เกาหลีเหนือออกมายอมรับเป็นครั้งแรกกรณีพลทหารอเมริกัน “ทราวิส คิง” (Travis King) หลบหนีข้ามแดน โดยระบุว่า คิง ได้แสดงความจำนงขอลี้ภัยในเกาหลีเหนือหรือประเทศที่ 3 หลังถูก “ปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม” และเผชิญการ “เหยียดเชื้อชาติ” ในกองทัพสหรัฐฯ
คิง ซึ่งเป็นพลทหารสหรัฐฯ ที่ถูกส่งไปประจำการในเกาหลีใต้ วิ่งข้ามเส้นแบ่งเขตแดนโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างที่ไปทัวร์เขตปลอดทหาร (demilitarized zone) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. จนส่อเค้าว่าจะกลายเป็นปมขัดแย้งใหม่ในทางการทูตระหว่างวอชิงตันกับเปียงยาง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่า คิง วัย 23 ปี มีเจตนาวิ่งข้ามไปยังฝั่งเกาหลีเหนือ และปฏิเสธที่จะนับว่าเขาเป็น “เชลยสงคราม” (prisoner of war)
สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือรายงานวันนี้ (16 ส.ค.) ว่า พนักงานสอบสวนได้ข้อสรุปว่า คิง มีเจตนาลักลอบข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย โดยมีความประสงค์ที่จะลี้ภัยในเกาหลีเหนือ หรือประเทศที่ 3
“ระหว่างการสอบสวน ทราวิส คิง ได้รับสารภาพว่า เขาตัดสินใจหนีข้ามมายังเกาหลีเหนือ เพราะรู้สึกคับแค้นใจกับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติภายในกองทัพสหรัฐฯ” KCNA ระบุ
“เขายังแสดงความจำนงที่จะขอลี้ภัยในเกาหลีเหนือ หรือประเทศที่ 3 หลังจากได้เห็นธาตุแท้ของสังคมอเมริกันว่าไม่ได้มีความเท่าเทียมจริง”
KCNA ระบุด้วยว่า คิง “อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพเกาหลีเหนือ” หลังจากที่หนีข้ามแดนเข้าไป และกระบวนการสอบสวนยังคงดำเนินอยู่
ไมรอน เกตส์ ลุงของพลทหารรายนี้ ให้สัมภาษณ์กับ ABC News ว่า หลานชายซึ่งเป็นคนผิวดำถูกเหยียดเชื้อชาติตลอดระยะเวลาที่เข้าเป็นทหาร และหลังจากถูกจำคุกในเกาหลีใต้ เขาก็ดูเปลี่ยนไปจากเดิมมาก
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่ายังไม่สามารถตรวจสอบยืนยันคำพูดของ คิง ตามที่ KCNA นำเสนอได้ และเวลานี้สหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือพลเมืองรายนี้ให้เดินทางกลับออกมาอย่างปลอดภัย
ด้านโฆษกกองบัญชาการสหประชาชาติ (UNC) ซึ่งกำกับดูแลหมู่บ้านปันมุนจอมชายแดนสองเกาหลี ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลใหม่ๆ นอกจากสิ่งที่ได้แถลงไปแล้วก่อนหน้า
ยาง มูจิน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษาในกรุงโซล ให้ความเห็นว่า “การระบุว่า คิง ขอลี้ภัยในเกาหลีเหนือหรือไม่ก็ประเทศที่ 3 แสดงให้เห็นว่า จุดมุ่งหมายของเขาน่าจะยังไม่ชัดเจน”
แท ยองโฮ อดีตนักการทูตโสมแดงซึ่งปัจจุบันกลายเป็น ส.ส.เกาหลีใต้ มองว่าการที่ KCNA เรียก คิง ว่าเป็น “ผู้บุกรุกผิดกฎหมาย” (illegal intruder) และไม่ใช่ผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจ ตลอดจนการเอ่ยถึงประเทศที่ 3 อาจหมายความว่าเกาหลีเหนือไม่ต้องการที่จะเก็บทหารอเมริกันผู้นี้เอาไว้นานนัก
“เป็นไปได้ว่า เกาหลีเหนืออาจส่ง คิง ไปยังประเทศที่ 3 แล้วให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไปรับเขากลับบ้านเอาเอง” แท กล่าว
ในฐานะทหารซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ คิง อาจมีคุณสมบัติเข้าข่ายที่จะได้รับการคุ้มครองในฐานะเชลยสงคราม (POW) เนื่องจากสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังคงเป็น “ประเทศคู่สงคราม” กันอยู่ในทางเทคนิค จากผลของสงครามเกาหลีซึ่งปิดฉากลงด้วยข้อตกลงหยุดยิงเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนชี้ว่า การที่ คิง วิ่งหลบหนีเข้าไปในเขตแดนเกาหลีเหนือโดยสมัครใจขณะที่สวมใส่ชุดพลเรือน อาจจะทำให้เขาขาดคุณสมบัติในการเป็นเชลยสงคราม
คิง เข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ เมื่อเดือน ม.ค. ปี 2021 และถูกส่งไปประจำการในเกาหลีใต้ ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในแดนโสมขาว เขาได้ก่อคดีทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และกำลังจะถูกส่งตัวกลับสหรัฐฯ เพื่อลงโทษทางวินัยเพิ่มเติม
พลทหารนายนี้รับโทษกักบริเวณในค่ายทหารจนครบกำหนด และถูกส่งตัวไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับสหรัฐฯ แต่ระหว่างทางเขากลับหนีออกจากสนามบินและไปเข้าร่วมกับทัวร์ที่จะเดินทางไปชายแดนสองเกาหลี จากนั้นก็ฉวยโอกาสวิ่งข้ามเข้าไปยังฝั่งเกาหลีเหนือโดยที่ทหารสหรัฐฯ และเกาหลีใต้สกัดเอาไว้ไม่ทัน
ที่มา : รอยเตอร์