(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Blinken’s trip hasn’t interrupted slide toward war
By WILLIAM H. OVERHOLT
ในคณะรัฐมนตรีของเขาเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและด้านยุโรป ทว่าไม่มีคนฝีมือดีทางด้านจีน นอกจากนั้น ไบเดนยังทอดทิ้งการสนทนาชนิดที่จัดทำกันเป็นสถาบันแล้วระหว่างสหรัฐฯ-จีนอีกด้วย โดยที่แค่การจัดทริปเดินทางไปเยือนช่วงสุดสัปดาห์จะไม่สามารถทดแทนชดเชยได้
ทริปเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เป็นเพียงแรงกระเพื่อมเล็กๆ และชั่วครู่ชั่วยามที่เกิดขึ้นบนกระแสคลื่นลมใหญ่ของการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจไม่ส่งเสริมสนับสนุนการสนทนา (อย่างเป็นทางการกับปักกิ่ง) หรือไม่แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าอกเข้าใจ (เรื่องจีน) เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบ มันยังคงไม่สามารถที่จะขัดขวางยับยั้งทิศทางแนวโน้มซึ่งมุ่งไปสู่สงครามได้
ภายใต้ประธานาธิบดีอเมริกันหลายๆ คนในช่วงหลังๆ มานี้ ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ ดับเบิลยู บุช บารัค โอบามา รวมทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยในส่วนหนึ่ง สหรัฐฯ กับจีนมีการทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างขนานใหญ่อยู่ในลักษณะสถาบันที่เป็นทางการขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการสนทนาทางเศรษฐกิจทางยุทธศาสตร์ (ในยุคของบุช) การสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (ในยุคของโอบามา) และการสนทนาทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน (ในยุคของทรัมป์) พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนหลายสิบคนได้พบปะเจรจากันอยู่เป็นประจำ
การสนทนาเหล่านี้ไม่สามารถที่จะคลี่คลายแก้ไขประเด็นปัญหาอันใหญ่โตอย่างเช่น ไต้หวัน หรือทรัพย์สินทางปัญญาได้ก็จริง ทว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายก็มีความเข้าอกเข้าใจกันและกันมากขึ้น และทำให้ความผิดแผกแตกต่างที่มีอยู่กลายเป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้
เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นาน สี จิ้นผิง มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรักษาการติดต่อสื่อสารกันให้เปิดกว้างไว้ต่อไป และทำให้ความสัมพันธ์อยู่ในลักษณะสร้างสรรค์ พวกนักวิชาการชาวจีนบอกว่า การที่ สี จัดการต้อนรับ ทรัมป์ ที่ไปเยือนปักกิ่งอย่างให้เกียรติงามสง่าเต็มที่มาก ถือเป็นการต้อนรับอย่างพิเศษเหนือกว่าการต้อนรับผู้นำอเมริกันที่เคยผ่านๆ มาทีเดียว
เฉกเช่นเดียวกับความสัมพันธ์อื่นๆ ทรัมป์ตอบสนองในเบื้องต้นด้วยการกล่าวสรรเสริญว่า “ประธานาธิบดีสี เป็นบุรุษที่ฉลาดปราดเปรื่อง ถ้าหากคุณเดินทางค้นหาทั่วทั้งฮอลลีวูด เพื่อดูว่าจะมีใครสักคนไหมที่สามารถแสดงบทเป็นประธานาธิบดีสีได้ คุณก็จะไม่พบใครสักคนหรอก ไม่มีคนอื่นอีกแล้วที่จะเหมือนกับเขา ทั้งรูปร่างหน้าตา มันสมอง ทุกสิ่งทุกอย่าง” เช่นเดียวกัน ณ เวทีประชุมหารือทางเศรษฐกิจโลกที่ ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2020 ทรัมป์กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่กับประเทศจีนในเวลานี้ บางทีในอดีตอาจจะไม่เคยมีที่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว ... เขาทำงานเพื่อประเทศจีน ผมก็ทำงานเพื่อสหรัฐฯ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วเราต่างก็มีความรักในกันและกัน”
ทว่าอารมณ์ความรู้สึกของ ทรัมป์ มีการเปลี่ยนแปลงไป การสนทนากันก็ขาดหาย และยิ่งมาถึง ไบเดน ด้วยแล้ว เขาเลือกที่จะละทิ้งการสนทนากันอย่างมีรูปแบบเป็นสถาบันไปอย่างถาวรทีเดียว ทริปการเดินทางเที่ยวนี้ของ บลิงเคน เป็นการถอยหลังกลับจากการตัดสินใจดังกล่าวนี้นิดๆ หน่อยๆ และเป็นการถอยหลังกลับนิดๆ หน่อยๆ จากความเย็นชาที่ บลิงเคน บรรจุเข้าไปอย่างตั้งอกตั้งใจ ณ การประชุมหารือครั้งแรกสุดของเขาในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ กับคณะผู้แทนฝ่ายจีน ที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา
ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นั้น มีประเพณีนิยมที่จะให้แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับคณะรัฐมนตรีของเขาบางคนเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในประเด็นปัญหาความมั่นคงแห่งชาติที่ทรงความสำคัญระดับเป็นตายที่สุดในเวลานั้น ดังจะเห็นได้ว่า ไม่มีประธานาธิบดีในยุคสงครามเย็นคนใดเลยที่จะไม่มีการนำเอาผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปในด้านนี้เข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งระดับสูง ดังในกรณีของ (เฮนรี) คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) (ซบิกนิว) เบรซินสกี (Zbigniew Brzezinski) (เบรนต์) สโคว์ครอฟต์ (Brent Scowcroft) และคนอื่นๆ
จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประสบความล้มเหลวทางด้านนโยบายการต่างประเทศในด้านต่างๆ จำนวนมาก ทว่าด้วยการนำทางของ แฮงค์ พอลเสน (Hank Paulsen) ที่กระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากซีไอเอที่มีความปราดเปรื่องมากอย่าง เดนนิส วิลเดอร์ (Dennis Wilder) ซึ่งมานั่งอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council หรือ NSC) เขาจึงสร้างความสมดุลระหว่างการที่เขาให้ความสนับสนุนแก่ความมั่นคงของไต้หวันอย่างแข็งขัน กับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงสำหรับข้อตกลงสันติภาพหลายฉบับที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1970 และลงเอยด้วยการที่ได้รับความยกย่องนับถือจากทั้งทางไทเป และทางปักกิ่ง
โอบามา คือผู้ที่ยุติประเพณีของการมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนมาดำรงตำแหน่งระดับคณะรัฐมนตรี ทรัมป์ก็เจริญรอยตาม ขณะที่ ไบเดน ต้องถือว่าโดดเด่นเตะตาเป็นพิเศษทีเดียวจากการประกาศว่าจีนคือภัยคุกคามทางด้านนโยบายการต่างประเทศขั้นสุดๆ ของอเมริกา ทว่ากลับไม่ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนมานั่งตำแหน่งระดับท็อปเลยสักคน ไม่ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของเขา ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ หรือผู้อำนวยการซีไอเอของเขา ล้วนผ่านการประกอบกิจการงานอาชีพแต่ในตะวันออกกลางและยุโรปทั้งสิ้น ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของเขาก็อยู่ที่ตะวันออกกลางมานาน
กระทั่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำจีนของไบเดน ยังเป็นเจ้าหน้าที่มืออาชีพที่ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ในตะวันออกกลางและยุโรป ส่วนซาร์ทางด้านเอเชียในสภาความมั่นคงแห่งชาติของเขาก็ไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรงกับจีน และสร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากการเรียกร้องให้เลิกราการมีปฏิสัมพันธ์กับจีน โดยอิงอาศัยความคิดยืนกรานแข็งกร้าวอย่างผิดๆ ที่ว่า การที่สหรัฐฯ มีปฏิสัมพันธ์กับจีนในอดีตที่ผ่านมา ก็เนื่องจากมีข้อสมมติฐานไว้ก่อนว่าการมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนี้จะทำให้จีนกลายเป็นประชาธิปไตยขึ้นมา
เจ้าหน้าที่เหล่านี้บางคน อย่างเช่น ผู้อำนวยการซีไอเอ วิลเลียม เจ เบิร์นส์ (William J Burns) เป็นบุคคลที่โดดเด่น และกำลังใช้ความเชี่ยวชาญด้านยุโรปของพวกเขาในการต่อต้านการก้าวร้าวรุกรานของรัสเซีย ทว่าเมื่อพินิจพิจารณาไปที่จีนแล้วมันยังไม่ใช่ ขอให้ลองจินตนาการว่า ซีอีโอของบริษัทอาหารรายยักษ์รายหนึ่งออกมาประกาศว่า ธุรกิจอาหารซีเรียลคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบริษัท ขณะเดียวกัน ก็เป็นภัยคุกคามจากต้องเผชิญการแข็งขันอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยเช่นกัน จากนั้นก็ออกมาประกาศว่า พวกตัวประธานที่ดูแลกิจการต่างๆ ในแผนกงานเกี่ยวกับอาหารซีเรียล ไม่ว่าจะเป็นแผนกซีเรียลอาหารเช้าแบรนด์ “วีตตีส์” (Wheaties) แผนกอาหารซีเรียลเน้นข้าวโอ๊ต แบรนด์ “เชียเรส” (Cheerios) แผนกข้าวโอ๊ต ตลอดจนแผนกอื่นๆ จะแต่งตั้งมาจากพวกผู้เชี่ยวชาญอาหารแฮมเบอร์เกอร์
ต่ำลงมาจากระดับผู้นำหน่วยงาน สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่านี้อีก พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรอง ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมพูดกันว่า มันกลายเป็นเรื่องยากลำบากไปเสียแล้วสำหรับใครก็ตามซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เรื่องจีน ที่จะสามารถผ่านการตรวจสอบยืนยันรับรองประวัติความเป็นมาในทางด้านความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ จนกระทั่งกลายเป็นว่าเวลานี้สหรัฐฯ กำลังทำให้ตนเองตามืดบอดไปบางส่วน พวกนักวิชาการและพวกผู้บริหารธุรกิจซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นตัวต่อเชื่อมระหว่างสองประเทศ เวลานี้ต่างกำลังอยู่ในอาการหวาดกลัว และจำนวนมากมายกำลังพิจารณาที่จะออกจากสหรัฐฯ ไปอยู่ที่จีน พวกศาสตราจารย์ชาวจีนที่ได้รับเชิญไปสอนไปวิจัยที่สหรัฐฯ บางคน รวมทั้ง 2 นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โปรอเมริกันมากที่สุด และคนหนึ่งที่ได้รับการเชื้อเชิญเป็นการส่รวนตัวจาก (อดีตประธานาธิบดี) จิมมี่ คาร์เตอร์ ต่างได้รับการปฏิบัติอย่างแย่มากๆ ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ
พูดโดยสรุป ไบเดน ยังคงรักษาจุดอ่อนของทรัมป์ในเรื่องการแยกขาดจากกัน ระหว่างสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางยุทธศาสตร์ กับทักษะความเป็นผู้นำเอาไว้ต่อไป แถมยังทำให้มันเลวร้ายลงไปอีก รวมทั้งการที่ ทรัมป์ รังเกียจดูหมิ่นผู้เชี่ยวชาญ และการที่ ทรัมป์ ยกเลิกการสนทนาที่ได้รับการยกระดับกลายเป็นสถาบันไปแล้ว (สำหรับกรณีของ ทรัมป์ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงท้ายๆ โดยที่กระทำเพียงบางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด และเป็นไปได้ว่าอาจตั้งใจทำเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น) ทั้งนี้ ไม่มีทริปเดินทางเยือนในช่วงสุดสัปดาห์ทริปไหนๆ หรอกที่จะสามารถปรับปรุงสภาพความเป็นจริงโดยพื้นฐานเหล่านี้ให้กระเตื้องดีขึ้นมาได้
ยิ่งเมื่อเราเน้นพิจารณาที่ผลต่อเนื่องซึ่งเกิดขึ้นมาด้วยแล้ว ก็ยิ่งมองเห็นความแตกต่างอย่างสำคัญยิ่งระหว่าง ทรัมป์ กับ ไบเดน ทรัมป์นั้นมักมองหาช่องทางทำดีลทำข้อตกลง (ถึงแม้จะเป็นดีลที่มาจากความเข้าใจอันผิดพลาดก็ตามที) สำหรับเขาแล้ว สงครามการค้าเกิดขึ้นจากความไม่เสมอภาคกันทางด้านการค้า และถ้าปักกิ่งตกลงใช้การปฏิบัติการเป็นพิเศษขึ้นมา สงครามการค้านี้ก็จะได้รับการผ่อนคลายตามส่วน แต่ ไบเดน ไม่เสนอการทำดีลใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่เพิ่มขยายยกระดับการแซงก์ชันให้หนักหน่วงขึ้นไปเรื่อยๆ
เมื่อคำนึงว่ามันมีหลักฐานปรากฏออกมาอย่างมากมายท่วมท้นแล้วว่า การขึ้นภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากจีน เป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่สหรัฐฯ มากกว่าจีน โดยเพิ่มราคาให้สูงขึ้นและทำให้สูญเสียตำแหน่งงานในสหรัฐฯ เป็นจำนวนหลายหมื่นตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ย่อมทึกทักว่าประธานาธิบดีไบเดนผู้ใช้คำขวัญในการรณรงค์หาเสียงว่า “นโยบายการต่างประเทศเพื่อชนชั้นกลาง” จะยกเลิกการขึ้นภาษีนี้โดยเร็ว ปรากฏว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative) ของ ไบเดน บอกว่า มีความจำเป็นต้องคงภาษีเหล่านี้เอาไว้ก่อน เพื่อ “เป็นแต้มต่อรอง” กับจีน ทว่าแน่นอนอยู่แล้วที่มันไม่ได้แต้มต่อรองอะไรหรอกจากพวกนโยบายที่สร้างความเสียหายให้แก่อเมริกามากกว่าจีนเหล่านี้
เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ วอชิงตันจึงดูเหมือนอยู่ในอาการไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยว่าโลกมีทัศนะความเห็นต่อนโยบายจีนของพวกเขาอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น บลิงเคน และ ไบเดน มักป่าวร้องความคิดเห็นในเวอร์ชันต่างๆ แต่ก็อยู่ในแบบที่ ไบเดน พูดเอาไว้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ว่า แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน เป็น “โครงการสร้างกับดักหนี้สินและมุ่งหมายที่จะเข้ายึดทรัพย์สินที่ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน” ทั้งนี้ ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีต่างประเทศในยุคทรัมป์ ก็พูดถึงแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในลักษณะเดียวกันนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-china-silkroad-usa-idUSKCN1SF0UY)
บรรดาผู้นำของโลกกำลังพัฒนา ผู้ซึ่งมองเห็นอยู่บ่อยๆ ถึงความแตกต่างระดับตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกันเลย ระหว่างข้อเสนอเพื่อการพัฒนาของจีน กับการที่สหรัฐฯ เอาแต่คอยเลกเชอร์สั่งสอน หรือมีแต่ทีมงานทหารหน่วยรบพิเศษปรากฏตัวให้เห็นอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจึงต่างทราบดีว่าคำพูดของ ไบเดน และบลิงเคน เช่นนี้ผิดพลาดไม่เป็นความจริงเลย ขณะเดียวกัน พวกผู้ชำนาญการเกี่ยวกับจีนทุกๆ คนก็ย่อมทราบดีถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ของจีนจำนวน 1,100 ราย ซึ่งพบว่าไม่มีแม้เพียงกรณีเดียวที่จีนใช้ปัญหาหนี้สินเพื่อเข้ายึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้ไม่รู้หรอกว่าเขากำลังพูดอะไรออกไป หรือว่าเขากำลังตั้งใจปล่อยข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จให้กระจายออกไปอย่างเป็นระบบกันแน่? แต่ไม่ว่าคำตอบจะออกมาในทางไหน พวกประเทศกำลังพัฒนาก็พากันปฏิเสธไม่เอาด้วยกับนโยบายสหรัฐฯ จำนวนมากอยู่ดี ตัวอย่างเช่น ประเทศเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวให้ความเชื่อถือในข้อโต้แย้งที่ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในทั้งยุโรปและในเอเชียมาจากความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะปิดล้อมและสั่นคลอนเสถียรภาพของพวกประเทศปรปักษ์ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าละตินอเมริกา แอฟริกา หรือตะวันออกกลาง ทั้งหมดต่างเข้าร่วมเห็นชอบกับความคิดเห็นของจีน ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการแซงก์ชันที่สหรัฐฯ ประกาศใช้กับรัสเซีย
ปัญหาที่ใหญ่มากๆ เรื่องหนึ่งคือเรื่องไต้หวัน เฮนรี คิสซินเจอร์ เตือนเอาไว้ว่า เวลานี้เรากำลังลื่นไถลเข้าสู่สงครามจากกรณีไต้หวัน คณะบริหารไบเดนนั้นปฏิเสธโดยสิ้นเชิงไม่ยอมรับวิธีการประนีประนอมเพื่อไปสู่สันติภาพ ซึ่ง คิสซิงเจอร์ และเบรซเซนสกี เคยเจรจาต่อรองจนประสบความสำเร็จมากมายมาแล้วในอดีต วอชิงตันนั้นได้ให้สัญญาแล้วที่จะละเว้นไม่สร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ตลอดจนไม่จับมือเป็นพันธมิตรกับไต้หวัน ทว่าตัวประธานาธิบดีไบเดน กลับให้คำมั่นมาแล้ว 4 ครั้ง 4 หนว่า เขาจะพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน ซึ่งนี่ก็คือการเข้าเป็นพันธมิตรกันนั่นเอง
แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) กล่าวเน้นย้ำว่า ทริปเดินทางไปเยือนไทเปของเธอเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งเวลานั้นเธอยังมีตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อยู่ คือทริปการเยือน “อย่างเป็นทางการ” ขณะที่ทางฝ่ายไต้หวันนั้น ในทันทีหลังจากที่ เพโลซี เข้าพบเจรจากับประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันแล้ว โฆษกของทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันก็แถลงออกทีวีแพร่ภาพไปทั่วทั้งเกาะโดยประกาศว่า “เราเป็นประเทศอธิปไตยและเป็นประเทศเอกราช”
ในยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ทั้งตัวประธานาธิบดี รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเขา ซึ่งไม่ได้เป็นพวกเสรีนิยมผู้รักใคร่ชื่นชอบหมีแพนด้าอย่างแน่นอน แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อการที่ฝ่ายไต้หวันยั่วยุจีนในระดับน้อยกว่านี้เสียอีก โดยนำสหรัฐฯ ถอยห่างออกมา และเตือนไทเปให้ยุติ ทว่าสำหรับยุคนี้ รัฐมนตรีบลิงเคน กลับยังคงแสดงความยินดีต้อนรับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการดังกล่าว และบอกกับฝ่ายจีนว่า ไม่ควรที่จะ “แสดงปฏิกิริยาอย่างเลยเถิดไป”
ปฏิกิริยาตอบโต้ของประชาชนผู้โกรธเกรี้ยวภายในจีน ต่อการที่ สี ล้มเหลวไม่ได้ตอบโต้แผนการริเริ่มของสหรัฐฯ เช่นนี้ด้วยความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาด คือความเสี่ยงประการหนึ่งที่อาจจุดชนวนโค่นล้ม สี จิ้นผิง ให้ตกลงจากอำนาจได้ทีเดียว และความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือสิ่งหนึ่งที่อาจจะกระตุ้นให้ สี เปิดการถล่มโจมตีไต้หวันโดยตรงขึ้นมาก็เป็นไปได้
ไบเดนไม่ได้มีที่ปรึกษาระดับอาวุโสใดๆ เลยที่มีความเข้าอกเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ขณะที่ บลิงเคน และซัลลิแวน กระทำการต่างๆ โดยขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามีความเชื่อในทางทฤษฎีอย่างไรเกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบโต้ที่คาดว่าจีนน่าจะแสดงออกมา แต่ไม่ใช่เพราะความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองจีนตามที่เป็นจริง
ถ้าหากเกิดสงครามขึ้นมา มันจะไม่ใช่การสู้รบขัดแย้งกันในขอบเขตจำกัดตามที่เกมสงครามสหรัฐฯ เล่นกันเท่านั้น จีนจะโจมตีเกาะโอกินาวาในทันทีหรือไม่ก็พ่ายแพ้ไป สหรัฐฯ จะโจมตีฐานทัพต่างๆ บนจีนแผ่นดินใหญ่ในทันทีหรือไม่ก็ต้องพ่ายแพ้ไป จีนจะตอบโต้เล่นงานสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นพวกนโยบาย MAGA (Make America Great Again) ของทรัมป์ นโยบาย MAGA-plus ของไบเดน หรือนโยบาย ultra-MAGA ของ ส.ส.ไมค์ แกลลาเกอร์ (Mike Gallagher) ต่างก็มีส่วนประกอบที่ร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ การปฏิเสธไม่ยอมรับคำมั่นสัญญาและบรรทัดฐานทางการปฏิบัติที่สหรัฐฯ ได้ประกาศยอมรับเอาไว้ เมื่อตอนที่ (ริชาร์ด) นิกสัน (จิมมี) คาร์เตอร์ เหมา (เจ๋อตง) และเติ้ง (เสี่ยวผิง) ตกลงประนีประนอมกันเพื่อกำจัดสิ่งที่เห็นกันว่าเป็นความเสี่ยงอันน่ากลัวอันตรายที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเนื่องจากไต้หวันขึ้นมา
(นโยบายของ ส.ส. แกลลาเกอร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/RepGallagher)
ข้ออ้างสำหรับใช้มาปกปิดอำพรางการปฏิเสธไม่ยอมรับดังกล่าวนี้ก็คือ การกล่าวโทษอย่างยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีวันจบวันสิ้นว่า จีนกำลังวางแผนการที่จะเข้ารุกรานไต้หวัน ซึ่งเป็นการกล่าวโทษยืนกรานที่ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ระบุว่าไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับ
ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งพวกซ้ายจัดและพวกขวาจัดในวอชิงตันต่างมักดูหมิ่นดูแคลนการประนีประนอมเรื่อยมา ขณะที่ฝ่ายกลางซึ่งเน้นผลในทางปฏิบัตินั้น เวลานี้ระเหิดระเหยหายสูญไปเสียแล้วสืบเนื่องจากเหตุผลต่างๆ ภายในประเทศ และตอนนี้มีแต่พวกคลั่งลัทธิอุดมการณ์ที่คิดว่าตนเองเท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูกต้อง เข้าครองรัฐสภาอเมริกันกันอยู่ ไม่มีทริปเดินทางไปเยี่ยมเยียนกันในช่วงสุดสัปดาห์ใดๆ ไม่มีม่านหมอกแห่งความงดงามทางการทูตใดๆ จะสามารถหยุดยั้งผลลัพธ์ของการเลี้ยวกลับไปสู่ความเสี่ยงแห่งสงครามในช่วงก่อนปี 1972 เช่นนี้ได้เลย
(อันที่จริงจีนก็มีการหันหัวเลี้ยวอย่างเป็นอันตรายในระดับทัดเทียมกัน โดยที่กระทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลภายในประเทศเช่นกัน ขณะที่เรื่องฮ่องกง ซินเจียง ตัวประกันชาวแคนาดา สงครามเศรษฐกิจกับออสเตรเลีย และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ก็ต้องถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ร้ายแรง ทว่าบทความชิ้นนี้มุ่งที่จะเขียนถึงสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คณะบริหารสหรัฐฯ ชุดก่อนๆ สามารถรับมือจัดการกับพวกประเด็นปัญหาขนาดกลางต่างๆ โดยปราศจากการลื่นไถลเข้าสู่สงครามแต่อย่างใด)
ไบเดน ได้รับเลือกตั้งจากพวกความคิดกลางๆ ที่เน้นดูที่ผลในทางปฏิบัติ ทว่าเขาไม่มีทีมงานด้านจีนใดๆ ไม่มีนโยบายว่าด้วยจีน ไม่มีวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ เขาควรที่จะรอบคอบระมัดระวังตัวให้มากโดยไม่เข้าไปแบกรับความเสี่ยงแม้กระทั่งเพียงน้อยนิด ที่จะทำให้ถูกประวัติศาสตร์จดจำเขาว่า เป็นคนแรกที่เลือกเดินหน้าเข้าสู่สงครามโลกแบบไม่ได้ตั้งใจ ทริปเดินทางเยือนประเทศอื่นๆ ช่วงสุดสัปดาห์ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนน้ำเสียงอะไรเล็กๆ น้อยๆ นั้นไม่สามารถที่จะแก้ไขรับมือกับปัญหานี้ได้
วิลเลียม เอช. โอเวอร์โฮลต์ เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ฮาร์วาร์ด เขาเขียนหนังสือเล่มแรก (เมื่อปี 1993) เพื่อเสนอเหตุผลรองรับข้อถกเถียงที่ว่า จีนจะกลายเป็นอภิมหาอำนาจรายหนึ่ง ขณะที่หนังสือเล่มซึ่งตีพิมพ์ในปี 2018 ของเขามุ่งที่จะบอกว่า จีนกำลังบ่ายหน้าสู่ยุคสมัยแห่งความเครียดเค้นทางการเงินและทางการเมือง รวมทั้งบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในปี 2023 นี้ ซึ่งระบุว่าจากเส้นทางโคจรของจีนในปัจจุบัน จีนจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ๆ ที่มีอัตราเติบโตเชื่องช้าที่สุด