สหรัฐฯ อาจทำการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกในออสเตรเลีย จากการเปิดเผยของ คริสติน วอร์มัธ รัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพบกเมื่อวันพุธ (9 ส.ค.) ความเคลื่อนไหวดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง 3 ชาติ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ที่เรียกว่า AUKUS จะเป็นตัวแทนของการยกระดับปรากฏตัวอย่างมีนัยสำคัญของวอชิงตันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
จีนกล่าวหาสหรัฐฯ ใช้ข้อตกลงดังกล่าวเล่นเกมความขัดแข้งและเผชิญหน้ากับปักกิ่ง
"สิ่งหนึ่งที่ออสเตรเลียมีคือ พื้นที่ที่ไม่มีประชาชนอยู่อาศัยเป็นระยะทางที่ค่อนข้างไกล" วอร์มัธบอกกับเอเอฟพี "ปัญหาของเราในสหรัฐฯ ในเรื่องของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ก็คือ การหาพื้นที่โล่งในสหรัฐฯ สถานที่ที่เราจะสามารถทดสอบอาวุธนี้ได้อย่างแท้จริง"
"แน่นอนว่า ออสเตรเลียมีดินแดนใหญ่โต ที่การทดสอบมีความเป็นไปได้มากกว่าเล็กน้อย ดังนั้นฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเหมือน และทำให้ออสเตรเลียถูกนำขึ้นสู่โต๊ะพิจารณา" เธอกล่าว
สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ลงนามในข้อตกลงความมั่นคง AUKUS ในปี 2021 โดย 3 ชาติมหาอำนาจเห็นพ้องร่วมมือกันในด้านสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์และพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก แต่จีนมองพันธมิตรดังกล่าวว่าเป็นภัยคุกคามอย่างชัดเจน
พล.อ.หลี่ ฉางฟู่ รัฐมนตรีกลาโหม เน้นย้ำในเดือนมิถุนายนว่า จากการจัดตั้งกลุ่ม "คล้ายนาโต" ในอินโด-แปซิฟิก ทางวอชิงตันและพันธมิตรกำลังหาทางจับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเป็นตัวประกัน และกำลังเล่นเกมความขัดแย้งและการเผชิญหน้า
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ มีแผนทดสอบอาวุธชนิดไหนในออสเตรเลีย ในขณะที่ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกต่างๆ ของเพนตากอนยังคงอยู่ระหว่งการพัฒนา ผิดกับจีนและรัสเซีย ที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ชนะในการแข่งขันด้านอาวุธไฮเปอร์โซนิก
ที่ผ่านมา รัสเซียใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกคินซาล ในปฏิบัติการโจมตียูเครนไปแล้ว ในขณะที่ยานขนหัวรบความเร็วเหนือเสียง อวานการ์ด (Avangard) ถูกส่งเข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2019 และขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกต่อต้านเรือ 'เซอร์คอน" ถูกใช้งานมาตั้งแต่ปีก่อน
สหรัฐฯ มองจีนในฐานะผู้นำโลกในด้านเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิก โดยสำนักงานข่าวกรองกลาโหม แสดงความกังวลอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับขีปนาวุธแบบทิ้งตัวพิสัยกลาง DF-17 ของปักกิ่ง โดยทางพอล ไฟรส์เลอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมอเมริกา กล่าวอ้างในเดือนมีนาคมว่า ยานบรรทุกไฮเปอร์โซนิกของขีปนาวุธ สามารถพุ่งถึงกองกำลังสหัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกอย่างง่ายดาย
ศึกช่วงชิงความเหนือกว่าด้านอาวุธไฮเปอร์โซนิกหนนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ออสเตรเลียถูกใช้ในฐานะสนามทดสอบในการแข่งขันทางอาวุธ โดยก่อนหน้านี้สหราชอาณาจักรเคยทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ 12 ลูกในออสเตรเลีย ระหว่างปี 1952 ถึง 1958 และระเบิดวัสดุกัมมันตภาพรังสีขนาดเล็กกว่าอีกหลายสิบลูก
ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่คัดค้านการทดสอบเหล่านั้น เนื่องจากมันก่อให้เกิดอาการป่วยและการเสียชีวิตในบรรดาชุมชนชาวอะบอริจิน และคนงานก่อสร้างที่อยู่ใกล้เคียง
(ที่มา : เอเอฟพี/อาร์ทีนิวส์)