สื่ออังกฤษเผยแพร่บทความ ชี้การเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยกำลังเป็นจับตาอย่างใกล้ชิดจาก 2 ฝ่ายในมหาอำนาจโลก เนื่องจากไทยมีความสำคัญในฐานะ "รัฐสมรภูมิ (swing state)" ระหว่างตะวันตกกับจีน
รายงานของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ รายงานว่าเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา วุฒิสภาของไทยลงมติไม่เห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมตรี จากพรรคก้าวไกล ซึ่งคว้าเก้าอี้ได้มากที่สุดในสภาผ้แทนราษฎร ความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าผลักประเทศแห่งนี้ขยับเข้าใกล้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตทางการเมือง
เทเลกราฟ ระบุว่า นายพิธา นักธุรกิจวัย 42 ปี แคนดิเดตนายกรัฐมตรี จากพรรคก้าวไกล ซึ่งผงาดขึ้นมาจากคำสัญญาปฏิรูปทั้งสถาบันกษัตริย์ของไทยและกองทัพ ล้มเหลวในการขอเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา แม้รวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 312 เสียง หลังคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม (จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบอย่างน้อย 376 เสียงสำหรับก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรี)
สื่อมวลชนของอังกฤษแห่งนี้ ระบุว่า การขัดขวางของวุฒิสภา เป็นปฐมบทล่าสุดในวิกฤตที่แผดเผาอย่างช้าๆ ซึ่งห้อมล้อมประเทศแห่งนี้มาตั้งแต่ 9 ปีก่อน ครั้งที่คณะทหารเข้ามายึดอำนาจผ่านการทำรัฐประหาร ท่ามกลางการต่อสู้กันระหว่างพวกหัวก้าวหน้าและพวกนักปฏิรูป กับอีกฟากหนึ่งคือฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและองค์กรต่างๆ อย่างเช่นอาเซียน ต่างแสดงท่าทีอย่างระมัดระวังหลีกเลี่ยงการเลือกข้าง แม้วิกฤตดูจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ
หลังจากล้มเหลวในการรวบรวมเสียงจากวุฒิสภา เวลานี้นายพิธา เสี่ยงถูกตัดสิทธิโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งตามข้อกล่าวหาต่างๆ ซึ่งก่อความเสี่ยงร้ายแรงต่อความทะเยอทะยานทางการเมืองของพรรคก้าวไกล โดยในขณะที่เขาได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง 8 พรรค ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม นายพิธา ถูกสืบสวนกรณีถือครองหุ้นในบริษัทสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎระเบียบการเลือกตั้งของไทย ตามรายงานของเทเลกราฟ
รายงานของเทเลกราฟ ระบุว่า แม้นายพิธา จะปฏิเสธ แต่เขาเสี่ยงถูกจำคุกสูงสุด 10 ปี และถูกห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมืองเป็นเวลา 20 ปี หากถูกพบว่ามีความผิดจริง ทั้งนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพบหลักฐานว่าเขาละเมิดกฎหมายและได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทำการวินิจฉัยแล้ว
เทเลกราฟ ระบุว่าเรื่องราวดรามาทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย อดีตผู้บัญชาการทหารที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 9 ปีก่อน ถอยฉากออกมาหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม หลังพรรคของเขาคว้าเก้าอี้มาได้เพียง 36 ที่นั่ง ในศึกเลือกคั้งที่ถูกมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ระบุว่าแม้มีสิ่งเย้ายวนเป็นอย่างยิ่งให้มหาอำนาจตะวันตกอย่าง สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและบรรดาชาติอื่นๆ ของยุโรปประณามกองทัพสำหรับแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่สถานะของไทยในภูมิทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ทำให้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะดุดลง
รายงานของเทเลกราฟระบุว่า เหนือสิ่งอื่นใด ไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ชาติเอเชียที่พันธมิตรตามสนธิสัญญาของสหรัฐฯ ส่วนอีกชาติคือเกาหลีใต้ แต่แน่นอนว่า โซลอยู่ในแถบทะเลญี่ปุ่น บริเวณคาบสมุทรเกาหลี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย ส่วนไทย ในทางตรงกันข้ามตั้งอยู่ตรงกลางใกล้กับทะเลจีนใต้ และอยู่ภายในรัศมีของไต้หวัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นจุดวาบไฟระหว่างจีนกับตะวันตก
เทเลกราฟระบุว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ต้องการสูญเสียกองทัพไทย ผู้ซึ่งต้องวางทางเดินอย่างระมัดระวัง ระหว่างพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐฯ กับจีน มหาอำนาจที่ไทยทำธุรกิจร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ
สื่อมวลชนแห่งนี้ระบุว่า ในขณะที่นายพิธากำลังมองเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของตนเองและเสรีภาพส่วนบุคคล แต่หลายคนในวอชิงตันและตะวันตกกำลังเพ่งพิจารณาสถานะของไทยบนเกมกระดานกลยุทธ์ และคำถามที่แท้จริงสำหรับบรรดาสมาชิกรัฐสภาของไทย คือพวกเขาให้ความสำคัญกับค่านิยมและประชาธิปไตยอันมีค่าของไทย หรือผลประโยชน์แห่งชาติของพวกเขาเองและสถานะของไทยในฐานะรัฐสมรภูมิ
"เราจะได้เห็นตัวเลือกของพวกเขาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า" รายงานของเทเลกราฟกล่าวปิดท้าย
(ที่มา : เทเลกราฟ)