รัฐบาลจีนประกาศปลด ฉิน กัง (Qin Gang) พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศในวันอังคาร (25 ก.ค.) พร้อมแต่งตั้งนักการทูตอาวุโส หวัง อี้ (Wang Yi) กลับขึ้นมาคุมตำแหน่งนี้อีกครั้ง นับเป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงแบบสายฟ้าแลบซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าไม่ใช่เรื่องปกตินักสำหรับจีน ขณะที่บางคนเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคงยังไม่สามารถกู้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้กลับมาดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้
คำสั่งอนุมัติปลด ฉิน กัง โดยคณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนมีขึ้นท่ามกลางคำถามเกี่ยวกับการหายหน้าหายตาไปของรัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ ซึ่งปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ฉิน วัย 57 ปี เป็นทั้งนักการทูตอาชีพ และผู้ช่วยคนสนิทที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไว้วางใจอย่างมาก เขาเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว หลังจากปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
รัฐบาลจีนไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุในการปลด ฉิน กัง ซึ่งเพิ่งจะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมาได้เพียง 207 วัน ขณะที่ชื่อและประวัติการทำงานของเขาถูกลบออกจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศจีนในช่วงเย็นวันอังคาร (25) และจนถึงตอนนี้ยังไม่ใครทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน และอนาคตในเส้นทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป
อันที่จริงแล้วกระบวนการตัดสินใจที่คลุมเครือของคณะผู้บริหารจีนไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของ สี จิ้นผิง และที่ผ่านมา เคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหลายคนที่จู่ๆ ก็หายหน้าไป ก่อนจะมีประกาศในอีกหลายเดือนต่อมาว่าคนเหล่านี้กำลังตกเป็นเป้า “สอบสวนทางวินัย”
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ฉิน กัง ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในผู้ช่วยที่ สี จิ้นผิง ไว้ใจอย่างมาก และยังมีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ทำให้ขนบการเมืองสีเทาๆ ของแดนมังกรกลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติอีกครั้ง
คำสั่งปลด ฉิน กัง ยังเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ สี จิ้นผิง พยายามชูภาวะผู้นำของจีนว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือไปจากการพึ่งพาชาติตะวันตก ซึ่งทำให้เรื่องนี้อาจจะยิ่งส่งผลในเชิงลบต่อปักกิ่ง
“การปลด ฉิน แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอาจทำให้ต่างชาติมองว่าการบริหารงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนขาดความโปร่งใส และจีนไม่ใช่หุ้นส่วนทางการทูตที่น่าเชื่อถือ” นีล โธมัส นักวิจัยด้านการเมืองจีนจากสถาบัน Asia Society Policy Institute ให้ความเห็น
ยุน ซุน (Yun Sun) ผู้อำนวยการโครงการจีนประจำศูนย์สติมสันซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่า “การเปลี่ยนตัว ฉิน กัง อย่างกะทันหันเช่นนี้จะไม่ส่งผลดีต่อ สี แน่นอน อย่างน้อยคนจะเกิดคำถามในใจว่ามีปัญหาอะไรถึงจำเป็นต้องปลดเขา แต่ในขณะเดียวกันมันก็บ่งชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ ฉิน โดนเด้งจะต้องไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย”
เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เคยตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือน ก.ค. ว่า ฉิน ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเพราะ “ปัญหาด้านสุขภาพ”
ล่าสุดในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธ (26) เหมา ได้ขอให้ผู้สื่อข่าวที่ยังมีข้อสงสัย “ไปอ่านรายงานของสำนักข่าวซินหวา” เอาเอง พร้อมยืนยันว่ากิจกรรมทางการทูตของจีน “ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง”
ในขณะที่ทางการจีนอุบเงียบมานานหลายสัปดาห์เกี่ยวกับชะตากรรมของ ฉิน ซึ่งไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกเลยหลังจากที่ต้อนรับ อันเดรย์ รูเดนโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. แต่ในโลกออนไลน์กลับมีข่าวซุบซิบหนาหูว่า นักการทูตรายนี้ไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ “ฟู่ เสี่ยวเทียน” (Fu Xiaotian) พิธีกรหญิงวัย 40 ปี ของสถานีโทรทัศน์ Phoenix TV ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าขัดต่อหลักวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ และเปิดช่องให้ศัตรูในพรรคใช้มันเป็นประเด็นเล่นงานเขา
ชาวเน็ตบางรายหยิบยกคลิปเหตุการณ์ตอนที่ ฟู่ สัมภาษณ์ ฉิน กัง เมื่อเดือน มี.ค. โดยตั้งข้อสังเกตว่า “ภาษากาย” ของทั้งคู่ดูไม่ค่อยเป็นมืออาชีพ และมีการแอบสบตากันอยู่หลายครั้ง
สื่อไต้หวันและฮ่องกงยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ฟู่ เสี่ยวเทียน เริ่มหายหน้าไปจากจอทีวีในช่วงเวลาเดียวกับ ฉิน และมีกระแสร่ำลือถึงขั้นที่ว่า ฉิน อาจจะมีบุตรชายนอกสมรสกับผู้ประกาศข่าวสาวรายนี้
การที่ ฉิน กัง คว้าเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศแบบข้ามหน้าข้ามตานักการทูตซึ่งมีอาวุโสและประสบการณ์มากกว่าเขาหลายคนเคยทำให้ผู้สังเกตการณ์การเมืองจีนรู้สึกเซอร์ไพรส์มาแล้ว และนั่นก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไว้วางใจที่ สี จิ้นผิง มีต่อเขา
เติ้ง หยูเหวิน (Deng Yuwen) อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ CNN เมื่อต้นเดือนนี้ว่า “ฉิน กัง ได้รับการโปรโมตด้วยอำนาจของ สี จิ้นผิง ล้วนๆ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาจึงกระทบไปถึงตัว สี ด้วย เพราะมันบ่งบอกกลายๆ ว่าเขาเลือกใช้คนผิด”
“ถ้ามีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง คนก็จะสงสัยทันทีว่าความสัมพันธ์ของเขากับ สี คงจะไม่ดีเหมือนเดิม หรืออาจแปลว่าการเมืองกำลังขาดเสถียรภาพ” เติ้ง กล่าว
บอนนี เกลเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการอินโด-แปซิฟิกประจำกองทุนเยอรมันมาร์แชลล์ ระบุว่า “เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า สี จิ้นผิง มีคนสนิทที่ไว้ใจและยอมปรึกษาหารือด้วยแค่ไม่กี่คน นอกนั้นเขาจะอาศัยความเชื่อมั่นในตัวเองและสัญชาตญาณในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ”
“ฉิน เป็นลูกน้องคนสนิทของ สี ดังนั้นเรื่องนี้ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของตัว สี อย่างแน่นอน แต่อาจจะไม่ถึงขั้นนำไปสู่ความพยายามท้าทายอำนาจของเขา”
ฉิน ได้รับฉายาจากสื่อว่าเป็น “นักรบหมาป่า” ด้วยจุดยืนการพูดจาโต้ตอบชาติตะวันตกเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของจีนอย่างดุเดือด
แซ็ก คูเปอร์ อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ฉิน ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนเจรจาที่คุยด้วยยาก และขณะที่เป็นทูตก็แทบไม่ได้รับโอกาสให้พบปะเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน เลย
อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาของบริษัทรายหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับ ฉิน ในกรุงวอชิงตันระบุว่า การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้สูญเสียผู้มีความรู้และประสบการณ์อย่างมากเกี่ยวกับระบบในประเทศสหรัฐฯ ไปอย่างน่าเสียดาย
แม็กซ์ บอคัส อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นถึงการหายตัวไปอย่างลึกลับและการถูกปลดฟ้าผ่าของ ฉิน ว่า อาจจะเป็นการบอกใบ้ถึงความกระอักกระอ่วนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของ สี หรือพูดอีกอย่างก็คือการเป็น “เด็กเส้น” ของประธานาธิบดีไม่สามารถคุ้มหัว ฉิน ได้ และทำให้เขาถูกมีดรุมสับจากหลังม่าน
หลังจากที่ข่าวการปลด ฉิน กัง ถูกเผยแพร่ได้ไม่นาน ปฏิบัติการควบคุมสื่อและโซเชียลมีเดียจีนก็เริ่มทำงานทันที โดยปรากฏว่าแฮชแท็กเกี่ยวกับคำสั่งปลด ฉิน ถูกเซ็นเซอร์บน Weibo ขณะที่แฮชแท็กเกี่ยวกับการแต่งตั้ง หวัง อี้ ยังปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์ม แต่จะแสดงเฉพาะโพสต์จากบัญชีที่ยืนยันตัวตน ซึ่งส่วนใหญ่คือบัญชีสื่อและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจีน
หลี่ หมิงเจียง อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ ระบุว่า “สื่อจีนน่าจะพยายามเสนอข่าวในทำนองว่า คณะผู้นำจีนทำถูกต้องแล้วที่ปลด ฉิน กัง ออก เพราะเขาได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ แต่กลับทำเรื่องผิดพลาด”
หลี่ ระบุด้วยว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการชี้แจงความผิดของฉิน สื่อจีนจะยังอ้างได้เสมอว่า “นี่คือตัวอย่างความมุ่งมั่นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่บังคับใช้กฎอย่างเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่กระทำความผิด”
แม้การหายตัวไปของ ฉิน กัง จะเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนในมุมมองของนานาชาติ ทว่าในอีกแง่หนึ่งมันช่วยให้กิจการต่างประเทศของจีนกลับไปอยู่ในความดูแลของ หวัง อี้ นักการทูตอาวุโสวัย 69 ปีผู้มากประสบการณ์และถูกมองว่าเป็น “ตัวเลือกที่ปลอดภัย” ในเวลานี้
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (25) เกี่ยวกับข่าวการปลด ฉิน กัง และแต่งตั้ง หวัง อี้ โดยเขายืนยันว่าสหรัฐฯ “พร้อมจะทำงานร่วมกับใครก็ตามที่จีนแต่งตั้ง” เพื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์ 2 มหาอำนาจให้เป็นไปอย่างราบรื่น
“ผมเองรู้จักกับ หวัง อี้ มานานกว่า 10 ปี ผมเคยพบเขาหลายครั้งในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ รวมถึงเมื่อเร็วๆ นี้ที่จาการ์ตา และผมคาดหวังว่าเราคงจะทำงานร่วมกันได้ดีเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา” บลิงเคน กล่าว พร้อมกับฝากคำอวยพรให้ ฉิน กัง “โชคดี”
แม้สไตล์การทูตของ หวัง อี้ จะออกไปในเชิง “นักรบหมาป่า” ไม่แตกต่างจาก ฉิน กัง มากนัก แต่ก็ถูกมองว่าเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยที่ดี และมักได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจการทูตระดับ “งานหิน” รวมถึงพบปะกับบรรดาชาติพันธมิตรด้วย ตัวอย่างเช่นการที่จีนเลือกส่ง หวัง ไปเยือนกรุงมอสโกเพื่อพบกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเมื่อเดือน ก.พ.
แม้อายุของ หวัง อี้ จะล่วงสู่วัยเกษียณตามเกณฑ์มาตรฐานของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทว่าในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ประธานาธิบดี สี ยังคงมอบตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งนักการทูตเบอร์หนึ่งให้แก่เขา
“การเลือก หวัง อี้ (กลับมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ) ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล” ยุน จากศูนย์สติมสันในสหรัฐฯ ให้ความเห็น “จีนจำเป็นต้องเลือกบุคคลที่มีอาวุโส มีอำนาจตัดสินใจ และปราศจากข้อครหามลทิน เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังคงมีเสถียรภาพและมีความน่าเชื่อถือ”
โจเซฟ โทริเจียน ผู้สันทัดกรณีด้านผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนจาก American University ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มองว่า แม้การแต่งตั้ง หวัง อี้ จะช่วยให้การปฏิบัติงานของกระทรวงการต่างประเทศจีนกลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่ถูกต่างชาติจับตามองมาหลายสัปดาห์ แต่คงจะไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ซึ่งตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีกลับมาดีขึ้นได้ง่ายๆ
“ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่ได้เปลี่ยนเหตุผลในเชิงโครงสร้างอันเป็นต้นตอของความบาดหมาง” เขากล่าว