xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนจาก ‘โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ’ ลงทะเล ท่ามกลางคำถามคาใจ ‘ปลอดภัย’ แน่หรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันที่ 24 ส.ค. หลังผ่านมาแล้ว 12 ปีจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2011 ซึ่งได้กลายเป็นชนวนนำมาสู่ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

แผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 แมกนิจูดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี 2011 ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 18,000 คน และบ้านเมืองหลายแห่งถูกกระแสน้ำซัดจนพังพินาศไปทั้งเมือง

คลื่นยักษ์ยังได้ซัดถล่มแนวป้องกันของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันออกราว 220 กิโลเมตร ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าได้รับความเสียหาย แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 หน่วยเกิดการหลอมละลาย และมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่กับน้ำที่ใช้หล่อเย็น

บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าได้ทำการรวบรวม กรองรังสีอันตราย และกักเก็บน้ำปนเปื้อนราว 1.34 ล้านตัน หรือมากพอๆ กับสระโอลิมปิก 500 สระรวมกันเอาไว้ในแท็งก์ขนาดใหญ่ราว 1,000 แท็งก์ ซึ่งแท็งก์เหล่านี้จะเก็บน้ำจนเต็มปริมาณความจุที่รองรับไหวภายในต้นปี 2024

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า การปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “น้อยมาก” แต่กระนั้นก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนที่เรียกร้องให้เพิ่มความใส่ใจเกี่ยวกับ “นิวไคลด์กัมมันตรังสี” อีกนับสิบชนิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แม้จะในปริมาณไม่มากก็ตาม

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะมาตั้งแต่ช่วงปี 2021 และเผชิญกระแสคัดค้านเรื่อยมาจากสมาคมชาวประมง ซึ่งเกรงว่ามาตรการนี้จะกระทบต่อภาพลักษณ์และระดับความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลญี่ปุ่นที่ต้องใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะฟื้นคืนกลับมาได้

กลุ่มนักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้และจีนก็ออกมาแสดงความวิตกกังวลเช่นเดียวกัน ทำให้ประเด็นนี้ส่อแววจะกลายเป็นข้อพิพาทการเมืองระหว่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโกพยายามชี้แจงถึงความจำเป็นในการระบายน้ำปนเปื้อนออกสู่มหาสมุทร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุน้ำรั่วไหลออกจากแท็งก์กักเก็บโดยปราศจากการควบคุม

เทปโกยังให้เหตุผลด้วยว่า สาเหตุที่ต้องเริ่มระบายน้ำออกเนื่องจากว่าขณะนี้มีแท็งก์บรรจุน้ำปนเปื้อนตั้งอยู่จนเต็มพื้นที่โรงไฟฟ้าแล้ว และที่ผ่านมา เทปโกได้ตัดโค่นต้นไม้ในพื้นที่ใกล้เคียงไปอีกราวๆ 500 ตารางเมตรเพื่อให้สามารถติดตั้งแท็งก์ได้ถึง 1,000 แท็งก์

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มอบไฟเขียวให้แผนการบำบัดและปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นเมื่อเดือน ก.ค. โดยยืนยันว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อมนุษย์และสภาพแวดล้อมนั้นก็น้อยจน “ไม่มีนัยสำคัญ”

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น แถลงในสัปดาห์นี้ว่า ตนได้สั่งให้ทางเทปโกเตรียมการปล่อยน้ำอย่างรวดเร็วตามแผนที่สำนักงานกำกับนิวเคลียร์ได้อนุมัติไว้ และการปล่อยน้ำจะเริ่มในวันที่ 24 ส.ค. หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลโตเกียวระบุว่า “ได้ทำความเข้าใจในระดับหนึ่ง” กับอุตสาหกรรมประมงในประเทศ พร้อมทั้งสัญญาว่ารัฐบาลจะดูแลรับผิดชอบให้อุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าต่อไปได้ “ต่อให้จะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีก็ตาม”

- ขั้นตอนการบำบัดและปล่อยน้ำเสีย

การที่เทปโกต้องใช้วิธีหมุนเวียนน้ำเพื่อควบคุมอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงให้เย็นลงส่งผลให้มีน้ำปนเปื้อนเกิดขึ้นประมาณ 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งรวมถึงน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่ไหลซึมเข้ามาด้วย น้ำปนเปื้อนเหล่านี้จะถูกสูบออกและผ่านกระบวนการกรองที่เรียกว่า Advanced Liquid Processing System หรือ ALPS ก่อนจะถูกนำไปเก็บไว้ในแท็งก์ขนาดใหญ่ราว 1,000 แท็งก์ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้า

ขั้นตอนการกรองที่ว่านี้สามารถกำจัดกัมมันตรังสีปนเปื้อนออกไปได้เกือบหมด ยกเว้น “ทริเทียม” (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่ยากจะแยกออกจากน้ำได้

ทริเทียมนั้นถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogenic) หากมีอยู่ในปริมาณที่มากเกินไป ทว่ามนุษย์จะต้องบริโภคทริเทียมเข้าไปถึงหลายพันล้านเบคเคอเรลจึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม เทปโกมีแผนที่จะปล่อยน้ำซึ่งมีทริเทียมปนเปื้อนไม่เกิน 190 เบคเคอเรลต่อ 1 ลิตร ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างมาก โดย WHO นั้นกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของปริมาณทริเทียมในน้ำดื่มไว้ที่ 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร

ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นแท็งก์เก็บน้ำปนเปื้อนรังสีจำนวนนับพันแท็งก์ภายในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น
น้ำซึ่งผ่านการเจือจางจนเหลือทริเทียมในระดับที่ปลอดภัยแล้วจะถูกส่งผ่านอุโมงค์ใต้ทะเลความยาว 1 กิโลเมตรออกไปมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น IAEA คอยติดตามผลกระทบทั้งก่อนและหลังการปล่อยน้ำ

“นี่จะเป็นเครื่องยืนยันว่า กระบวนการปล่อยน้ำโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโกซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีจะสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยสากล” ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค.

เทปโกยืนยันว่าจะเริ่มทยอยปล่อยน้ำออกไปในปริมาณน้อยก่อน และมีการตรวจสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยคาดว่าในช่วง 17 วันแรกจะปล่อยน้ำออกไปทั้งหมดเพียง 7,800 ลูกบาศก์เมตร

- ไม่ใช่แค่ ‘ญี่ปุ่น’

เดวิด เฮสส์ นักวิเคราะห์ฝ่ายนโยบายจากสมาคมนิวเคลียร์โลก (World Nuclear Association) ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ทั่วโลกล้วนมีการปล่อยทริเทียมและสารกัมมันตรังสีอื่นๆ ในปริมาณต่ำลงสู่แม่น้ำและมหาสมุทรด้วยกันทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ก็มีการ “อนุญาต” ให้ปล่อยน้ำปนเปื้อนทริเทียม “อย่างสม่ำเสมอ ปลอดภัย และติดตามตรวจสอบได้”

ตามข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ดาร์ลิงตัน” ในแคนาดามีการปล่อยทริเทียมรวมทั้งหมด 220 ล้านล้านเบคเคอเรลในปี 2018 ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “โครี” ของเกาหลีใต้ปล่อยทริเทียม 91 ล้านล้านเบคเคอเรลในปี 2019 ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “หงเหยียนเหอ” ในมณฑลเหลียวหนิงของจีนก็ปลดปล่อยทริเทียมถึง 87 ล้านล้านเบคเคอเรลในปี 2020

ในทางตรงกันข้าม เทปโกมีแผนจะปล่อยน้ำซึ่งมีปริมาณทริเทียมเพียง 22 ล้านล้านเบคเคอเรลลงสู่มหาสมุทรในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับการปล่อยทริเทียมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเกาหลีใต้และจีนด้วยซ้ำ และเทียบเท่ากับมาตรฐานการปล่อยทริเทียมในปี 2010 หรือก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิขึ้น

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่นประชุมร่วมกับคณะผู้แทนจากสภารัฐมนตรีร่วมว่าด้วยการจัดการปัญหาน้ำปนเปื้อนรังสีและการปิดโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 22 ส.ค.
- ชาวประมงคัดค้าน-เพื่อนบ้านกังวล ‘รังสีอันตราย’

แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน แต่ดูเหมือนว่าแผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะยังคงสร้างความกังวลและจุดกระแสต่อต้านจากกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้

“การปล่อยน้ำในครั้งนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับพวกเราเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่มีเลย มีแต่ความเสียหายทั้งนั้น” ฮารุโอะ โอโนะ ชาวประมงวัย 71 ปี ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไปทางเหนือราว 60 กิโลเมตร ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

“ชาวประมงอย่างเราคัดค้านแผนนี้ 100 เปอร์เซ็นต์” เขาบอก

“พวกเราทำงานในทะเล หากินจากท้องทะเล ต้องพึ่งพาความเมตตาจากทะเล ถ้าพวกเราไม่ปกป้องท้องทะเลไว้ แล้วใครจะทำ?”

นอกจากจะเป็นอาหารหลักที่สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้ชาวแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว อุตสาหกรรมอาหารทะเลยังถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยในปี 2022 ญี่ปุ่นส่งออกอาหารทะเลเกือบ 600,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 70,000 ล้านบาท

สัปดาห์นี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เรียกเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเข้าพบเพื่อประท้วงแผนการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ขณะที่ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ออกมาเตือนว่า “มหาสมุทรเป็นสมบัติของมนุษยชาติทุกคน ไม่ใช่สถานที่ที่ญี่ปุ่นจะเอาน้ำปนเปื้อนรังสีมาปล่อยทิ้งได้ตามใจชอบ”

รัฐบาลจีนได้สั่งแบนอาหารทะเลนำเข้าจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและโตเกียว ขณะที่อาหารทะเลจากจังหวัดอื่นๆ ยังสามารถนำเข้าจีนได้ แต่จะต้องผ่านการตรวจวัดระดับรังสี และมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้มาจาก 10 จังหวัดที่ถูกห้ามไว้

ล่าสุด ฝ่ายบริหารฮ่องกงและมาเก๊าก็เตรียมสั่งแบนผลิตภัณฑ์ทางทะเลจาก 10 ภูมิภาคในญี่ปุ่น โดยในส่วนของมาเก๊านั้นจะมีการแบนผักและผลิตภัณฑ์นมจากญี่ปุ่นด้วย

ฮ่องกงถือเป็นตลาดรับซื้อสินค้าเกษตรและอาหารทะเลญี่ปุ่นรายใหญ่อันดับ 2 รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีมูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นสูงถึง 75,000 ล้านเยนในปีที่แล้ว หรือราวๆ 18,000 ล้านบาท

ในส่วนของเกาหลีใต้ รัฐบาลประธานาธิบดี ยุน ซุกซอล ซึ่งมีนโยบายจับมือปรองดองกับญี่ปุ่นอ้างผลการศึกษาในเกาหลีใต้ที่ยืนยันว่า แผนของโตเกียวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และย้ำว่าเกาหลีใต้เคารพผลการประเมินของ IAEA

กระนั้นก็ตาม คนเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อยยังหวาดผวากับแผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่น โดยมีนักเคลื่อนไหวและ ส.ส.ฝ่ายค้านออกมาชุมนุมต่อต้าน ขณะที่ผู้คนบางส่วนแห่กักตุน “เกลือทะเล” เพราะกลัวว่าจะเกิดการปนเปื้อนรังสีหลังจากนี้

สำหรับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนั้นยังมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ที่ต่างกันไป เพราะในอดีตน่านน้ำแถบนี้เคยถูกสหรัฐฯ และฝรั่งเศสใช้เป็นสถานที่ทดลองระเบิดนิวเคลียร์มาก่อน

นายกรัฐมนตรีแห่งฟิจิแถลงเมื่อวันจันทร์ (21) ว่า แม้ตนจะสนับสนุนผลการประเมินของ IAEA แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงไม่น้อยในบรรดารัฐหมู่เกาะแปซิฟิก

ด้านองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” ก็ออกมาวิจารณ์กระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีของญี่ปุ่นว่ามีข้อบกพร่อง พร้อมกล่าวหาโตเกียวว่า “เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการก่อมลพิษรังสีให้แก่ท้องทะเลไปอีกนานหลายสิบปี”

สำหรับคำถามที่ว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อ “ไทย” มากน้อยแค่ไหน? ดร.ยุทธนา ตุ้มน้อย รองโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไว้เมื่อเดือน ก.ค. ว่า “ที่ตั้งของประเทศญี่ปุ่นอยู่ห่างจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ฉะนั้นผลกระทบทางรังสีที่จะมาถึงประเทศไทยจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีในครั้งนี้มีโอกาสน้อยมากจริงๆ อย่างไรก็แล้วแต่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีของประเทศไทย ได้มีการเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภายในประเทศและนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าระบบนิเวศทางทะเลและอาหารทะเลของประเทศไทยปราศจากการปนเปื้อนทางรังสีจากการดำเนินงานในครั้งนี้”

ซาชิมิ หรือปลาดิบ หนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคหลังจากที่มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

นักเคลื่อนไหวในกรุงโซลของเกาหลีใต้ออกมาประท้วงแผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเมื่อวันที่ 22 ส.ค. โดยชูป้ายข้อความที่เขียนว่า “มหาสมุทรไม่ใช่ที่สำหรับทิ้งขยะนิวเคลียร์”

สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เดโมเครติก ปาร์ตี ของเกาหลีใต้ร่วมกันจุดเทียน และป่าวร้องสโลแกนต่อต้านแผนการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทร ที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงโซล เมื่อวันที่ 23 ส.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น