเสียชีวิต 3 ราย ในร้านดอลลาร์เจนเนอรัลสโตร์ มุ่งทำร้ายผิวสีในวันฉลองรำลึกวันประวัติศาสตร์ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นำแอฟริกันอเมริกันเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมถึงวอชิงตัน ดี.ซี. พร้อมกับคำคม “I have a dream” แคนาดาเพื่อนบ้านวิตกหนักเปิดใจเตรียมรับวิกฤต ปชต.หดหายหากอเมริกาขวาจัดชนะเลือกตั้งปีหน้า
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวานนี้ (27 ส.ค.) ว่า สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางสีผิวไม่แพ้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุค 60 ที่ปัจจุบันยังได้เห็นแอฟริกันอเมริกันถูกตำรวจสหรัฐฯ ทำร้ายเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากสุนัขตำรวจที่จงใจปล่อยให้กัดระหว่างจับกุม หรือการกีดกันการสอนวิชาประวัติแอฟริกันอเมริกันในโรงเรียนภายในประเทศที่ถูกก่อตั้งมาพร้อมกับทาส
ประเทศที่จอร์จ วอชิงตัน บิดาแห่งอเมริกาที่เรียกกันติดปากว่า The Founding Father ที่ถือเป็นพ่อผู้ก่อตั้งประเทศและในฐานะอดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคพื้นทวีปในสงครามประกาศอิสรภาพปี 1776 นั้นได้ความร่ำรวยมาจากแรงงานทาสที่ไร่ของตัวเองในเมาท์ เวอร์นอน (Mount Vernon) ในรัฐนิวยอร์ก
วันเสาร์ (26) ขณะที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.กำลังเฉลิมฉลองวันประวัติศาสตร์ครั้งที่ 60 ที่บาทหลวง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสิทธิมนุษยชนเดินขบวนนำแอฟริกันอเมริกันชน 250,000 คนเดินไปจนถึงกรุงวอชิงตันเพื่อทวงถามถึงสิ่งที่วอชิงตันติดค้างต่อชาวแอฟริกันอเมริกันพร้อมกับคำคม “I have a dream” ที่มีใจความว่าเขาหวังใจว่าในอนาคตข้างหน้า ลูกๆ ของเขาจะถูกเลี้ยงดูมาอย่างเท่าเทียมและคนทั่วไปจะไม่ตัดสินคนจากสีผิว ชาติกำเนิด หรือความแตกต่างอื่น
ซึ่งในวันเสาร์ (26) มีคนจำนวนมากหลายหมื่นเข้าร่วมการชุมนุม
"เมื่อ 60 ปีก่อนหน้า สาธุคุณ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ได้พูดถึงความฝัน (แต่) 60 ปีหลังจากนั้น พวกเรากลายเป็นคนช่างฝัน (ที่ยากจะเป็นจริง)” สาธุคุณ อัล แชปตัน (Rev. Al Sharpton) ผู้นำกลุ่ม National Action Network ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ออแกไนเซอร์ที่จัดงานรำลึกนี้ขึ้นมา NPR ของสหรัฐฯ รายงาน
และในเวลาเดียวกันของบ่ายวันเสาร์ (26) ที่รัฐฟลอริดา.มือปืนผิวขาววัย 21 ปี ไรอัน คริสโตเฟอร์ พัลมีเตอร์ (Ryan Christopher Palmeter) บุกยิงแอฟริกันอเมริกันเสียชีวิต 3 รายที่รัฐฟลอริดา
เป็นการใช้ปืนไรเฟิล AR-15 ที่มีการเพนต์รูปสวัสดิกะของนาซีติดไว้ที่กระบอกก่อนที่จะเปิดฉากยิงไป 11 นัดไปที่หญิงคนหนึ่งที่นั่งอยู่ภายในรถด้านนอกที่เมืองแจ็กสันวิลล์ (Jacksonville) ก่อนที่จะเข้าไปภายในร้านดอลลาร์เจนเนอรัลสโตร์ หรือร้าน 1 ดอลลาร์ (35 บาท) เปิดฉากยิงอีก 2 คนเสียชีวิต กลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรมที่เขย่าทั้งประเทศ
เอพีรายงานว่า เหตุยิงร้านดอลลาร์เจนเนอรัลสโตร์เกิดขึ้นก่อนเวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ (27)
ทั้งนี้ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา รอน เดอ ซานติส ที่เป็นตัวตั้งตัวตีแบนความเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมของชนกลุ่มน้อยทั้งผิวสี เช่น การแบน critical theory และแบนกลุ่มเพศทางเลือก LGBTQ โดนโห่ไล่ในพิธีจุดเทียนรำลึกเหตุยิงครั้งอุกอาจนี้
CNN รายงานว่านายอำเภอเมืองแจ็กสันวิลล์ ที.เค.วอเตอร์ส (T.K. Waters) เปิดเผยว่า มือปืนผิวขาวหลังจากบุกยิงได้หันกระบอกปืนจ่อปลิดชีพตัวเอง
ซึ่งนายกเทศมนตรี ดอนนา ดีแกน (Donna Deegan) ประกาศว่าเหตุยิงแจ็กสันวิลล์เป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่มีพื้นฐานมาจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติ
ขณะที่หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ ยูเอสเอทูเดย์ เปิดเผยว่า พัลมีเตอร์ วัย 21 ปีที่ทิ้งจดหมายแสดงเจตจำนงไว้ในคอมพิวเตอร์ที่บ้านที่เขาอาศัยอยู่กับพ่อแม่นั้นไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน และปืนที่ใช้ซื้อมาอย่างถูกกฎหมายก่อเหตุบุกยิง
นายอำเภอแจ็กสันวิลล์ยืนยันว่า มือปืนก่อเหตุเพราะเกลียดชังคนผิวดำซึ่งจดหมายแสดงเจตจำนงนั้นระบุอย่างชัดเจนว่า เขาเป็นคนบ้าคลั่งและรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
ดิอินดีเพนเดนท์ของอังกฤษรายงาน รูดอล์ฟ แม็คคิสซิค (Rudolph McKissick) ซึ่งเป็นสมาชิกบอร์ดบริหากลุ่ม National Action Network ไม่ได้เข้าร่วมการรำลึกที่วอชิงตัน แต่ทว่าเขาแสดงความเห็นถึงเหตุมือปืนผิวขาวบุกยิงในวันสำคัญนี้ว่า
“มันช่างน่าเย้ยหยันที่ในวันที่พวกเรากำลังเฉลิมฉลองวันเดินมาร์ชที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่ง ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ได้ยืนขึ้นและกล่าวถึงความฝันสำหรับความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและเพื่อความรัก แต่ทว่าพวกเรายังคงอาศัยอยู่ในประเทศที่ความฝันไม่เป็นความจริง"
และเสริมต่อว่า “ความฝันนั้นถูกแทนที่ด้วยความเกลียดชัง”
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ เมอริค การ์แลนด์ แถลงวันอาทิตย์ (27) ว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้สอบสวนคดียิงแจ็กสันวิลล์นี้ในฐานะคดีความเกลียดชังทางเชื้อชาติ
ความเคลื่อนไหวการกีดกันทางเชื้อชาติในสหรัฐฯ มีมากขึ้นหลังต้นปีนี้ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา รอน เด ซานติส สั่งห้ามโรงเรียนวิชาการศึกษาแอฟริกันอเมริกันระดับสูงภายในรัฐ
เอพีรายงานเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ว่า รัฐอาร์คันซอกลายเป็นรัฐล่าสุดที่ประกาศแบนวิชาการศึกษาแอฟริกันอเมริกันขั้นสูง (AP African American studies) โดยรัฐสั่งห้ามนับวิชานี้รวมอยู่ในการสำเร็จการศึกษา
เกิดขึ้นหลังรัฐสีแดงภายใต้รัฐรีพับลิกันได้ออกมาวางข้อกำหนดหลักสูตรในโรงเรียนถึงการสอนว่าด้วยวิชาเกี่ยวข้องกับเผ่าพันธุ์ภายในห้องเรียน รวมไปถึงทฤษฎี critical race theory กระทบต่อชนกลุ่มน้อยในอเมริกาทั้งแอฟริกันอเมริกัน และกลุ่ม LGBTQ
เอพีชี้ว่า แต่ทว่ามี 6 โรงเรียนในรัฐอาร์คันซอท้าทายคำสั่งของมลรัฐ เป็นต้นว่าโรงเรียนนอร์ท ลิเติล ร็อก (The North Little Rock) และโรงเรียนของการศึกษาเขต นอร์ท พูลาสกี (Jacksonville North Pulaski school districts) เป็นต้น ประกาศให้เป็นวิชาเลือกทั่วไป
วอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ว่า การที่รัฐต่างๆ ของพรรครีพับลิกันไม่ยอมสอนวิชาประวัติศาสตร์แอฟริกันอเมริกันที่มีต้นกำเนิดจากการเป็นทาสมาก่อนเป็นเพราะอาจทำให้นักเรียนผิวขาวในชั้นเกิดความรู้สึกที่แย่ต่อบรรพบุรุษผิวขาวของตัวเอง ซึ่งผู้ว่าการรัฐฟลอริดา เด ซานติส ที่สั่งแบนเช่นกันได้อ้างว่า "เป็นวิชาที่มีเป้าหมายทางการเมือง"
อ้างอิงจากองค์กร The education trust ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ต้นปีมีนักเรียนอเมริกันจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนที่มาจากภูมิหลังที่แตกต่างได้ลงทะเบียนวิชาการศึกษาแอฟริกันอเมริกันขั้นสูง(AP African American studies)
ความตึงเครียดระหว่างสีผิวภายในประเทศและนโยบายสายเหยี่ยวของพรรครีพับลิกันสร้างความวิตกให้ประเทศเพื่อนบ้านเช่น แคนาดา นิวส์วีกรายงานวันพุธ (23) ที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดาเผยว่า ออตตาวากำลังเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงหากการเมืองปีกขวาของสหรัฐฯ ชนะการเลือกตั้งปีหน้า
รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา เมลนี โจลี (Mélanie Joly) แถลงว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด นั้นเป็นที่แน่นอนสำหรับการเตรียมการแผนการรับมือในหลายสถานการณ์
ด้าน โธมัส จูนาว (Thomas Juneau) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำระดับบัณฑิตศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ ประจำมหาวิทยาลัยออตตาวา แสดงความเห็นต่อนักข่าวแคนาดาชื่อดัง ลอร์รี โกลด์สไตน์ (Lorrie Goldstein) ที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการประกาศออกตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตการเมืองวอชิงตันมาตั้งแต่ไก่โห่
โดยเขาชี้ว่า ก่อนเวลาสำหรับแคนาดาที่จะไม่วางแผนรับมือต่อการไหลลงทางประชาธิปไตยในสหรัฐฯ “นั้นกล่าวว่า มันคงจะดีกว่าสำหรับแคนาดา (และชาติพันธมิตรประชาธิปไตยที่มีความสงสัยเท่าเทียมกันทั้งหลาย) นั้นสมควรต้องมีความระมัดระวัง ไม่มีสิ่งใดที่ดีจากการยั่วแหย่รัฐบาลทรัมป์ในอนาคต”