xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเบลารุสเชื่อ ‘อาวุธนิวเคลียร์’ ที่รัสเซียส่งมาประจำการ 'คงไม่ต้องนำมาใช้จริง'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส หนึ่งในพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดของรัสเซียในสงครามยูเครน ออกมาแสดงความเชื่อมั่นวานนี้ (30 มิ.ย.) ว่าอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) ที่มอสโกส่งเข้าประจำการที่นั่น “คงจะไม่มีวันถูกนำมาใช้จริง”

ลูคาเชนโก และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ต่างยอมรับว่า อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของรัสเซียบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายเข้าประจำการในดินแดนของเบลารุสแล้ว และส่วนที่เหลือจะทยอยถูกส่งเข้าไปจนครบภายในสิ้นปีนี้

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติเบลารุส ลูคาเชนโก ชี้ว่าการนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาประจำการถือเป็น “ความริเริ่มที่แข็งแกร่งที่สุดของผม”

“และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า (อาวุธเหล่านี้) จำเป็นต้องถูกส่งมาประจำการที่นี่ ในเบลารุสซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความน่าเชื่อถือ” ลูคาเชนโก กล่าวต่อบรรดาผู้ฟังภายในหอประชุมขนาดใหญ่ ตามการถ่ายทอดสดจากสถานีโทรทัศน์ BelTA

“ผมมีความมั่นใจว่า เราจะไม่จำเป็นต้องนำอาวุธเหล่านี้ออกมาใช้ และจะไม่มีศัตรูหน้าไหนย่างกรายเข้ามาถึงดินแดนของเรา”

ทั้ง ลูคาเชนโก และ ปูติน ต่างกล่าวหาว่าชาติตะวันตกพยายามที่จะบ่อนทำลายรัฐของตนเอง และอ้างว่าการประจำการอาวุธนิวเคลียร์คือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยป้องปรามผู้รุกราน

ผู้นำเบลารุสเคยแถลงเมื่อเดือน มิ.ย.ว่า อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีบางส่วนเดินทางมาถึงเบลารุสแล้ว และตน “ไม่ลังเล” ที่จะใช้มันหากจำเป็น แต่ก็ยอมรับว่าจะต้องปรึกษาหารือกับฝ่ายรัสเซียด้วย

เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุวานนี้ (30 มิ.ย.) ว่าการส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีไปประจำการที่เบลารุสไม่ถือว่าละเมิดสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ปี 1968 เนื่องจากรัสเซียยังคงถือสิทธิในการควบคุมอาวุธทั้งหมดอยู่

เขายังกล่าวด้วยว่า รัสเซีย “ถูกบีบคั้น” ให้ต้องกระทำเช่นนี้

ลูคาเชนโก เคยอนุญาตให้ ปูติน ใช้ดินแดนเบลารุสในการบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 และสนับสนุนปฏิบัติการรุกรานของมอสโกอย่างเต็มที่ ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขายังรับบทเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยจนสามารถยุติการก่อกบฏทางอาวุธ (mutiny) ของกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ในรัสเซีย และเปิดทางให้ เยฟเกนี ปรีโกจิน (Yevgeny Prigozhin) กับนักรบบางส่วนเข้าไปลี้ภัยในเบลารุส

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น