xs
xsm
sm
md
lg

ผวากันหมด! ธนาคารกลางทั่วโลกแห่ถอนทองสำรองกลับประเทศ วิตกโดนอายัดซ้ำรอยรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีชาติต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ที่พากันถอนทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นทองคำกลับประเทศ เพื่อปกป้องมันจากความเป็นไปได้ที่จะถูกอายัดภายใต้มาตรการคว่ำบาตร แบบเดียวกับที่ตะวันตกกำหนดเล่นงานรัสเซีย จากผลสำรวจความเห็นของธนาคารและกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) โดยอินเวสโก บริษัทบริหารการลงทุนสัญชาติอเมริกาที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (10 ก.ค.)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การขาดทุนอย่างกว้างขวางของบรรดากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ผลจากความอลหม่านของตลาดการเงินเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้พวกเขาทบทวนพื้นฐานยุทธศาสตร์ต่างๆ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อระดับสูงและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

ในบรรดากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 85 แห่งและธนาคารกลางประเทศต่างๆ 57 แห่ง ที่มีส่วนร่วมในการศึกษา Global Sovereign Asset Management Study ประจำปีของอินเวสโก พบว่า มีกว่า 85% ที่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในทศวรรษที่กำลังมาถึงจะสูงกว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ทองคำและพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ถูกมองว่าเป็นการเดิมพันที่ดีในกรณีแวดล้อมดังกล่าว แต่ความเคลื่อนไหวของตะวันตกเมื่อปีที่แล้ว ที่อายัดทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียเกือบครึ่งจากทั้งหมด 640,000 ล้านดอลลาร์ ตอบโต้กรณีการรุกรานยูเครน ดูเหมือนจะเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ผลสำรวจพบว่ามีบรรดาธนาคารในสัดส่วนระดับสูงที่มีความกังวลต่อแบบอย่างการคว่ำบาตรอายัดทุนสำรองของรัสเซีย โดยเกือบ 60% บอกว่ามันทำให้ทองคำเป็นที่ดึงดูดใจมากขึ้น ในขณะที่ 68% บอกว่าจะถือครองทองคำสำรองไว้ภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากระดับ 50% ของปี 2020 และในเวลา 5 ปี ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะ 74%

หนึ่งในธนาคารกลางซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามกล่าวว่า "เราเคยมีทองคำในลอนดอน แต่ตอนนี้เราโอนย้ายมันกลับประเทศของเรา ถือครองมันในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงต่ำและเก็บรักษาไว้เพื่อความปลอดภัย"

รอด รินโกรว์ หัวหน้าฝ่ายสถาบันรัฐบาลของอินเวสโก กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารกลางต่างๆนิยมซื้อทองคำแท่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก และหันมาถือทองคำเหล่านั้นไว้ภายในประเทศแทนที่จะฝากไว้กับธนาคารกลางในต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสั่งอายัดทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซีย

ความกังวลทางภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับโอกาสในตลาดเกิดใหม่เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ธนาคารกลางของบางประเทศ ปลีกตัวออกจากดอลลาร์ แสวงหาทุนสำรองระหว่างประเทศที่หลากหลาย

ผลสำรวจพบว่ามีบรรดากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติและธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น 7% ที่เชื่อว่าหนี้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบทางลบต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เกือบทั้งหมดยังคงมองวายังไม่มีทางเลือกอื่น นอกเหนือจากสกุลเงินสหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก โดยมีแค่ 18% ของสถาบันเหล่านี้ที่มองเงินสกุลเงินหยวน ในฐานะว่าที่ผู้ท้าชิง ลดลงจากระดับ 29% ของปีแล้ว

ตามหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบได้ไม่นาน สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐฯ และประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 อื่นๆ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อธนาคารกลางรัสเซียและสกัดรัสเซียจากการเข้าถึงทุนสำรองระหว่างประเทศที่ฝากไว้ในต่างประเทศประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ และปัจจุบันทางอียูกำลังพิจารณานำผลตอบแทนที่ได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศก้อนนี้มอบให้ยูเครน

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น