WHO ชี้สารให้ความหวาน ‘แอสปาร์แตม’ เป็น ‘สารก่อมะเร็ง’ แต่ยังบริโภคได้ในปริมาณที่กำหนด องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศวานนี้ (14 ก.ค.) ให้ “แอสปาร์แตม” ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ (possible carcinogen) ทว่ายังคงสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยในปริมาณที่กำหนด
แอสปาร์แตมเป็นหนึ่งในสารให้ความหวานที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด โดยถูกนำมาใช้ทดแทนน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มหลากหลายชนิด เช่น น้ำอัดลม ไอศกรีม และหมากฝรั่ง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา
“เราไม่ได้กำลังแนะนำให้บริษัทต่างๆ ต้องเรียกคืนสินค้า และไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะต้องหยุดรับประทาน” ฟรานเซสโก บรานกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารของ WHO ระบุในงานแถลงข่าว ซึ่งมีการเผยแพร่รายงาน 2 ฉบับเกี่ยวกับความเสี่ยงในการบริโภคแอสปาร์แตม
“เราเพียงแต่แนะนำให้รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ” เขาย้ำ
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งหรือ IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด WHO ได้ทำการประเมินความเสี่ยงของแอสปาร์แตมในการก่อโรคมะเร็งเมื่อเดือน มิ.ย. และได้จัดให้สารชนิดนี้อยู่ในกลุ่ม “สารที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์”
ต่อมา คณะกรรมการร่วมด้านสารปรุงแต่งอาหารแห่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก หรือ JECFA ได้จัดการประชุมที่นครเจนีวา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.-6 ก.ค. เพื่อประเมินความเสี่ยงในการบริโภคแอสปาร์แตม โดยที่ประชุมได้ลงความเห็นว่า ไม่พบหลักฐานความเสี่ยงต่อสุขภาพหากบริโภคในปริมาณไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นค่า ADI กำหนดไว้มาตั้งแต่ปี 1981
น้ำอัดลมที่วางจำหน่ายทั่วไปจะมีปริมาณแอสปาร์แตมอยู่ที่ 200-300 มิลลิกรัมต่อ 1 กระป๋อง ซึ่งหมายความว่าผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัมจะต้องบริโภควันละ 9-14 กระป๋องขึ้นไป จึงจะได้รับสารแอสปาร์แตมเกินกว่าค่า ADI ที่กำหนด
“มันจะเป็นปัญหาก็แต่เฉพาะในกลุ่มผู้ที่บริโภคเกินขนาด” บรานกา ย้ำ
“ผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมนานๆ ครั้ง จึงยังไม่จำเป็นต้องกังวล”
ด้านสมาคมสารให้ความหวานระหว่างประเทศ (International Sweeteners Association - ISA) ระบุว่า แอสปาร์แตมถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง Group 2B ซึ่งหมายถึงพบหลักฐานความเสี่ยงน้อยมาก และอยู่ในระดับเดียวกับอาหารประเภท “กิมจิ” และผักดองต่างๆ
ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี