xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา!! “ยูเครน” แจมยื่นใบสมัครร่วมเขตการค้าเสรี CPTPP แล้ว ส่วน “อังกฤษ” เตรียมลงนามเสาร์หน้าเป็นสมาชิกเต็มตัว เปิดคลิปว่าที่นายกฯ พิธาเคยยกป้าย “ไทยอย่ารีบ ได้ไม่คุ้มเสีย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - ยูเครนยื่นเรื่องเป็นทางการเพื่อสมัครเข้าร่วมเขตการค้าเสรีรอบมหาสมุทรแปซิฟิก CPTPP เพื่อหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังสงครามจบ ขณะที่สัปดาห์หน้า อังกฤษจะทำพิธีลงนามข้อตกลงที่เมืองโอกแลนด์ นิวซีแลนด์ เพื่อร่วมเป็นสมาชิกเต็มตัวหลังถอนตัวจากเขตเศรษฐกิจยุโรปเดียวสมัย BREXIT ฮือฮา วาที่นายกรัฐมนตรีไทย พิธา ลิ้มเจริญรัฐ เคยออกมาให้สัมภาษณ์ประเด็นไทยร่วมกับ CPTPP ชี้ไทยอย่ารีบได้ไม่คุ้มเสียไม่เชื่อเวทมนตร์ตัวเลข GDP แต่เสียงอาจเปลี่ยนหากได้โหวตขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

เจแปนไทม์สรายงานวันเสาร์ (8) ว่า อังกฤษกำลังจะกลายเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรี CPTPP หรือ “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสาหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” ที่เน้นในเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจครอบคลุม 2 ฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกในสัปดาห์หน้า โดยจะเข้าสู่พิธีการลงนามสนธิสัญญา CPTPP ที่เมืองโอกแลนด์ กลายเป็นสมาชิกประเทศที่ 12 อย่างเป็นทางการ

เดเมียน โอ’คอนเนอร์ (Damien O’Connor) รัฐมนตรีการค้าและการเติบโตของการส่งออกนิวซีแลนด์กล่าวในแถลงการณ์วันเสาร์ (8) มีใจความว่า

"ความเป็นสมาชิกภาพ CPTPP ของอังกฤษสอดคล้องกับข้อตกลงการค้าเสรีของพวกเราเพื่อทำให้มั่นใจว่า การส่งออกของประเทศกีวีจะเข้าถึงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนต่อระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 6 ของโลก"

CPTPP ที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือเพื่อต้านอิทธิพลที่ผงาดขึ้นมาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2017 เมื่ออดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งถอนสหรัฐฯ ออกไปจากข้อตกลง ส่งผลทำให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติหลักและได้พยายามปลุกปั้นข้อตกลงการค้าเสรีรอบมหาสมุทรแปซิฟิกและเปลี่ยนให้กลายเป็น CPTPP ในที่สุด โดยปัจจุบันมี 11 ชาติเข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ พิธีลงนามข้อตกลงในการรับ “อังกฤษ” เข้าเป็นสมาชิกจะเกิดขึ้นในการประชุมกลุ่มชาติสมาชิกระดับรัฐมนตรีที่เมืองโอกแลนด์นิวซีแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะเจ้าภาพระหว่างวันเสาร์ที่ 15 ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค.

จีนซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกนั้นได้ยื่นใบสมัครร่วมกับข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP ในปี 2021 ซึ่งนอกจากปักกิ่งแล้วยังมี ไต้หวัน เอกวาดอร์ คอสตาริกา อุรุกวัย ที่ขอเข้าเป็นสมาชิก

และเป็นที่น่าประหลาดใจเพราะในวันศุกร์ (7) รอยเตอร์รายงานว่า ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์เปิดเผยว่า ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ได้ยื่นใบสมัครเข้าร่วมสมาชิก CPTPP เป็นทางการต่อนิวซีแลนด์

โฆษกกล่าวต่อว่า ขั้นต่อไปคือการประเมินจากชาติสมาชิกเดิมทั้ง 11 ชาติต่อการเข้าร่วมซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ (16) 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น ชิเงยูกิ โกโตะ (Shigeyuki Goto) กล่าวในงานแถลงข่าวว่า “ญี่ปุ่นในฐานะชาติสมาชิกต้องประเมินอย่างรอบคอบว่า “ยูเครน” นั้นเป็นไปตามมาตรฐานของข้อตกลงระดับสูงในด้านการเข้าตลาดและกฎเกณฑ์หรือไม่”

ทั้งนี้ สำหรับไทยนั้น CPTTP ยังคงเป็นเสมือนดาบ 2 คมที่น่ากังวล โดยว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย พิธา ลิ้มเจริญรัฐ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ปี 2563 ถึงขั้นยกป้ายข้อความลายมือติดแฮชแท็กว่า

# CPTTP ได้ไม่คุ้มเสียกับอย่าฉวยโอกาสช่วงชุลมุน

เผยเคยนั่งอ่านด้วยตัวเองชี้มีความซับซ้อนเนื้อหาเยอะและกว้างมากรวมเบ็ดเสร็จ 1,500 หน้า อ้างแย้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไม่เชื่อหากเข้าร่วมจะสามารถดันส่งออกไทยไปประเทศคู่ค้า (11 ชาติ) ได้มากกว่าเดิม แถมไม่ชัวร์บรรยากาศการค้าและลงทุนในยุคนิว นอร์มอลหลังโควิด-19 ระบาดจะออกไปในแง่ไหน

เจ้าตัวคุยฟุ้งต้องการไดเวิร์สซิฟายกระจายความเสี่ยงไม่อยากให้ไทยไปอิงแอบกับกลุ่มชาติใดเป็นพิเศษ

นักข่าวถามพิธา แต่อดีตรองนายกฯ สมคิด จาตุร์ศรีพิทักษ์ เคยออกมายืนยันหากไทยได้ร่วมลงนามเป็นสมาชิก CPTPP จะส่งให้ไทยมี GDP เพิ่มถึง 0.12% แต่ทว่าว่าที่นายกฯ คนถัดไปตีโต้ ต้องถามก่อนว่า ตัวเลขที่เพิ่มมาจะตกไปที่ใคร นายทุนกลุ่มไหนได้รับอานิสงส์ ยืนยันเคยอภิปรายในสภาหลายครั้ง ตัวเองไม่เชื่อในคุณค่าตัวเลข GDP ชี้ตัวเลขโตขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความสุขเพิ่มหรือความมั่งคั่งเพิ่ม

บีบีซีภาคภาษาไทยเคยรายงานว่า ปัญหาการเข้าร่วม CPTPP ในไทยที่ล่าช้านั้นเกิดมาจากประเด็นความวิตกหลายอย่าง บวกกับการที่ฝ่ายไทยต้องมาแก้กฎหมายบางฉบับ ส่วนประชาชนต่างพากันวิตกไปถึงผลกระทบต่อภาคเกษตรโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช ด้านสุขภาพในประเด็นการคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมไปถึงการคุ้มครองการลงทุนให้ต่างชาติ

ซึ่งนักข่าวได้เปิดประเด็นเจาะใจหัวหน้าพรรคก้าวไกลในด้านภาคการเกษตรกรที่ชี้ว่า หากไทยยอมถลำตัวเข้าร่วมจะเปิดทางให้ต่างชาติเอาพืชพื้นเมืองและสร้างพันธุ์ใหม่ขึ้นมาและเอาไปจดสิทธิบัตรที่เรียกว่า UPOV1991 และไทยจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกได้เหมือนเดิมนั้น

ว่าที่นายกฯ ด้อมส้มตอบกลับมาทันทีว่า นี่เป็นหนึ่งข้อเสียของการเข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP ที่เป็นเสมือนข้อผูกมัดประเทศสมาชิกเพราะภายในเหมือนการซื้อเหล้าพ่วงเบียร์ เพราะต้องลงนามในหลายสนธิสัญญาตามมา เป็นต้นว่า สนธิสัญญาปารีส และโปรโตคอลมาดริด

UPOV1991 เป็นกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พิธาตอบว่าหากไทยเข้าร่วมกับ CPTPP ไทยต้องปรับกฎหมายของตัวเองให้สอดคล้องกับกฎหมายของ CPTTP และตาม UPOV1991 ระบุชัดจะเก็บเมล็ดไว้เพื่อเพาะปลูกไว้เองไม่ได้สำหรับฤดูกาลถัดไป ไม่ต่างกับถูกขึ้นทะเบียนไว้แล้วและต้องคอยซื้อจากนายทุนตลอด ตรงข้ามกับจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชก่อนร่ายยาวชื่อสายพันธุ์ข้าว พิธา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศออกมาชี้แจงโดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ได้ และพันธุ์ป่าและพืชสมุนไพรได้รับการคุ้มครอง

อ้างอิงจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ SME ที่ทำการวิเคราะห์ UPOV1991 กล่าวว่า

UPOV 1991 คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ เป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านพืช มีความเกี่ยวข้องกับความตกลง CPTPP ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ด้วย

ข้อมูลจากงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ได้จัดทำผลการศึกษาแบบชี้ขาดไว้เมื่อปี 2548 ซึ่งได้เปิดเผยผลการศึกษาว่า  ประเทศผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้ายักษ์ใหญ่ต่างล็อบบี้เพื่อให้มีการพัฒนาเป็น UPOV 1991 จากของเดิมได้แก่ UPOV 1978 ซึ่งเป็นความตกลงคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีความเข้มงวดสูงที่สุด โดยพยายามชักจูงให้ประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญและเข้าเป็นภาคีโดยสมัครใจได้จำนวนถึง 31 ประเทศ เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกคือจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ แต่การถอนออกจากการเป็นสมาชิกทำได้ยาก และอาจมีผลทำให้ประเทศที่ต้องสูญเสียค่าชดเชยในภายหลัง

ที่สำคัญได้มีการขยายขอบเขตของสิทธิให้กว้างขึ้น โดยให้ "ผู้ปรับปรุงพันธุ์" มีสิทธิผูกขาดในการกีดกันผู้อื่นมิให้นำเอาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช เช่น เมล็ดพันธุ์ กิ่งตอน ไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์และในการเพาะปลูก รวมทั้งให้มีสิทธิผูกขาดในการส่งออก-นำเข้า หรือเก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช เพื่อจำหน่ายหรือเพาะปลูก

ข้อเสียของการเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 ทำให้เกิดข้อจำกัด ข้อยกเว้นของเกษตรกร (farmers privileges) ในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ หมายความว่า เกษตรกรไม่สามารถจะใช้วิธีการเพาะปลูกตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น การปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของไทยจะไม่ได้รับการคุ้มครอง ประเทศอื่นสามารถใช้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการนำไปพัฒนาพันธุ์ต่อยอดเพื่อให้เกิดพันธุ์ใหม่

หากพิจารณาประเทศที่เข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยสมัครใจส่วนใหญ่ พบว่าประเทศเหล่านี้มีพืชพันธุ์พื้นเมืองน้อย แต่โอกาสที่จะพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ มาก เพราะให้ความสำคัญกับการทำวิจัยมาก ขณะที่ไทยมีลักษณะตรงข้ามกับกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิก เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ดังนั้นผลการศึกษาของ TDRI ณ ขณะนั้นจึงระบุว่า "ไทยขาดความเหมาะสมที่จะเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยสิ้นเชิง"

ปัจจุบัน UPOV 1991 มีสมาชิกทั้งหมด 74 ประเทศ ในจำนวนนี้มี 28 ประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในอาเซียนมี 2 ประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ เวียดนามและสิงคโปร์ ขณะที่มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้แสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมอนุสัญญานี้ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้

พิธาย้ำชัดในรายการว่า ทุกอย่างเห็นสมควรต้องไปจบที่รัฐสภา แต่ทว่าในเวลานี้ที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลกำลังจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องมาดูกันว่าประเด็นข้อตกลงการค้าเสรี CPTTP นี้ ทิม พิธา จะยังคงยืนกรานเสียงแข็งในจุดเดิมต่อไปหรือไม่โดยเฉพาะหลังจากที่ CPTTP เนื้อหอมและมีทั้ง “อังกฤษ” ที่ทำ BREXIT และต้องการหาตลาดใหม่มาทดแทนและในอนาคต “จีน” ที่อาจกลายเป็นชาติสมาชิกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มร่วมอยู่

ซึ่งจากการที่มีมหาอำนาจเศรษฐกิจระดับโลกเข้าร่วมกลุ่มอยู่ อาจทำให้ไทย เองเสียเปรียบหากล่าช้าตามเพื่อนไม่ทันเพราะประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งเวียดนามที่กำลังมาแรง มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อนหน้า และจะสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของชาติสมาชิกชาติมหาอำนาจที่จะรวมไปถึง "อังกฤษ" และ "จีน" ได้อย่างกว้างขวาง








กำลังโหลดความคิดเห็น