xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจาก ‘โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ’ ลงทะเล จีนซัดเดือด ‘เห็นแก่ตัว-ไม่รับผิดชอบ’ ตร.เกาหลีใต้จับ 16 นักเคลื่อนไหว ‘บุกสถานทูตญี่ปุ่น’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านกระบวนการบำบัดจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิลงสู่มหาสมุทรแล้วในวันนี้ (24 ส.ค.) ในความเคลื่อนไหวซึ่งกระตุ้นให้ “จีน” ออกคำสั่งแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอย่างครอบคลุมแบบทันทีทันใด ทั้งยังประณามการกระทำของโตเกียวว่า “เห็นแก่ตัว-ไม่รับผิดชอบ”

แผนการปล่อยน้ำออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีก่อน และได้รับไฟเขียวจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เมื่อเดือนที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ และญี่ปุ่นยังจะต้องเผชิญกับภารกิจที่ยุ่งยากอีกหลายด่าน รวมถึงการเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่เกิดการหลอมละลาย หลังจากโรงไฟฟ้าถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มเมื่อปี 2011

บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ แถลงว่าการปล่อยน้ำเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 13.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ ในระบบสูบน้ำทะเล (seawater pump) และเครื่องไม้เครื่องมือที่อยู่โดยรอบ

อย่างไรก็ตาม จีนได้ออกมาแถลงคัดค้านอย่างรุนแรงอีกครั้งในวันนี้ (24) และตำหนิรัฐบาลญี่ปุ่นว่ายังไม่ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีครั้งนี้ “มีความชอบธรรม”

“ญี่ปุ่นไม่ควรเอาความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง สร้างความเดือดร้อนทางอ้อมให้แก่คนในท้องถิ่น รวมไปถึงประชากรทั่วโลก” กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุในถ้อยแถลง

จีนยืนยันว่าจะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลและสุขภาพของประชาชน รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีในน่านน้ำของจีนหลังจากนี้

ด้านเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนก็แถลงเช่นกันว่า จีน “รู้สึกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความสุ่มเสี่ยงที่จะมีกัมมันตรังสีปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารและพืชผลทางการเกษตรของญี่ปุ่นที่นำเข้ามาจีน”

รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตอกกลับจีนว่า “เผยแพร่คำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ” และยืนยันว่าการระบายน้ำปนเปื้อนครั้งนี้มีความปลอดภัย อีกทั้ง IAEA ก็ได้สรุปแล้วว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมนั้นน้อยมากจน “ไม่มีนัยสำคัญ”

เหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 แมกนิจูดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น ขณะที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนนำมาสู่การหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์ 3 หน่วย

กลุ่มชาวประมงญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบนานหลายปีจากการที่ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลญี่ปุ่นออกมาคัดค้านแผนการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เพราะเกรงว่าจะทำให้การส่งออกอาหารทะเลกลับมาซบเซาลงอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดใหญ่อย่าง “จีน” ใช้มาตรการแบนสินค้าอย่างไม่มีกำหนด

ญี่ปุ่นส่งออกอาหารทะเลไปจีนคิดเป็นมูลค่าถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ซึ่งทำให้จีนถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ตามมาด้วย “ฮ่องกง” เป็นที่ 2

อาหารทะเลที่ส่งออกไปจีนและฮ่องกงยังคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 42 ของปริมาณการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่นในปี 2022 ตามข้อมูลสถิติของรัฐบาล

ด้านนายกรัฐมนตรี ฮัน ดักซู แห่งเกาหลีใต้ ยืนยันว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะยังคงคำสั่งแบนสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์อาหารจากจังหวัดฟุกุชิมะต่อไป จนกว่าสาธารณชนจะคลายความกังวล




ในช่วงแรกๆ นี้ เทปโกจะปล่อยน้ำเสียออกจากโรงไฟฟ้าในปริมาณน้อย และมีการตรวจเช็กความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกสู่มหาสมุทรในช่วง 17 วันแรกจะไม่เกิน 7,800 ลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 3 สระรวมกัน

ผลการทดสอบที่เทปโกเผยแพร่วันนี้ (24) ระบุว่า น้ำที่ปล่อยออกสู่ทะเลมีปริมาณ “ทริเทียม” อยู่ที่ 63 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งถือว่าปลอดภัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดมาตรฐานสำหรับน้ำดื่มว่ามีทริเทียมได้ไม่เกิน 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร

ด้าน IAEA ก็ออกมาแถลงเช่นกันว่า ผลการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญของ IAEA ในพื้นที่โรงไฟฟ้ายืนยันได้ว่า ระดับ “ทริเทียม” ในน้ำที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานสูงสุดอย่างมาก

รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นยืนยันว่า ญี่ปุ่นจะมีการตรวจวัดคุณภาพของน้ำทะเลในพื้นที่โดยรอบ และเผยแพร่ผลการทดสอบเป็นรายสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 27 ส.ค.เป็นต้นไป

เทปโกคาดว่า กระบวนการปล่อยน้ำเสียกว่า 1.3 ล้านเมตริกตันจะต้องใช้เวลายาวนานถึง 30 ปีจึงจะแล้วเสร็จ

องค์กรภาคประชาสังคมได้จัดการชุมนุมประท้วงทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แม้รัฐบาลโซลจะอ้างว่าผลการตรวจวิเคราะห์ของเกาหลีใต้เอง “ไม่พบปัญหา” เกี่ยวกับการปล่อยน้ำของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือทางเทคนิคก็ตาม

ตำรวจเกาหลีใต้จับกุมผู้ประท้วงอย่างน้อย 16 คนซึ่งบุกรุกเข้าไปในสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซลวันนี้ (24) ส่วนที่ด้านหน้าสำนักงานใหญ่ของเทปโกในกรุงโตเกียวก็มีกลุ่มผู้ประท้วงมายืนชูป้าย “อย่าปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเล!” ก่อนที่จะยุติกิจกรรมไปในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น