xs
xsm
sm
md
lg

ไทเปสะอึก! อเมริกากลางไล่ส่ง ‘ไต้หวัน’ พ้นสถานะผู้สังเกตการณ์ ดึง ‘จีน’ เสียบแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสภาอเมริกากลางมีมติถอดถอนไต้หวันออกจากสถานะผู้สังเกตการณ์ถาวร (permanent observer) เมื่อวันจันทร์ (22 ส.ค.) โดยยกให้จีนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์แทน

รัฐสภาอเมริกากลาง หรือ Parlacen ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ นิการากัว กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส ปานามา และสาธารณรัฐโดมินิกัน ได้จัดการประชุมที่กรุงมานากัว ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติท้องถิ่นได้เสนอให้เพิ่ม “จีน” เข้ามาอยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์นอกภูมิภาคแทนไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันตอบโต้มติดังกล่าวด้วยการประกาศถอนตัวออกจาก Parlacen ทันที เพื่อ “คงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของชาติ” พร้อมประณามจีนที่พยายามกีดกันไต้หวันไม่ให้มีส่วนร่วมกับประชาคมโลก

ถ้อยแถลงของ Parlacen อ้างถึงข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 1971 ที่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น "ผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของจีนในสหประชาชาติ" พร้อมระบุว่า จากข้อมติดังกล่าวทำให้ไต้หวัน “มีสถานะเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมในฐานะประเทศอิสระ”

สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนได้ออกมาแสดงท่าทีเห็นด้วย โดยระบุว่าการตัดสินใจของ Parlacen นั้น “ถูกต้องแล้ว”

จีนได้สยายอิทธิพลเข้าไปกลุ่มประเทศแถบอเมริกากลางอย่างต่อเนื่อง และทำให้นิการากัว เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส ปานามา และสาธารณรัฐโดมินิกัน ทยอยประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีเพียง “กัวเตมาลา” ซึ่งเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในอเมริกากลางที่ยังคงความสัมพันธ์ทางการทูตแบบเป็นทางการกับไทเป

ส.ว. ทิม เคน จากพรรคเดโมแครต และ ส.ว. มาร์โก รูบิโอ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ ฝ่ายซีกโลกตะวันตก ออกมาประณามผลการโหวตขับไต้หวันของ Parlacen ในครั้งนี้

“ตั้งแต่ปี 1999 ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งในฐานะผู้สังเกตการณ์ถาวรของรัฐสภาอเมริกากลาง และมีส่วนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในซีกโลกของเรา” ส.ว.ทั้งสองระบุในคำแถลงร่วม

เคน และรูบิโอ ยังกล่าวหาจีนว่าบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย เตะถ่วงความเจริญของภูมิภาค และกระทำการละเมิดสิทธิต่างๆ นานาต่อชาวอุยกูร์ในภูมิภาคซินเจียง

ปัจจุบัน เบลีซ และปารากวัยยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทเปอยู่ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนเชื่อว่า ปารากวัยมีแนวโน้มจะกลายเป็นประเทศล่าสุดในแถบอเมริกาที่แปรพักตร์เข้าหาจีน

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น