จีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ภายหลังดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคมหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยที่ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีการรายงานว่า ยอดส่งออกประจำเดือนเดียวกันของแดนมังกรลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ด้านนักวิเคราะห์ห่วงภาวะเงินฝืดอาจไม่จบง่ายๆ เนื่องจากปัจจัยที่จะกระตุ้นการเติบโตได้อย่างสำคัญของจีนขณะนี้ล้วนมีปัญหา ซึ่งรวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานเมื่อวันพุธ (9 ส.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักสำหรับอัตราเงินเฟ้อลดลง 0.3% ในเดือนกรกฎาคม ใกล้เคียงกับผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กจัดทำขึ้นก่อนหน้านี้ที่คาดว่า ดัชนีนี้จะลดลง 0.4%
รายงานนี้ถือเป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีนที่น่าผิดหวังตัวเลขที่ 2 ในรอบสัปดาห์นี้ หลังจากเมื่อวันอังคาร (8) มีการเผยแพร่ยอดส่งออกที่ลดลงมากที่สุดในช่วงเวลากว่า 3 ปี
ทั้งนี้ ภาวะเงินฝืดหมายถึงภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลง ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะการบริโภคที่อยู่ในภาวะซบเซา
แม้สินค้าราคาถูกลงอาจดูเหมือนเป็นประโยชน์ในด้านอำนาจซื้อของประชาชน แต่จริงๆ ภาวะเงินฝืดถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง เนื่องจากเมื่อราคาลดลง ผู้บริโภคมักชะลอการซื้อเพราะหวังว่าราคาจะถูกลงอีกในอนาคต และการที่อุปสงค์ขาดหายไปเช่นนี้จะส่งผลให้บริษัทต่างๆ ลดการผลิต ระงับการว่าจ้าง หรือปลดพนักงาน รวมทั้งลดราคาสินค้าลงอีกเพื่อระบายสต๊อก ดังนั้นจึงกลายเป็นการกดดันความสามารถในการทำกำไรขณะที่ต้นทุนยังเท่าเดิม
จีนเคยเผชิญภาวะเงินฝืดช่วงสั้นๆ เมื่อตอนปลายปี 2020 ถึงต้นปี 2021 ส่วนใหญ่เนื่องจากเนื้อหมูที่เป็นเนื้อสัตว์ที่คนจีนนิยมบริโภคมากที่สุดมีราคาตกต่ำ และก่อนหน้านั้นไปอีกคือในปี 2009
ทว่า นักวิเคราะห์หลายคนกลัวว่า ภาวะเงินฝืดครั้งนี้จะยาวนานกว่าที่แล้วๆ มา เนื่องจากตัวกระตุ้นการเติบโตหลักๆ ของจีนต่างพากันหยุดนิ่ง ขณะที่อัตราว่างงานของผู้คนวัยหนุ่มสาวขณะนี้ทำสถิติสูงสุดที่กว่า 20%
แอนดรูว์ แบตสัน นักเศรษฐศาสตร์ของเกฟคัล ดราโกโนมิกส์ มองว่า ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบซึ่งมีขนาด 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีน คือ “ต้นเหตุสำคัญ” ของภาวะเงินฝืดครั้งนี้ สมทบด้วยการส่งออกที่เป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมายาวนานก็ย่ำแย่ด้วย
ทั้งนี้ จีนรายงานเมื่อวันอังคารว่า ยอดส่งออกประจำเดือนกรกฎาคมลดลง 14.2% ซึ่งถือว่า รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 1 ปี โดยสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากอุปสงค์ที่ลดลงในตลาดต่างประเทศ
ยอดส่งออกที่ทรุดลงส่งผลโดยตรงต่อบริษัทที่เน้นการส่งออกนับหมื่นแห่งในจีนที่ขณะนี้ต่างชะลอการดำเนินการลง
เซียะ ชุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของยินเทค อินเวสต์เมนต์ โฮลดิ้งส์ในฮ่องกง คาดการณ์ว่า ภาวะเงินฝืดในจีนจะกินเวลา 6-12 เดือน แต่ไม่ยืดเยื้อเหมือนภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นที่ยาวนานถึง 2 ทศวรรษ
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำเดือนกรกฎาคมของจีนก็ลดลง 4.4% ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่ 10
ดัชนีนี้ที่เป็นตัวชี้วัดต้นทุนสินค้าที่ออกจากโรงงาน และให้ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจ ในเดือนมิถุนายนได้ลดลงแล้ว 5.4% ตัวเลขที่ลดลงหมายถึงการลดลงของส่วนต่างกำไรของบริษัทต่างๆ
จีนถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มจี20 ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงนับตั้งแต่ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นติดลบเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 และทำให้กังวลกันมากขึ้นว่า อาจส่งผลต่อธุรกิจในหมู่ประเทศคู่ค้าสำคัญของแดนมังกร
แกรี่ อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเอเชีย-แปซิฟิกของเนติซิส ระบุว่า สำหรับจีนนั้น การสวนทางระหว่างภาคการผลิตกับภาคบริการมีความชัดเจนมากขึ้น หมายความว่า เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเติบโตในสองอัตราความเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ปะทุขึ้นอีก
นอกจากนั้น ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังชี้ว่า การฟื้นตัวที่ต่ำกว่าคาดไม่เพียงพอชดเชยดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซาลง รวมทั้งไม่สามารถกู้ฟื้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)