xs
xsm
sm
md
lg

“วอชิงตัน” คว่ำบาตร “จีน” ล้างสมองเด็ก-ทำลายวัฒนธรรมทิเบต ธิงแท็งก์ชื่อดังเตือนระวัง “ศึก 2 ด้าน-สงครามนิวเคลียร์” ในเอเชียตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรลงโทษเจ้าหน้าที่จีนที่เกี่ยวข้องในการนำเด็กทิเบตเข้าโรงเรียนประจำเพื่อล้างสมองสอนรับวัฒนธรรมฮั่นพื้นที่ชนพื้นราบจีนแผ่นดินใหญ่แทน ชี้ยูเอ็นพบตัวเลขเด็กทิเบตถูกส่งเข้าศูนย์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ขณะที่ธิงแท็งก์ชื่อดังของสหรัฐฯ Atlantic Council ออกมาเตือนวอชิงตันและพันธมิตรล่าสุดให้ระวังเอเชียตะวันออกอาจเจอศึก 2 ด้าน และการโจมตีด้วยนิวเคลียร์แบบจำกัดที่มีตัวแปรจากไต้หวัน-เกาหลีเหนือ แนะให้ส่งกำลังพลเพิ่มเข้าภูมิภาค

เอเอฟพีรายงานวันนี้ (23 ส.ค.) ว่า ในการเผชิญหน้าระหว่างกันล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และจีนถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะหันกลับมาเปิดเจรจาต่อกันอีกครั้ง เมื่อวานนี้ (22) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ประกาศสั่งคว่ำบาตรลงโทษจีนจากเหตุปักกิ่งนำเด็กชาวทิเบตส่งเข้าโรงเรียนประจำเพื่อบังคับให้รับวัฒนธรรมชาวฮั่นของจีนแผ่นดินใหญ่พื้นราบ หวังกลืนวัฒนธรรมทิเบตซึ่งมีการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลักโดยที่ไม่มีวัฒนธรรมทิเบต หรือกับภูมิภาคข้องเกี่ยว

ซึ่งโรงเรียนประจำที่ไม่ต่างจากศูนย์ล้างสมองเช่นนี้พบว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาของพื้นที่ชนกลุ่มน้อยในจีนอย่างช้าๆ

บลิงเคนกล่าวว่า สหรัฐฯ จะสั่งจำกัดทางวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่จีนที่อยู่เบื้องหลังนโยบายโรงเรียนประจำรัฐที่อื้อฉาวนี้

“นโยบายบังคับเหล่านี้มุ่งหวังเพื่อทำลายภาษาศาสตร์ที่โดดเด่นของทิเบต รวมถึงวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตที่อิงศาสนาเป็นหลักในกลุ่มคนทิเบตรุ่นใหม่ทั้งหลาย”

และเสริมต่อว่า “พวกเราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จีนยุติการบังคับเด็กชาวทิเบตเข้าสู่โรงเรียนประจำรัฐและหยุดนโยบายกลมกลืนอย่างกดขี่ทั้งในทิเบตและทั่วทั้งพื้นที่อื่นของจีน”

ซึ่งในแถลงการณ์ของเขายังได้อ้างไปถึงการค้นพบโดย 3 เชี่ยวชาญสหประชาชาติเมื่อกุมภาพันธ์ต้นปีที่ระบุว่า มีเด็กชาวทิเบตจำนวน 1 ล้านคนถูกส่งเข้าโรงเรียประจำโดยการใช้กำลัง

เอเอฟพีรายงานว่า บลิงเคนชี้ว่า โรงเรียนประจำนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบโรงเรียนชนกลุ่มน้อยอย่างช้าๆ แต่ในแถลงการณ์ของเขาดูเหมือนจะยอมรับข้อดีในประเด็นที่การที่มีโรงเรียนประจำแบบกินนอนของรัฐตั้งอยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย เป็นต้นว่า ทิเบต หรือซินเจียง เนื่องมาจากเป็นวิธีการดำเนินการแบบศูนย์กลางของการบริหารโรงเรียนที่แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยเข้าเรียนจากที่ห่างไกลอย่างได้ผลเนื่องจากปัญหาการที่คนเหล่านี้อาศัยอย่างกระจัดกระจายในพื้นที่

ทั้งนี้ เรดิโอฟรีเอเชียรายงานก่อนหน้าเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ว่า ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบตที่ครบ 88 พรรษาในเดือนเดียวกันเปิดเผยว่า พระองค์ทรงได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ปักกิ่งเพื่อการหารือในประเด็นเกี่ยวข้องกับทิเบต

อย่างไรก็ตาม เรดิโอฟรีเอเชียชี้ว่า พระองค์ไม่ได้ทรงเปิดเผยว่าเป็นการติดต่อเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ตรัสเพียงว่าเป็นความพยายามการติดต่อพระองค์ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

องค์ทะไลลามะทรงตรัสย้ำว่าพระองค์พร้อมเสมอในการพูดคุยกับปักกิ่ง “ข้าพเจ้าเปิดกว้างเสมอสำหรับการพูดคุย และในเวลานี้เจ้าหน้าที่จีนได้ตระหนักแล้วว่าจิตวิญญาณชาวทิเบตนั้นแข็งแกร่งมาก ดังนั้นในการที่จะจัดการกับปัญหาทิเบตพวกเขาจำเป็นต้องติดต่อกับข้าพเจ้า”

ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศแถลงว่าการจำกัดด้านวีซ่าในการคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นต่อทั้งเจ้าหน้าที่จีนที่ปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งและเจ้าหน้าที่จีนไม่ดำรงตำแหน่งแล้วในนโยบายการศึกษาต่อเด็กและเยาวชนทิเบต

ขณะเดียวกัน สถาบันธิงแท็งก์ชื่อดังของสหรัฐฯ Atlantic Council ส่งคำเตือนวอชิงตันให้ระวังจีนเพราะอาจพบศึก 2 ด้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

USINI News สื่อทางการทหารของสหรัฐฯรายงานวานนี้ (22) ว่า Atlantic Council ออกรายงานเมื่อวันพุธ (16) ที่ผ่านมา ชี้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมเพื่อป้องปรามสงครามแนวรบ 2 ด้านและการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออก

ผู้เขียน มาร์คัส การ์ลอสคัส (Markus Garlauskas) กล่าวในวิดีโอคลิปที่มีการบันทึกล่วงหน้าว่า “ความเสี่ยงของความขัดแย้งแบบต่อเนื่อง (ร่วมกับจีนและเกาหลีเหนือ) นั้นมีสูงมาก”

และเสริมต่อว่า “ผลของ (สงครามแนวรบ 2 ด้าน) นั้นมหาศาล..หากว่ามันเกิดยกระดับกลายเป็นการโจมตีด้วยนิวเคลียร์”

โดยในรายงานเขากล่าวว่า ความล้มเหลวของการไม่สามารถป้องปรามทางนิวเคลียร์ได้นั้นจะหมายถึงผลที่ตามมาของการโจมตีนิวเคลียร์แบบจำกัดในเอเชียตะวันออกที่สามารถกระทบไปทั่วโลกและจะตกทอดไปในยุคต่อไป

ในการวิเคราะห์ของ Atlantic Council พบว่า การที่สงครามแนวรบ 2 ด้านเกิดขึ้นไม่มีความจำเป็นที่ปักกิ่งและเปียงยางต้องประสานร่วมกันในกรณีต้นเหตุความขัดแย้งจาก “ไต้หวัน” หรือ “เปียงยางโจมตีโซล”

ตามการรายงานย้ำว่า ปัจจุบันความสามารถของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรนั้นยังไม่พร้อมสำหรับการรับมือความขัดแย้งในเวลาพร้อมกันจากทั้งปักกิ่งและเปียงยาง และพร้อมกันนั้นหรือการโจมตีแบบจำกัดหรือทางเลือกตอบโต้ของการส่งกำลังทางการทหารขนาดมหึมาเพื่อตอบโต้หากว่าเกิดขึ้น”

Atlantic Council ได้แนะนำรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผ่านรายงานให้เพิ่มจำนวนกำลังทหารประจำในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้และเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับไต้หวัน

นอกเหนือจากนี้ สถาบันธิงแท็งก์ชื่อดังยังเสนอให้เพิ่มการปรากฏตัวทางนาวาและทางอากาศจากชาติพันธมิตรมหาอำนาจขุมกำลังทางการทหารเป็นต้นว่า อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้พันธะสัญญานานาชาติและการมีส่วนร่วมในการป้องปราม


กำลังโหลดความคิดเห็น