เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่าอเมริกาแทรกแซงศึกเลือกตั้งของไทย ยืนกรานเมื่อวันอังคาร (27 มิ.ย.) วอชิงตันไม่ได้สนับสนุนผู้สมัครรายไหนหรือพรรคการเมืองใด
คำกล่าวหาสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม วนเวียนในวงกว้าง นับตั้งแต่พรรคก้าวไกล พรรคฝ่ายค้านโผล่ขึ้นมาในฐานะผู้ได้รับเสียงสนับสนุนสูงสุด และพรรคฝ่านค้านอีกพรรคมีคะแนนตามมาเป็นอันดับ 2 เพิ่มความเป็นไปได้ของรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่จะเข้ามายึดอำนาจไปจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
รายงานของเอพีระบุว่า พรรคก้าวไกลถูกมองว่ามีความโปรอเมริกามากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อดีตนายพลที่ก้าวเข้าสู่อำนาจจากการก่อรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน และคำกล่าวอ้างสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้งถูกมองอย่างกว้างขวางว่ามีบ่อเกิดจากบรรดาผู้สนับสนุนสถานภาพปัจจุบัน
มีผู้ประท้วงกลุ่มเล็กๆ รวมตัวกันหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน กล่าวหาวอชิงตันแทรกแซงกิจการการเมืองของไทย
อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่า ณ ที่ประชุมโต๊ะกลมกับบรรดาผู้สื่อข่าวไทย ทางเอกอัครราชทูต โรเบิร์ต โกเดค ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ที่ว่าสหรัฐฯ แทรกแซงการเลือกตั้ง "ด้วยที่ยังมีทฤษฎีสมคบคิดไม่หยุดและเป็นอันตราย ผมขอพูดอย่างชัดเจนเลยว่า เราขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อข่าวลืออันเป็นเท็จที่ว่าสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเลือกตั้งของไทย"
เอพีรายงานว่า พรรคก้าวไกล ลงนามในข้อตกลงร่วมกับพรรคอื่นๆ อีก 7 พรรคในเดือนกรกฎาคม ที่พวกเขาหวังว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล แต่บันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้พาดพิงถึงการแก้ไขกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ จุดยืนที่เรียกความไม่พอใจจากบรรดาคนไทยหัวอนุรักษนิยม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บ่งชี้ในวันอังคาร (27 มิ.ย.) ว่าเขายังไม่ละทิ้งความคิดปรับแก้กฎหมายหมิ่นสถาบัน อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำว่าการปรับแก้ไม่ใช่การยกเลิก และเขาบอกว่าจะธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป สำนักข่าวเอพีอ้างรายงานของสื่อมวลชนไทย
อย่างไรก็ตาม เอพีระบุว่ายังคงมีความไม่แน่นอนว่าพันธมิตร 8 พรรคจะสามารถก้าวเข้าสู่อำนาจได้หรือไม่ โดยแม้พวกเขาสามารถครองเสียงข้างมากอย่างแข็งแกร่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร กำหนดให้เลือกนายกรัฐมนตรี จากการลงมติร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลหลังรัฐประหาร
รายงานของเอพี อ้างคำกล่าวของ โกเดค เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับรัฐบาลปัจจุบันของไทยมาหลายปี และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางเยือนทำเนียบขาวเมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกับเหล่าผู้นำคนอื่นๆ ของอาเซียน พร้อมบอกว่าวอชิงตันจะเดินหน้าทำงานกับรัฐบาลไทย ไม่ว่าใครจะอยู่ในอำนาจก็ตาม
"สหรัฐฯ ไม่ได้ชอบผู้สมัครคนไทย เราไม่ได้ชื่นชอบพรรคการเมืองไหนในไทย" เขากล่าว "สิ่งที่เราทำคือสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย มีเพียงประชาชนคนไทยเท่านั้นที่เลือกรัฐบาล"
(ที่มา : เอพี)