xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีเหนือจี้นานาชาติคัดค้านญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจาก ‘ฟูกูชิมะ’ ชี้เป็นการบ่อนทำลายโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลเกาหลีเหนือออกมาเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันแสดงจุดยืนต่อต้านแผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทร

สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือได้เผยแพร่คำแถลงจากกรมปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมเมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) หลังจากที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้อนุมัติแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่บำบัดแล้วของญี่ปุ่น โดยอ้างว่ามีความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม

“ประชาคมโลกผู้มีใจเที่ยงธรรมไม่ควรนิ่งเฉยดูการกระทำอันเลวร้ายและขัดต่อหลักมนุษยธรรมของกลุ่มอำนาจฉ้อฉลที่พยายามบ่อนทำลายโลกอันเป็นบ้านของมนุษยชาติทั้งมวล และจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันยับยั้งและทำลายความพยายามนี้” คำแถลงระบุ

ท่าทีของเปียงยางเป็นหนึ่งในเสียงสะท้อนความกังวลจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ จีน และหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งต่างออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ จะก่ออันตรายต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

วันศุกร์ที่แล้ว (7) กรมศุลกากรจีนประกาศว่าจะยังคงคำสั่งแบนผลิตภัณฑ์อาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงจังหวัดฟูกูชิมะ เอาไว้ต่อไป และจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ “สารกัมมันตรังสี” ในอาหารญี่ปุ่นทุกชนิดที่นำเข้าจีน

รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมที่จะปล่อยน้ำหล่อเย็นจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะลงสู่ทะเลในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ขณะที่คำยืนยันจาก IAEA ก็แทบไม่ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านและคนญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิและนิวเคลียร์เมื่อปี 2011 เบาใจลงได้

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN ที่กรุงโตเกียวเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ตนได้ลงพื้นที่พูดคุยกับสมาคมชาวประมง และนายกเทศมนตรีเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น ทำให้เข้าใจความวิตกกังวลของพวกเขาดี

“หน้าที่ของผมคือไปรับฟังและอธิบายข้อเท็จจริงเพื่อบรรเทาความกังวลที่พวกเขามีอยู่” กรอสซี กล่าว

“เมื่อคุณไปเยือนโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ คุณจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ หรืออาจจะรู้สึกผวานิดๆ ด้วยซ้ำ เมื่อได้เห็นแท็งก์บรรจุน้ำปนเปื้อนรังสีกว่า 1 ล้านตัน และลองนึกดูว่าถ้าน้ำทั้งหมดนี้ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรจะเป็นอย่างไร ความหวาดกลัวนี้คือสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต้องอธิบายให้ได้”

IAEA ยอมรับว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้” อีกแล้วในการจัดการกับน้ำปนเปื้อนรังสีในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งมีปริมาณมากพอๆ กับสระว่ายน้ำโอลิมปิกถึง 500 สระรวมกัน

รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าได้บำบัดและกรองรังสีอันตรายออกจากน้ำซึ่งใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เกือบหมด ยกเว้นทริเทียม (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่ยากจะแยกออกจากน้ำได้ จากนั้นจะนำน้ำที่บำบัดแล้วไปเจือจางเพิ่มเติม จนกระทั่งเหลือทริเทียมในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ก่อนจะปล่อยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ที่มา : CNN
กำลังโหลดความคิดเห็น